Wongnai เว็บและแอพค้นหาร้านอร่อยสัญชาติไทย ที่วันนี้ได้กลายเป็นฐานข้อมูลร้านอาหาร ที่มีรายละเอียดของร้าน พร้อมรีวิวที่ใหญ่ที่สุดที่หนึ่งของประเทศไทยไปเรียบร้อย ด้วยจำนวนของร้านอาหารในระบบกว่า 180,000 ร้าน และรีวิวจากผู้ใช้จริงกว่า 350,000 รีวิว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราจะพาไปคุยกับคุณยอด ชินสุภัคกุล CEO ของแอพนี้ถึงความเป็นมา สิ่งที่พวกเค้าต้องเจอ และผ่านมันมาได้อย่างไรกันครับ

 

ยอด ชินสุภัคกุล, CEO แห่ง Wongnai

 

Wongnai เริ่มต้นขึ้นมาจากความชอบ ช่วยตอบโจทย์เรื่องการกินในทุกวัน

หลังจากที่จบการศึกษาต่อที่อเมริกาเมื่อ กรกฎาคม ปี 2010 คุณยอดก็มีไอเดียกับเพื่อนๆ อยากทำแอพคล้ายๆ yelp แอพรีวิวร้านอาหารที่ดังและใหญ่ที่สุดในอเมริกาแอพหนึ่งขึ้นมาบ้างในประเทศไทย โดยสาเหตุที่เลือกเรื่องอาหาร ก็มาจากความชอบของทุกคนในทีม เป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่ในชีวิตประจำวัน และในเวลานั้นสื่อต่างๆที่มีก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในการหาร้านอร่อย ครั้นจะถามเพื่อนที่รู้เรื่องบ่อยๆก็คงไม่ไหว จึงอยากที่จะทำแหล่งรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ โดยเริ่มจากเว็บไซต์ก่อนตอนกลางปี 2010 แล้วจึงเริ่มทำแอพขึ้นมาในปลายปีนั้นเอง

 

เคยเรียนอยู่ที่อเมริกา ดินแดนแห่ง Startup แต่เลือกที่จะกลับไทย

ยอดเล่าให้ฟังว่าตอนป.ตรี เรียนจบวิศวะคอมจุฬาฯ แล้วได้ไปศึกษาต่อ MBA ที่ UCLA ซึ่งหลังจากจบก็เคยทำ startup ที่นั่น และได้รับประสบการณ์ดีๆกลับมามากมาย จึงเลือกที่จะเดินทางนี้ต่อ แต่ตัดสินใจกลับมาเมืองไทยแทนที่จะอยู่ที่อเมริกา เพราะมองว่าตลาดที่ไทยน่าจะมีโอกาสดีกว่า มีเพื่อนๆ มีคอนเนคชั่นหาคนร่วมงานได้ง่ายกว่า และ Wongnai ก็ได้ผู้ก่อตั้งมาร่วมหัวจมท้ายครบ 4 คนที่เมืองไทยนี้เอง

 

หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องอึดและทน

ในช่วงแรกแต่ละคนก็มีงานประจำทำกัน แต่หลังจากที่ Wongnai ค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างกันมากขึ้นก็ค่อยๆทยอยออกมาทำกันเต็มตัว แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เว็บรวบรวมข้อมูลก็มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และตลาดสมาร์ทโฟนเมืองไทยก็ยังไม่เติบโตขนาดตอนนี้ ช่วง 2 ปีแรกที่ทำ (2010-2012) ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากพอสมควร เม็ดเงินด้านการโฆษณาก็ยังกระปริบกระปรอย กว่าจะมีคนเข้ามาโฆษณาด้วยก็ผ่านไป 2 ปีกว่า

 

คู่แข่งมากมาย แต่อย่าย่อท้อ จงมุ่งมั่นที่จะสำเร็จ

ถ้าใครยังจำได้ ในช่วงที่ Wongnai เกิดมาใหม่ๆ จะมีเว็บไซต์ที่ทำตลาดอยู่หลายเจ้า ทั้ง edtguide bkkmenu openrice หรือ foursquare ที่ตอนนั้นได้รับความนิยมมาก ซึ่งหลายๆคนเจอแบบนี้เข้าไปก็อาจจะมีท้อแท้ หรือล้มเลิกที่จะแข่งขันไป แต่ว่าทีม Wongnai ไม่ได้เป็นอย่างคนอื่น มุ่งมั่นที่จะเป็นเบอร์หนึ่งด้านข้อมูลร้านอาหารให้ได้ ไม่ว่อกแว่กทำหลายๆอย่างไปพร้อมกัน ถึงแม้จะมีบริษัทข้ามชาติที่ทุนหนา แต่คนที่มาบริหารไหนเลยจะมีกำลังใจเท่าเจ้าของธุรกิจลุยบู๊เองได้

