นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็น AIS นำเอาเทคโนโลยี 5G มาโชว์ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ AIS นำเอา 5G มาใช้ในวงการอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยการประยุกต์นำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานได้จริง ด้วยการจับมือกับบริษัท SCG และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาและสร้างต้นแบบการใช้เทคโนโลยี 5G ในวงการอุตสาหกรรมได้ โดยนำมาใช้บังคับรถโฟคลิฟท์ที่อยู่ห่างออกไป 130 กม. แบบเรียลไทม์ได้สำเร็จ

สำหรับการควบคุมรถโฟล์คลิฟท์นั้นจะใช้การเชื่อมต่อคลื่น 5G บนความถี่ 2.6 GHz ที่ทาง กสทช. ทดลองให้ใช้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

  • ตัวรถและกล้อง เชื่อมต่อกับคอมผ่านระบบไร้สายต่อกับ Router ที่ใส่ซิมรองรับคลื่น 5G อยู่ (อยู่ที่ สระบุรี)
  • อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุม เป็นพวงมาลัยขับรถบนเครื่องเกม PS4 เชื่อมต่อเข้ากับคอมเสียบสายปกติ (อยู่ที่ กทม)

การตอบสนองของรถเวลาเลี้ยวไปมานั้น จากการสาธิตรถแทบจะตอบสนองได้ทันที (มีดีเลย์เสี้ยววินาทีเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยวซ้าย-ขวา ยกพาเลตขึ้นลง หรือเปลี่ยนเกียร์เดินหน้าถอยหลัง แต่ตัวรถยังทำความเร็วได้ไม่มากเท่าไร ซึ่งคาดว่าน่าจะโดนจำกัดความเร็วอยู่เพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้การขับรถไร้สายสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องของความเร็ว 5G แต่เป็นเรื่องของการที่มีค่า Latency หรือ Response Time ที่ต่ำ ทำให้การตอบสนองแทบจะสามารถทำได้ทันทีโดยไม่มีดีเลย์ ซึ่งเท่ากับว่าในอนาคตพนักงานก็ไม่จำเป็นต้องไปขับรถจริงๆ ที่หน้างาน แต่ขับรถอยู่ที่ออฟฟิศในห้องแอร์ก็ได้ (ไม่ต้องไปดมฝุ่น ตากแดด)

นอกเหนือจากที่คนขับรถได้รับความสบายขึ้นแล้ว การขับรถแบบนี้ยังช่วยให้สามารถทำงานในพื้นที่เสี่ยงได้โดยไม่ต้องใช้คนเข้าไปเอง หรือยังสามารถทำงานได้ในหลายพื้นที่โดยไม่ต้องเดินทาง ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อาจะเกิดขึ้นได้ในยุค 5G

5G คืออะไร – ไม่ใช่แค่เร็ว แต่เป็นรากฐานของอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจมองว่า 5G เป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่จากการที่เอไอเอสสามารถหาพาร์ทเนอร์เริ่มเอาไปงานจริงได้ ก็ดูเหมือนว่าประเทศเราอาจจะเข้าใกล้ 5G กว่าที่คิดก็เป็นได้