เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วกับระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ Android 10 Q (ยังไม่มีชื่อเต็มนะ) ภายในงาน Google I/O 2019 ซึ่งตอนนี้ก็นับเป็น Beta 3 แล้ว และเริ่มมีการเปิดเผยฟีเจอร์ใหม่ๆ ใส่มาให้ด้วยเยอะแยะเลย ส่วนจะมีฟีเจอร์อะไรน่าสนใจบ้างนั้นลองมาดูกันเลย
เพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
ในการอัพเดทเป็น Android Q มือถือของเราจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ด้วยการเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการเก็บข้อมูลของแต่ละแอปในมือถือ ตัวอย่างเช่นเราสามารถตั้งค่าให้แอปเข้าถึงตำแหน่งของมือถือได้เฉพาะเวลาที่เปิดใช้งานเท่านั้น, เข้าถึงได้ตลอดเวลา หรือจะไม่ให้เข้าถึงเลยก็ได้
ยังมีการจำกัดให้แต่ละแอปสามารถเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงการตั้งค่าไม่ให้แอปทำงานเบื้องหลังได้อีกด้วย
รองรับการใช้งานมือถือจอพับได้
ในปีนี้เราเริ่มได้เห็นมือถือจอพับได้แบบตัวเป็นๆ กันแล้วถึง 2 รุ่น (Galaxy Fold, Mate X) รวมถึงรุ่นอื่นๆ ที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาอีกด้วย และแน่นอนว่าในอีกปีหรือ 2 ปี ข้างหน้า เราจะได้เห็นมือถือจอพับมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Android Q ก็พร้อมรองรับการใช้งานกับมือถือประเภทนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น UI ที่รองรับการใช้งานทั้งตอนพับและกางจอ รวมถึงการใช้งานแอปที่เปลี่ยนการแสดงผลจากหน้าจอเล็กๆ ตอนพับไปเป็นหน้าจอใหญ่เมื่อกางออกได้แบบลื่นไหลไม่ติดขัด
รองรับการใช้งาน 5G
ในปี 2019 นี้ บางประเทศเริ่มมีระบบ 5G ให้ใช้กันแล้ว ซึ่งมือถือที่ใช้ระบบ Android Q ก็จะรองรับการใช้งานเครือข่าย 5G สุดแรงได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการปรับแต่งให้แอปและเกมทั้งหลายสามารถใช้งานร่วมกับเครือข่าย 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
Live Caption
ฟีเจอร์สารพัดประโยชน์ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้บกพร่องทางการพูดและฟังทำได้เหมือนคนปกติ ด้วยระบบ AI สุดอัจฉริยะ ที่สามารถแปลงคำพูดจาก Video, เพลง, Podcast, เสียงสนทนาทางโทรศัพท์, เสียงจากการฝากข้อความ จากทุกแอปให้กลายเป็นตัวอักษรได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
Dark Theme
รอคอยกันมานานแสนนาน สำหรับ Dark Theme ที่จะเปลี่ยนสีต่างๆ บนหน้าจอให้มืดลงหรือเปลี่ยนพื้นที่บนหน้าจอส่วนมากให้กลายเป็นสีดำไปเลย โดย Dark Mode นี้ นอกจากจะช่วยให้การแสดงผลของหน้าจอมีความสบายตามากขึ้นแล้ว มันยังช่วยให้เหล่ามือถือที่มีหน้าจอแบบ OLED ประหยัดแบตเตอรี่ได้มากกว่าเดิม เนื่องจากเม็ดพิกเซลตรงส่วนที่เป็นสีดำจะดับไปเลย หมายความว่าตรงส่วนนั้นก็จะไม่ใช้พลังงานเลยนั่นเอง
และถึงแม้ว่าบางแอปจะไม่มี Dark Mode ให้เลือก แต่ใน Android Q เราจะสามารถบังคับให้แอปต่างๆ เปลี่ยนไปใช้ Dark Theme ได้ด้วยฟีเจอร์ Force Dark ด้วยนะ
เลือกได้ว่าจะใช้ Navigation Bar หรือจะใช้ Gesture
แถบ Navigation Bar (ปุ่ม Recent Apps, Home, Back) ที่ทุกคนคุ้นเคย ตอนนี้จะเลือกได้แล้วว่าอยากจะใช้แบบเดิมหรืออยากจะตัดแถบนั้นออกไปเพื่อการแสดงผลที่เต็มจอไม่มีแถบปุ่มให้เกะกะ แต่จะหันมาใช้วิธีไถหน้าจอแทน โดยการไถนิ้วขึ้นจากด้านล่างหน้าจอจะแทนปุ่ม Home, แตะหน้าจอค้างจะแทนปุ่ม Recent Apps และการปัดนิ้วจากขอบจอทางซ้ายหรือขวาจะแทนปุ่ม Back
Focus Mode ตัดสิ่งรบกวนจากแอปที่ต้องการ
