ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5, 6 ของใครหลายคนไปแล้ว เรียกได้ว่าขาดเน็ตแทบขาดใจ ซึ่งในตอนที่เราอยู่บ้านอินเทอร์เน็ตที่เราใช้มักจะเป็น Wi-Fi กันอยู่แล้ว แต่เรามักจะเจอปัญหาสัญญาณไม่ทั่วถึงบ้าง สัญญาณอ่อนบ้าง ทำให้บางทีเราเล่นเน็ตได้ไม่ราบรื่นเท่าไหร่ วันนี้ทางทีมงานมี Mesh Wi-Fi ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้มาฝากกัน บอกเลยว่าติดตั้งง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน และช่วยแก้ปัญหาเน็ตช้าได้อย่างตรงจุดด้วย
Mesh Wi-Fi คืออะไร
Mesh Wi-Fi คือระบบกระจายสัญญาณ Wi-Fi รูปแบบหนึ่งที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาของ Repeater และการติดตั้ง Access Point แบบเดิม ๆ เพราะติดตั้งง่ายแบบ Repeater แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Access Point สามารถบริหารจัดการได้ในที่เดียว ไม่ต้องมีชื่อ Wi-Fi หลายชื่อ ไม่ต้องคอยสลับ Wi-Fi ไปมา เดินไปที่ไหนของบ้านก็ได้ระบบจะคอยสลับสัญญาณให้โดยอัตโนมัติ เสมือนว่ามี Wi-Fi แค่ตัวเดียวทั้งบ้าน
หลักการทำงานของ Mesh Wi-Fi
ในภาพรวมจะคล้ายกับ Repeater คืออุปกรณ์จะทวนสัญญาณที่ต้นทางส่งมา แล้วส่งให้ปลายทาง เช่นโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเราต้องมีเราท์เตอร์จำนวน 2 ตัวขึ้นไปถึงจะเรียกว่า Mesh Wi-Fi จากนั้นเราต้องทำให้เราท์เตอร์ 2 ตัวนี้รู้จักกัน และหลังจากนั้นให้นำไปติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน ระบบจะทำการรับสัญญาณ และเชื่อมต่อกันเองแบบอัตโนมัติ
ข้อดี
- ติดตั้งง่ายไม่ต้องเดินสายแลน
- เน็ตแรงทั่วบ้าน
- ดีไซน์สวย
- บริหารจัดการง่ายผ่านแอปในมือถือ
ข้อสังเกต
- ราคาต่อตัวค่อนข้างสูง
- ข้อจำกัดของรุ่นราคาถูกมีเยอะ
- Latency ในระบบค่อนข้างสูง ไม่เหมาะสำหรับการเล่นเกมจริงจัง
- Node ที่อยู่ไกลจาก Node หลักมาก ๆ ความเร็วจะลดลง เพราะต้องวิ่งผ่านหลาย Node
วิธีเลือกซื้อ Mesh Wi-Fi
1. งบประมาณ
สิ่งแรกที่ต้องดูเลยคือเรื่องของงบประมาณ เพราะ Mesh Wi-Fi ชุดหนึ่งมีราคาสูงพอสมควร ถ้าเทียบกับเราท์เตอร์แบบปกติ เนื่องจากในหนึ่งชุดมีอุปกรณ์หลายตัว เริ่มต้นก็ 2 ตัวแล้ว จึงเหมือนเป็นการคูณสองคูณสามของค่าใช้จ่ายก็ว่าได้
แต่ก็ไม่ควรตั้งงบไว้ต่ำจนเกินไป เพราะจะทำให้เหลือรุ่นน้อยลง หรือเหลือเฉพาะรุ่นเริ่มต้น ทำให้เราได้ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก หรือได้จำนวน Node ที่น้อยลง สัญญาณไม่ครอบคลุมทั่วทั้งบ้านอีก
เริ่มต้นควรอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท สำหรับชุด Mesh Wi-Fi 2 ตัว หรือหารตกตัวละ 2,500 บาท ส่วนถ้าอยากได้ประสบการณ์การใช้งานที่เต็มประสิทธิภาพควรอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาทขึ้นไป สำหรับ Mesh Wi-Fi 2 ตัว ทั้งนี้ราคาที่เราแนะนำไปยังไม่รวมส่วนลด โปรโมชั่นของแต่ละร้านค้านะ
