กล้องขนาดใหญ่มหึมาความละเอียด 3,200MP ที่ประกอบกันมานานกว่า 7 ปีใกล้จะสร้างเสร็จแล้ว ที่ทำมาใหญ่เบิ้มขนาดนี้ก็ไม่ได้เอาไว้ถ่ายหมาถ่ายแมวที่ไหน แต่จะเอาไว้ส่องฟ้องฟ้าท่องทะยานในอวกาศ สำรวจหมู่ดวงดาวและกาแล็กซี่ มาสนองความอยากรู้ของมนุษยชาติว่าข้างบนนั้นมันมีอะไรกันนะ
กล้อง LSST (Legacy Survey of Space and Time) มีขนาดใหญ่เท่ากับรถคันเล็ก ๆ คันนึงได้เลย มีเลนส์กว้างราว 1.5 เมตร ความละเอียดสูงถึง 3,200MP ซึ่งตัวเซนเซอร์จำเป็นต้องถูกแช่เย็น -100 องศาเซลเซียสเพื่อลด Noise ในภาพที่ถ่ายออกมา ทั้งหมดแล้วกล้องนี้มีน้ำหนักถึง 3000 กิโลกรัม
กล้องตัวนี้ถูกสร้างมาไม่ได้เอาไว้ใส่ในมือถือรุ่นไหน แต่จะเอาไปวางไว้ที่หอดูดาว Vera C. Rubin Observatory ในประเทศชิลี เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับท้องฟ้า อวกาศ และดวงดาว และอาจช่วยแก้ไขปริศนาค้างคาใจมนุษยชาติอย่างเรื่อง dark energy และ Dark Matter ได้ซะที
ส่วนขนาดที่ใหญ่ก็ไม่ได้ใหญ่ไว้โชว์เฉย ๆ แต่กล้อง LSST ยังมีความสามารถมองเห็นช่วงแสงอัลตราไวโอเลต จนเกือบถึงช่วงแสงอินฟาเรดได้ด้วย ส่วนระนาบโฟกัสขนาด 64 เซนติเมตรก็สามารถจับขอบเขตภาพกว้าง 3.5 องศา ทำให้สามารถถ่ายภาพได้เทียบกับ 40 เท่าของพื้นที่บนดวงจันทร์
ส่วนเลนส์จากข้อมูลระบุว่ามีความกว้าง 1.57 เมตร ซึ่ง Guinness World Records ได้บันทึกสถิติไว้ว่าเป็นเลนส์ที่กว้างที่สุดในโลก เมื่อถ่ายออกมาจะได้ภาพคืนละ 15TB ซึ่งเค้าคำนวนไว้ว่าในการเก็บข้อมูลรอบ 10 ปี จะได้สำรวจดวงดาวและกาแล็กซี่ต่าง ๆ กว่า 37,000,000,000 (สามหมื่นเจ็ดพันล้าน) ดวง
กล้องดังกล่าวถูกประกอบขึ้นมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ในแถบเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และตามเป้าที่ตั้งไว้คือจะย้ายไปตั้งที่ประเทศชิลิในช่วงพฤษภาคม ปี 2023 และจะพร้อมถ่ายรูปครั้งแรกในปี 2024 ครับ
ที่มา : petapixel
เพิ่งเคยได้ยิน แช่แข็งเลนส์เพื่อลดนอยส์ ทั้งที่มันควรแช่แข็งเซ็นเซอร์รับภาพมากกว่าเพราะนั่นแหละตัวนอยส์
ต้องแช่เซนเซอร์ครับ ขอบคุณที่ทักท้วงครับ