 

และด้วยแผนธุรกิจที่จะบุกตลาดด้วยการโฟกัสที่ Mobile Apps เป็นหลัก เพราะมันตอบโจทย์การใช้งานมากกว่าด้วยการหาร้านได้ทุกที่ทุกเวลา และเน้นหนักไปที่ด้านอาหารเพียงอย่างเดียว ไม่เขวไปทำแบบหว่านแห ประกอบกับการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่เกิน 100% ทุกปีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ Wongnai สร้างจุดขายต่างที่ชัดเจนจนผู้ใช้เริ่มรู้จักกัน

 

เติบโตอย่างก้าวกระโดด

Wongnai เปิดให้บริการด้านข้อมูลร้านอาหารมาเรื่อยๆ จนปี 2012 ตอนที่ Wongnai มีสมาชิกอยู่ราวๆ 30,000 คน ก็มีนักลงทุน (Investor) มาคุยและได้ให้ความสนใจที่จะร่วมทำธุรกิจด้วย จนสามารถจ้างคนมาทำงานเพิ่มได้ และเริ่มทำ Marketing ให้แอพเป็นที่รู้จัก

ในปี 2013 Wongnai ก็ได้ raise fund ได้ระดับ Series A สร้างสีสันให้กับวงการ Startup เมืองไทยไม่น้อย และจากเงินก้อนนี้เองก็ทำให้ Wongnai ขยับขยายต่อ และผู้คนเริ่มเลือกใช้ Wongnai ในการหาร้านอาหารอร่อยๆรับประทานกันในวงกว้าง

และเมื่อปีที่แล้ว 2014 ก็ได้ raise fund อีกรอบกับกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น Recruit Group เจ้าของ Hot Pepper และขยายกิจการเพิ่มเติม จากการรวบรวมเพียงร้านอาหาร ไปสู่ตลาดเพื่อความสวยความงาม โดยออกแอพที่ชื่อ Wongnai Beauty ขึ้นมา และได้รับการตอบรับอย่างดีจากทางคนอ่านและร้านค้าคลินิก เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็มีการติดต่อเข้ามาลงโฆษณามากมาย

 

การทำการตลาดให้แอพ จำเป็นมากต่อการเติบโตระดับแมส

ถ้าแอพคุณไม่ได้สุดยอดขนาดที่เป็นไวรัลคนโหลดไปใช้งานหลักแสนหลักล้านได้ภายในไม่กี่วัน การตลาดก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโต โดยการตลาดของแอพเพื่อสร้างการรับรู้ (Awareness) นี้ทำได้หลายทาง ทั้ง Sponsorship, Online Marketing หรือ Search Engine Marketing ซึ่งต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีๆ ใช้ทุกบาททุกสตางค์อย่างมีค่า และสามารถวัดผลได้ชัดเจน ถ้าในทีมไม่มีหัวด้านนี้เลยก็ควรจะต้องหาคนเข้ามาเสริม และควรต้องเข้าใจว่าการตลาดไม่ใช่เพียงแค่โฆษณา ลงแบนเนอร์ปังเดียวจบ แต่ต้องคิดแบบรอบด้าน มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ วัดผลได้ ใช้ทุกเม็ดเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนนึงที่ Wongnai ประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้ก็เกิดจากการตลาดนี้เอง

ตัวอย่างกิจกรรมการตลาดของทาง Wongnai

 

เริ่มดัง ก็เริ่มมีคนมาหาผลประโยชน์ (แบบฟรีๆ)