2. สเปค / เทคโนโลยี
ปัจจุบันในปี 2024 เรียกได้ว่าเป็นปีที่ Wi-Fi 6 เข้ามาแทนที่ Wi-Fi 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นขั้นต่ำของการเลือกซื้อ Mesh Wi-Fi ควรที่จะต้องเลือกที่รองรับมาตรฐาน Wi-Fi 6 ขึ้นไป เพราะจะได้เทคโนโลยีอย่าง OFDMA และ MU-MIMO ที่จะช่วยให้การรับส่งข้อมูลพร้อมกันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า Wi-Fi 5 ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นเลย
อีกอย่างที่ต้องเลือก Wi-Fi 6 คืออุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ ๆ ที่ออกในปี 2023 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็รองรับมาตรฐาน Wi-Fi 6 กันหมดแล้วด้วย ดังนั้นเราก็ควรหาอุปกรณ์กระจายสัญญาณที่มีมาตรฐานตรงกันมาใช้เพื่อให้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดนั่นเอง
หรือถ้าใครงบเหลือจะข้ามไป Wi-Fi 6E หรือ Wi-Fi 7 เลยก็ได้ รับรองว่าได้ความแรงที่มากกว่าเดิมอย่างรู้สึกได้ แต่ก็ต้องจ่ายราคาที่สูงขึ้นกว่า Wi-Fi 6 อีกพอสมควร
3. ขนาดพื้นที่ใช้งาน
เรื่องนี้ก็มีความสำคัญและเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องหันมาใช้ Mesh Wi-Fi เลย เพราะถ้าพื้นที่บ้านเราเล็ก ๆ ก็อาจจะไม่ต้องใช้ Mesh Wi-Fi ก็ได้ แล้วบ้านขนาดไหนถึงควรใช้ Mesh Wi-Fi ต้องบอกเลยว่าบ้านทาวน์โฮม 2 ชั้นขึ้นไป หรือบ้านเดี่ยวพื้นที่ใช้สอย 150 ตร.ม. ก็ใช้ได้แล้ว
เพราะถ้าเราเลือกรุ่นที่ให้จำนวน Node มาน้อยเกินไป จะทำให้กระจายสัญญาณได้ไม่ครอบคลุมทั่วทั้งบ้าน หรือบางบ้านมีอุปสรรคมาขวางกั้นสัญญาณ Wi-Fi เยอะ เช่น กำแพง หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีวัสดุที่สามารถดูดซับสัญญาณได้ ก็ควรเพิ่มจำนวน Node ในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
ตัวอย่างการนำ Mesh Wi-Fi ไปติดตั้ง
- บ้านทาวน์โฮม 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 220 ตร.ม. ควรวาง Mesh Wi-Fi ชั้น ละ 1 ตัว เพราะจะช่วยให้เน็ตแรงเท่ากันทุกชั้น
- บ้านเดี่ยว 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 180 ตร.ม. ควรวาง Mesh Wi-Fi ชั้น ละ 1 ตัว เป็นแกนหลัก และวางตัวอื่น ๆ ในพื้นที่จุดอับสัญญาณ หรือสัญญาณอ่อน เช่น ชั้น 1 วางไว้กลางบ้านตรงพื้นที่เน็ตเข้า 1 ตัว ชั้น 2 วางห้องหน้าบ้าน และห้องหลังบ้านอย่างละ 1 ตัว
- ทั้งนี้ควรวาง Mesh Wi-Fi เพิ่มในห้องที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเยอะด้วย เช่น ห้องทำงาน
4. พอร์ตการเชื่อมต่อ
หัวข้อนี้อาจจะไม่ได้สำคัญมาก หากใช้งานระบบ Wi-Fi เป็นหลัก แต่สำหรับใครที่ใช้งานระบบสายแลนก็ควรดูเรื่องนี้เพิ่มด้วย เพราะ Mesh Wi-Fi หลายรุ่นในตลาด มักจะให้พอร์ตแลนมาแค่ 2 พอร์ต คือช่องรับอินเทอร์เน็ตเข้าหรือช่อง WAN 1 ช่อง และช่องอินเทอร์เน็ตออกหรือช่อง LAN อีก 1 ช่องเท่านั้น
