ZTE Axon 20 5G มือถือที่มาพร้อมคุณสมบัติเด่น “กล้องเซลฟี่ใต้หน้าจอ” เป็นรุ่นแรกของโลก ได้รับคะแนนรีวิวการถ่ายเซลฟี่จาก DXOMARK ไปที่ 26 แต้ม ในแง่การออกแบบและนวัตกรรมนั้นสอบผ่าน แต่คุณภาพยังต้องปรับปรุงอีกหลายอย่างหากจะเทียบกับกล้องเซลฟี่แบบธรรมดาได้

สเปคกล้องหน้า ZTE Axon 20 5G

  • ความละเอียด 32MP
  • รูรับแสง ƒ/2.0
  • ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 24 มม.
  • แฟลช LED ใต้หน้าจอ
  • ถ่ายวิดีโอสูงสุด 1080p ที่ 30 fps

ผลทดสอบการถ่ายภาพเซลฟี่และวิดีโอ

กล้องเซลฟี่ใต้หน้าจอของ ZTE Axon 5G มีความละเอียด 32MP รูรับแสง ƒ/2.0 ถ่ายวิดีโอสูงสุด 1080p ที่ 30 fps จากคะแนนรวม 26 แต้ม แบ่งเป็น ภาพนิ่ง 10 แต้ม และวิดีโอ 51 แต้ม ปัจจุบันรั้งอันดับ “รองบ๊วย” ในหมวดหมู่เซลฟี่เท่าที่ DXOMARK เคยทดสอบมา มีเพียง Intex Aqua Selfie แค่รุ่นเดียวเท่านั้นที่อยู่อันดับต่ำกว่า ด้วยคะแนน 22 แต้ม

แม้ว่า ZTE Axon 5G จะวัดแสงตัวแบบได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่มีปัญหาอย่างมากกับการเรนเดอร์สีสันที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ ไวต์บาลานซ์เพี้ยนอยู่บ่อยครั้ง ไดนามิกเรนจ์เองก็แคบอย่างเห็นได้ชัด รายละเอียดส่วนไฮไลต์มักจะล้นจนหลุดหายไป


ไดนามิกเรนจ์ไม่กว้างเท่าไหร่

ด้วยความที่เลนส์กล้องเป็นแบบฟิกซ์ ไม่มีออโต้โฟกัส จึงเหมาะกับการถ่ายเซลฟี่ในระยะใกล้ ๆ มากกว่า เพราะภากจะหลุดออกจากระยะชัดลึกที่ประมาณ 55 ซม. ขึ้นไป DXOMARK กล่าวว่า แม้จะเป็นระยะการถ่ายเซลฟี่ที่ดี แต่ก็ยังมีนอยส์เยอะอยู่ มากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาวะแสงน้อย และจะมีปัญหาเรื่องความเบลอทันทีเมื่อใช้งานร่วมกับไม้เซลฟี่ เพราะไกลจนออกนอกระยะโฟกัสแล้ว


สีเพี้ยน ปัญหาใหญ่ที่ต้องปรับปรุง

จากการทดสอบของ DXOMARK พบว่า หากหน้าจอส่วนที่อยู่เหนือกล้องมีการเปล่งแสงอยู่ กล้องเซลฟี่ใต้หน้าจอจะทำงานได้ด้อยประสิทธิภาพลงไปอีก แต่ ZTE ได้ออกแบบอินเทอร์เฟซของแอปกล้องมาเพื่อป้องกันปัญหานี้แล้ว จึงไม่โดนหักคะแนนในส่วนนี้


โหมดพอร์เทรต ยังละลายฉากหลังได้ไม่เนียน

DXOMARK กล่าวว่า ZTE Axon 20 5G ต้องลดทอนประสิทธิภาพกล้องเซลฟี่ลงอย่างหนัก เพื่อที่สามารถซ่อนเอาไว้ใต้หน้าจอได้ ถือเป็นนวัตกรรมและการออกแบบที่ดี ซึ่งถ้าใครที่ไม่ได้ใช้งานกล้องเซลฟี่ หรือใช้งาน แต่ไม่บ่อย สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ก็น่าสนใจไม่เบา เพราะฮาร์ดแวร์และฟีเจอร์อื่น ๆ เองก็ไม่เลวเลย แต่ถ้าใครซีเรียสเรื่องคุณภาพของรูปเซลฟี่และวิดีโอกล้องหน้า ให้พิจารณาเป็นตัวเลือกอื่นจะเข้าท่ากว่า

Play video

สรุปจุดเด่นและจุดสังเกต

จุดเด่น

  • การวัดแสงตัวแบบและการโฟกัส ทำงานได้เสถียร ไม่แกว่งไป-แกว่งมา

จุดสังเกต

  • เกิดอาการสีเพี้ยนในภาพ รวมถึงสกินโทนที่ไม่เป็นธรรมชาติด้วยเช่นกัน
  • มีนอยส์เยอะอย่างเห็นได้ชัด ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ
  • ไดนามิกเรนจ์ค่อนข้างจำกัด ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ
  • ปัญหาเหลือบสีที่ขอบวัตถุ และปัญหาแฟลร์สะท้อนเมื่อมีแสงมากระทบ
  • ระบบมักคำนวณความลึกผิดพลาด ในการถ่ายด้วยโหมดพอร์เทรต
  • ภาพขาดรายละเอียด ในการถ่ายด้วยโหมดพอร์เทรต
  • เกิดโกสต์ติงอย่างรุนแรง ในการถ่ายวิดีโอ
  • สีที่มีความใกล้เคียงกัน ถูกเรนเดอร์ผิดพลาดจนเกิดเป็นปื้น ๆ
  • ระบบกันสั่นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
  • การเข้ารหัสไฟล์วิดีโอ ทำได้ไม่ดีในสภาวะแสงน้อย

 

อ่านเพิ่มเติม : DXOMARK