หลังจากที่ Wongnai เริ่มเป็นที่รู้จัก และทำให้หลายๆร้านมีลูกค้าเข้ามากขึ้น ก็เริ่มเป็นที่สนใจของร้านอาหารอยากที่จะทำการตลาดผ่านแอพ Wongnai บ้าง แต่ใช่ว่าทุกเจ้าจะยอมควักเงินออกจากกระเป๋า ในบางครั้งเราอาจจะได้เห็นร้านที่มีคำชมมากมาย แต่ไปกินจริงๆกลับไม่อร่อยตามคำโม้ เพราะรีวิวที่เขียนเอาไว้เป็นเพื่อนๆของเจ้าของร้านระดมมาช่วยกันสแปมและบิดเบือนความจริง แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับ Wongnai มากนัก เพราะว่าตัวแอพก็มีการสร้าง Algorithm เพื่อตรวจสอบคุณภาพของรีวิวอยู่ มีการให้ Trust Score แก่นักรีวิว ถ้าเคยรีวิวมาเยอะแล้วก็จะมีคะแนนมาก โดนเกณฑ์เข้ามาแสปมรีวิวเป็นครั้งแรกก็จะมีตัวคูณน้อยหน่อย ฉะนั้นถ้าอยากเลือกร้านดีๆมีคุณภาพใน Wongnai ให้ดูจากจำนวนรีวิวของร้านนั้นๆ ยิ่งเยอะยิ่งน่าสนใจ

 

ซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญ รับรีวิวไม่ได้ก็ขอเชิญออก

แม้ว่า Wongnai จะเริ่มต้นมาด้วยการมี Yelp เป็นต้นแบบ แต่ว่าก็ไม่ได้เอาเรื่องของการข่มขู่เรียกเงินจากร้านอาหาร หรือจ่ายเงินเพื่อปรับคะแนนรีวิวมารวมอยู่ในการทำธุรกิจด้วย มีร้านที่เกิดและดังมากมายจาก Wongnai แต่ก็มีไม่น้อยที่ดับและคนไม่เข้าร้านเพราะอ่านจาก Wongnai เช่นกัน โดยเมื่อร้านอาหารนั้นๆรู้ตัวเมื่อไหร่ก็มักจะติดต่อมายัง Wongnai เพื่อหาทางแก้ปัญหา ซึ่งทางทีมงานก็มีทางเลือกให้สองทางคือ ยอมรับและปรับปรุงตัว (ไม่ยอมลบเฉพาะข้อเสียออกให้) หรือให้ทางทีมงานเอาชื่อของร้านออกจากระบบไปเลย

 

อนาคตของ Wongnai จะไปทางไหน

ปัจจุบัน Wongnai มีร้านในระบบรวมกว่า 180,000 ร้านจากทั่วประเทศ แต่ว่าผู้ใช้หลักๆยังคงเป็นคนจากกรุงเทพฯราว 60% สิ่งที่ทีมงานมองคือการเจาะตลาดไปต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีการไปเปิดสาขาที่เชียงใหม่ และได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี เล็งขยายไปยังจังหวัดอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น พัทยา หรือภูเก็ต

“จากวันนั้นถึงวันนี้ ทีมงานพา Wongnai เดินมาแล้วราวๆครึ่งทาง และยังมีอะไรให้ทำต่อกันอีกมาก”

ปัจจุบันมีคนใช้แอพจาก iOS เป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 จากผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งผู้ใช้จากฝั่ง Android ก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาฟีเจอร์ให้กับทั้ง 2 OS เท่ากัน แต่บางครั้งที่เห็นว่ามีความแตกต่างขึ้นกับ Resource ของบริษัทในขณะนั้นเลยว่าทีมนักพัฒนาของสายไหนมีมากกว่ากัน

บรรยากาศการทำงานแบบสบายๆของออฟฟิศ Wongnai ที่ตั้งอยู่ในซอยทองหล่อ เดินทางสะดวก 

“ปัจจุบันทีม Dev ของ Wongnai มีอยู่ 10 คน ดูแลทั้ง Wongnai และ Wongnai Beauty ซึ่งตอนนี้ก็เปิดรับสมัครคนเพิ่มอยู่”

สำหรับนักพัฒนาสาย Android Developer, Java Developer, และเว็บดีไซน์เนอร์คนไหน อ่านแล้วอยากร่วมเข้าไปรวบรวมข้อมูลร้านอาหารสุดเด็ด และร้านเสริมสวยสุดฮอตแล้ว ลองติดต่อเข้าไปที่บริษัทดูกันได้เลยนะ อนาคตสดใสจ้าาาา

http://www.wongnai.com/contact 

 

Droidsans ก็ขอยินดีกับความสำเร็จของทีมงาน Wongnai ที่นำพาแอพออกเรือฝ่าพายุมาได้ไกลถึงขนาดนี้ และสำหรับ Startup เจ้าใดต้องการให้เราช่วยประชาสัมพันธ์สามารถติดต่อมาเพื่อแนะนำแอพของตนกับ Droidsans ได้นะ เรายินดีสนับสนุนเต็มที่แบบไม่มีค่าใช้จ่ายเลยครับ 😀