ถ้าบ้านใครมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พอร์ตแลนอาจจะไม่พอต้องพ่วง Switch เพิ่มอีก หรือบ้านใครที่โครงสร้างมีการติดตั้งสายแลนเชื่อมแต่ละชั้นมาให้แล้วต้องการใช้สายแลนเป็น Backhaul หรือช่องทางการส่งข้อมูลระหว่าง Node ก็ควรเลือกรุ่นที่มีพอร์ตแลน 2 ช่องขึ้นไปด้วย
5.ดีไซน์
หลายคนที่ชอบแต่งบ้านการเลือกซื้อ Mesh Wi-Fi ก็อาจจะเป็นคำตอบมากกว่าเราท์เตอร์แบบเดิมก็ได้ เพราะดีไซน์ส่วนมากมักจะมีความมินิมอล ดูกลมกลืนไปกับห้อง คือต้องไม่ลืมว่า Mesh Wi-Fi จะถูกวางอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน ที่ไม่ใช่แค่ในชั้นวางทีวี หรือบนชั้นวางของที่ไม่ค่อยมีใครเห็นเท่านั้น
โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีดีไซน์เป็นของตัวเอง คือบางทีสเปคกับราคาดีแค่ไหน ถ้ามันไม่สวยก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบ้านด้วย
เมื่อรู้ข้อดีและข้อจำกัดของ Mesh Wi-Fi กันแล้วทางทีมงานก็ได้คัดรุ่นที่น่าสนใจมาให้ด้วยตามการใช้งาน และตามช่วงราคาทั้งหมด 5 รุ่นตามนี้เลย
1. TP-LINK DECO X20 Wi-Fi 6 AX1800 งบ 5,000 บาท
มาที่ตัวแรก DECO X20 Mesh Wi-Fi ตัวเริ่มต้น เหมาะสำหรับคนที่อยากได้ Mesh Wi-Fi งบไม่เกิน 5 พันบาท ได้เราท์เตอร์รุ่นใหม่ Wi-Fi 6 ฟีเจอร์จัดมาแบบครบ ๆ ได้ของที่มีประสิทธิภาพดีในราคาแพงไม่สูงมากเกินไป เหมาะสำหรับคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วไม่เกิน 500 Mbps แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสว่าทุกที่ในบ้านจะต้องเน็ตแรงเท่ากัน บางที่ไม่ต้องแรงขนาดนั้นก็ได้ขอแค่ใช้ได้ก็พอ
2. ASUS ZENWIFI Mini (XD4) Wi-Fi 6 AX1800 งบ 7,000 บาท
ส่วนถ้าใครอยากอัปเกรดฟีเจอร์ขึ้นมาก็แนะนำ ZENWIFI Mini แม้จะสเปคจะคล้ายกับ Deco X20 แต่ราคาจะสูงกว่าทำให้ได้ระบบบริหารจัดการหลังบ้านที่ละเอียดกว่า มีฟีเจอร์ล้ำ ๆ ท่ายาก ๆ เหนือกว่าที่คนทั่วไปใช้อยู่หลายอย่าง ตอบโจทย์คนที่พอจะมีความรู้ด้าน Network ในระดับเริ่มต้น เพราะคิดว่าน่าจะขัดใจกับฟีเจอร์ที่สุดจะมินิมอลของ Deco แต่ก็ตั้งค่ายากกว่าเล็กน้อยนะ
3. LINKSYS Atlas 6 (MX2003-AH) Wi-Fi 6 AX3000 งบ 10,000 บาท
สำหรับรุ่นนี้จะเป็นรุ่นที่อัปเกรดความแรงขึ้นมาจาก AX1800 เป็น AX3000 บอกเลยแบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้นมาช่วยให้เพิ่มพื้นที่เน็ตแรงได้อีกพอสมควรเลยทีเดียว แถมราคาก็ไม่ได้แรงมากด้วย Pack 3 ตัวเห็นอยู่ประมาณหมื่นต้น ๆ เอง เหมาะสำหรับคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วไม่เกิน 1000 Mbps
4. TP-LINK DECO XE75 PRO Wi-Fi 6E AXE5400 งบ 20,000 บาท
มาถึงรุ่นนี้บอกเลยว่าเป็นรุ่นที่เกินความจำเป็นในการใช้งานทั่วไปแล้ว เหมาะสำหรับคนที่อยากซื้ออนาคตอัปเกรดรอไว้เลย หรือเหมาะสำหรับคนที่อยากเล่นของใหม่อย่างคลื่น 6 GHz คลื่นความถี่ที่กสทช. อนุญาตให้ใช้งานได้ในประเทศไทยไปไม่นานนี้