เวลาที่เรากำลังต้องการสมาธิเพื่อตั้งใจอ่านหนังสือ, ดูหนัง, ทำงาน ฯลฯ เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้แอปไหนเข้าสู่ Focus Mode เพื่อหยุดการแจ้งเตือนจากแอปดังกล่าวได้เลย โดยฟีเจอร์นี้จะมีให้ใช้ทั้งใน Android P และ Q ภายในช่วงเดือนกันยายนนี้
Family Link เชื่อมต่อมือถือของคนในครอบครัว
ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้เหล่าผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้งานมือถือของลูกๆ ได้มากขึ้น โดยมือถือที่ตั้งเป็นเครื่องลูกจะสามารถตั้งเวลาในการใช้งานของแต่ละวันได้, สอดส่องได้ว่าเครื่องลูกกำลังจะติดตั้งแอปอะไรบ้าง หรือแม้แต่ตั้งเวลาให้มือถือเครื่องลูกหยุดการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อเตรียมตัวเข้านอน นอกจากนี้ยังสามารถตั้งเวลาการใช้แอปในแต่ละวันได้อีก โดยฟีเจอร์ Family Link จะมีให้ใช้ทั้งใน Android P และ Q ภายในช่วงเดือนกันยายนนี้
ระบบตรวจสอบอุณหภูมิเครื่อง
เวลาที่เราเล่นเกมหนักๆ แล้วเครื่องมีความร้อนสูงขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ระบบจะลดประสิทธิภาพการทำงานของ CPU และ GPU ลง ทำให้เกมที่เรากำลังเล่นอยู่เกิดอาการหน่วง และกระตุก แต่ใน Android Q ทั้งแอปและเกมจะใช้ Thermal API ในการสอดส่องอุณหภูมิของเครื่องที่เปลี่ยนไป และเมื่อพบว่าอุณหภูมิเครื่องสูงขึ้นมันก็จะไปลดเฟรมเรทหรือความละเอียดภาพของเกมลงมาจนกว่าอุณหภูมิเครื่องจะลดลงมาเป็นปกติ
Dynamic Depth ระบบตรวจจับความลึกพื้นหลังสำหรับภาพหน้าชัดหลังเบลอ
Android Q จะรองรับไฟล์ภาพแบบพิเศษที่มีข้อมูลความลึกของพื้นหลัง เพื่อให้สามารถปรับแต่งเอฟเฟ็คท์ความเบลอพื้นหลังได้เป็นธรรมชาติกว่าเดิม นอกจากนี้ไฟล์ภาพพิเศษดังกล่าวยังสามารถเอาไปใช้สร้างภาพแบบ 3 มิติ หรือจะเอาไปใช้กับเทคโนโลยี AR ได้อีกด้วย โดยตอนนี้ทาง Google ได้เริ่มเข้าไปคุยกับผู้ผลิตมือถือแบรนด์ต่างๆ ให้พัฒนามือถือรุ่นใหม่ที่รองรับฟีเจอร์นี้ออกมาสู่ตลาดมากขึ้นด้วย
Smart Reply ตอบข้อความได้ตรงกับเรื่องที่คุย ด้วยตัวเลือกอัตโนมัติ
ฟีเจอร์ Smart Reply ที่จะมากับ Android Q เป็นฟีเจอร์ที่เหมาะสุดๆ กับขาแชทแต่ดันขี้เกียจพิมพ์ตอบเอง เพราะ Smart Reply จะทำงานเมื่อเรากำลังใช้แอปแชทอย่างเช่น Message (ที่ติดมากับเครื่อง), Facebook Messenger, WhatsApp ฯลฯ สมมุติว่าเพื่อนเราแชทมาถามว่ากำลังจะเดินทางไปเที่ยวที่สยาม จะไปด้วยกันมั้ย? บนหน้าจอของเราก็จะมีตัวเลือกให้กดตอบได้ทันทีว่า ไป, ไม่ไป, อาจจะ อะไรประมาณนี้ หรือถ้าเพื่อนส่งข้อความเป็นสถานที่มาบอก ก็จะมีตัวเลือกขึ้นมาว่าต้องการให้นำทางไปเลยรึเปล่า (Maps)
นอกจากนี้เรายังไม่ต้องห่วงในเรื่องความเป็นส่วนตัวอีกด้วย เพราะ Smart Reply จะประมวลผลคำตอบต่างๆ อยู่ภายในมือถือของเราเอง ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับ Server ของ Google เลย
และนั่นคือฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้งานอยางเราๆ ที่จะได้ใช้กันแน่นอนเมื่อได้รับการอัพเดทเป็น Android Q กันแล้วนะครับ โดยกลุ่มมือถือแรกๆ นอกจาก Pixel ที่จะได้ลองใช้ Android Q Beta 3 มีด้วยกันทั้งหมด 15 รุ่น ได้แก่ Asus ZenFone 5Z, Essential PH-1, Nokia 8.1, Huawei Mate 20 Pro, LG G8 ThinQ, OnePlus 6T, Oppo Reno, Realme 3 Pro, Xperia XZ3, Tecno Spark 3Pro, Vivo X27, Vivo NEX S, Vivo NEX A, Xiaomi Mi Mix 3 5G และ Xiaomi Mi 9.. ใครที่ใช้มือถือพวกนี้ก็เตรียมทดลองฟีเจอร์ใหม่ๆ กันได้เลย
ที่มา : Developer.Android
SS ไม่อยู่ในกลุ่มแรกซักรุ่นเลย…
เอ๋ แล้ว samsung หายไปไหนหว่า ๆๆ 🙂 🙂
นึกว่า access location while using app มีนานแล้วซะอีก
A39ใช้หน่อยยย