YouTube อัปเดตนโยบายและเงื่อนไขในการสร้างรายได้บนคลิปวิดีโอสำหรับ YouTube Partner Program (YPP) ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม นี้ เพื่อจัดการกับวิดีโอที่ถูกผลิตหรือทำซ้ำจำนวนมาก (mass-produced and repetitive) โดยเฉพาะคลิปวิดีโอที่ทำจาก AI ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กันไปหมด

สำหรับการอัปเดตนโยบายในครั้งนี้ของ YouTube ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขครั้งใหญ่ แต่เป็นการเพิ่มรายละเอียดและแนวทางให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าคอนเทนต์แบบไหนที่สามารถสร้างรายได้ได้ และคอนเทนต์แบบไหนที่จะถูกตัดสิทธิ์
คุณ Rene Ritchie ผู้บริหารของ YouTube ชี้แจงว่าคลิปวิดีโอประเภท reaction หรือการนำคลิปจากแหล่งอื่นๆ มาใช้ในลักษณะที่สร้างสรรค์ มีการแสดงความคิดเห็นหรือแทรกเนื้อหาใหม่ลงไปด้วยจะไม่ถูกตัดออกจากการสร้างรายได้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ แต่คอนเทนต์หรือวิดีโอที่จะถูกตัดสิทธิ์คือ คอนเทนต์ที่คนดูส่วนใหญ่มองว่าเป็นสแปมหรือคอนเทนต์ที่ทำซ้ำ มีความคล้ายคลึงหรือเทมเพลตที่เหมือนกันจนเกินไป

โดยสิ่งที่ YouTube ต้องการจำกัดออกไปจริงๆ ก็คือคอนเทนต์ขยะที่ถูกทำขึ้นด้วย AI หรือสิ่งที่เรียกว่า AI Slop ซึ่งกำลังเห็นพบได้เป็นจำนวนมากอยู่บนแพลตฟอร์มในขณะนี้ โดยตัวอย่างที่เราจะสามารถเห็นได้บ่อยๆ ก็คือ
- วิดีโอที่ใช้เสียงพากย์จาก AI ประกอบกับรูปภาพหรือคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่ดึงมาจากที่อื่น
- วิดีโอข่าวปลอมที่ถูกสร้างด้วย AI เช่น ข่าวเกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้าที่ทำให้คู่รักชาวมาเลเซียเข้าใจผิด
- ซีรีส์สารคดีฆาตกรรมที่กลายเป็นไวรัลจากช่อง True Crime Case Files ที่ภายหลังพบว่าเนื้อหาและภาพรวมถึงเสียงในคลิปถูกสร้างจาก AI ทั้งหมด
หรือแม้กระทั่ง CEO ของ YouTube อย่างคุณ Neal Mohan ก็ยังเคยถูกนำใบหน้าไปใช้ในวิดีโอ Deepfake เพื่อหลอกลวง (Phishing Scam) บนแพลตฟอร์มของตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ YouTube ได้ออกมาอัปเดตและทำการวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้คอนเทนต์ที่สร้างจาก AI ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกแบนหรือปิดกั้นการสร้างได้ไปทั้งหมดนะครับ หากเป็นคลิปวิดีโอที่มีการใช้ Prompt ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่เองทั้งหมด และมีการนำฟุตเทจหรือวิดีโอที่ทำจาก AI มาใช้ในวิธีที่สร้างสรรค์ รูปแบบของคอนเทนต์ไม่ซ้ำซากหรือจำเจ ก็ยังเข้าข่ายที่สามารถสร้างรายได้ได้อยู่
ที่มา: TechCrunch
Comment