ซึ่งข้อดีของคลื่น 6 GHz คือช่องสัญญาณที่กว้าง และยังไม่ค่อยมีคนใช้ทำให้สัญญาณรบกวนน้อยกว่า ได้เน็ตที่แรงกว่า แต่อุปกรณ์ปลายที่ต้องรองรับด้วยถึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นจะมีแค่ในระบบ Mesh หลังบ้านเท่านั้นที่ใช้ได้ เหมาะสำหรับคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตความ 1000 Mbps ขึ้นไป
5. TP-LINK DECO BE65 Wi-Fi 7 BE11000 งบไม่จำกัด
ถ้าใครอยากจัดเต็มแบบงบไม่ใช่ปัญหา อยากได้อะไรล้ำที่สุด ใหม่ที่สุด ต้องตัวนี้เลย DECO BE65 เพราะมาพร้อมกับมาตรฐาน Wi-Fi 7 รุ่นใหม่ล่าสุด ได้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพียบ ส่วนเรื่องความแรงคงไม่ต้องพูดถึง เต็มที่สุดแล้วในตอนนี้
แต่ใครที่จะใช้รุ่นนี้จะต้องเงินถึงนิดนึง เพราะ Pack 2 ก็ราคาเกือบ 2 หมื่นบาทแล้ว และควรใช้กับอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2000 Mbps ขึ้นไป ถึงจะรีดพลังของ DECO BE65 ออกมาได้หมด
หรือถ้าคิดว่ามันยังไม่สุดจะจัดรุ่น DECO BE85 ตัวท็อปราคา Pack 2 เกือบ 4 หมื่นบาทแทนก็ได้ ตัวนั้นก็จะเหนือล้ำขึ้นไปอีกระดับ แต่ส่วนตัวมองว่าอาจจะเกินความจำเป็นไปนิดหนึงในปัจจุบันนี้นะ
อย่างไรก็ดีทั้งนี้การจะเลือก Mesh Wi-Fi รุ่นไหนก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ พื้นที่ และวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งานด้วย แม้จะมีข้อดีมากมาย และติดตั้งได้ง่ายกว่าการเดินสายแลนติด Access Point แต่ก็มีข้อสังเกตในเรื่องของค่า Latency ที่สูงหากนำไปเล่นเกม และใน Node ที่อยู่ไกลต้องวิ่งผ่านหลาย Node ความเร็วที่ได้ก็จะลดลงตามระยะทางด้วย
ชื่อรุ่น | TP-LINK DECO X20 | ASUS ZENWIFI Mini | LINKSYS Atlas 6 | TP-LINK DECO XE75 PRO | TP-LINK DECO BE65 |
เทคโนโลยี | Wi-Fi 6 | Wi-Fi 6 | Wi-Fi 6 | Wi-Fi 6E | Wi-Fi 7 |
คลื่นความถี่ | 2.4 & 5 GHz | 2.4 & 5 GHz | 2.4 & 5 GHz | 2.4 & 5 & 6 GHz | 2.4 & 5 & 6 GHz |
ความเร็ว | 2.4 GHz: 574 Mbps | 2.4 GHz: 574 Mbps | 2.4 GHz: 574 Mbps | 2.4 GHz: 574 Mbps | 2.4 GHz: 574 Mbps |
5 GHz: 1201 Mbps | 5 GHz: 1201 Mbps | 5 GHz: 2402 Mbps | 5 GHz: 2402 Mbps | 5 GHz: 4302 Mbps | |
6 GHz: 2402 Mbps | 6 GHz: 5760 Mbps | ||||
แบนด์วิดท์รวม | 1800 Mbps | 1800 Mbps | 3000 Mbps | 5400 Mbps | 11000 Mbps |
พอร์ต LAN | 2 พอร์ต | 2 พอร์ต | 4 พอร์ต | 3 พอร์ต | 4 พอร์ต |
WiFi Capacity | 4 Streams | 4 Streams | 4 Streams | 6 Streams | 6 Streams |
ราคา | Pack 1 2,390 บาท | Pack 1 2,990 บาท | Pack 1 3,990 บาท | Pack 1 9,990 บาท | |
Pack 2 4,490 บาท | Pack 2 6,590 บาท | Pack 2 7,990 บาท | Pack 2 13,990 บาท | Pack 2 18,990 บาท | |
Pack 3 6,490 บาท | Pack 3 10,390 บาท | Pack 3 19,990 บาท | Pack 3 27,990 บาท |
Comment