AIS ประกาศเดินหน้าภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ร่วมกับภาครัฐและเอกชนปกป้องประชาชนจากภัยไซเบอร์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือ

โครงการนี้เกิดขึ้นจากการผนึกกำลังระหว่าง

  • AIS
  • สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • กสทช.

โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทาง และยกระดับการป้องกันภัยไซเบอร์ทั่วประเทศ มุ่งเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กร

มุ่งหวังให้โครงการ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ไม่ใช่เพียงแค่นโยบาย แต่เป็นภารกิจร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืนอย่างแท้จริง

AIS กับภารกิจ “Cyber Wellness for THAIs”

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ CEO ของ AIS ยืนยันความมุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมเสนอกลยุทธ์ 3 ประสาน

  1. เรียนรู้ (Educate) – ให้ความรู้กับประชาชนผ่านหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”
  2. ร่วมแรง (Collaborate) – จับมือพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน
  3. เร่งมือ (Motivate) – รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎระเบียบ หรือกติกา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

AIS ยังพัฒนาเครื่องมือช่วยป้องกันภัย เช่น

  • เปิดบริการสายด่วน 1185 เพื่อให้ลูกค้าแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับข้อความหรือเบอร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัย
  • เปิดบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร ให้ลูกค้าแจ้งเบอร์โทรมิจฉาชีพได้ทันทีหลังวางสาย
  • ควบคุมเสาสัญญาณในพื้นที่เสี่ยง
  • ทำงานร่วมกับตำรวจในการลงพื้นที่

รัฐบาลยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

รัฐบาลดำเนินการผ่าน 3 แนวทางหลัก

  1. พัฒนากฎหมายและมาตรการควบคุม
  2. ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ
  3. ยกระดับความมั่นคงในระดับชาติ

หนึ่งในภารกิจสำคัญคือ ปฏิบัติการ “Seal Stop Safe” ที่รวมถึง

  • ปิดช่องทางลักลอบตามแนวชายแดน
  • การแก้ไขกฎหมายควบคุม “บัญชีม้า” และ “ซิมม้า”
  • ใช้เทคโนโลยีช่วยติดตามขบวนการอาชญากรข้ามชาติ

สถิติน่าห่วง : คนไทยโดนหลอก ความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท

สถิติคนไทยโดนหลอก

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 30 เมษายน 2568 มีคดีออนไลน์กว่า 887,000 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท ความเสียหายเฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท โดยอาชญากรรมที่พบบ่อย เช่น

  • ถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม
  • ถูกดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว
  • ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ

ตำรวจจึงจัดตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ (ศปอส.ตร.) ใช้ AI วิเคราะห์ธุรกรรม เพื่อติดตามเส้นทางเงินของมิจฉาชีพ พร้อมทำงานเชิงรุกกับภาคเอกชนอย่าง AIS

False Base Station หรือสถานีฐานปลอม

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  • หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากข้อความ SMS ที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร หรือรหัส OTP ให้กับบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ
  • หากได้รับข้อความหรือสายโทรศัพท์ที่น่าสงสัย ควรแจ้งผ่านช่องทางที่ AIS จัดเตรียมไว้ เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและป้องกันได้อย่างทันท่วงที

False Base Station หรือสถานีฐานปลอม ที่มิจฉาชีพใช้

นอกจากนี้ ภายในงาน ทาง AIS ได้นำ False Base Station หรือสถานีฐานปลอม มาจัดแสดงให้สื่อมวลชนได้ดูด้วย ซึ่งเสาสัญญาณปลอม (False Base Station) คือ อุปกรณ์ผิดกฎหมาย ที่ปล่อยสัญญาณมือถือเลียนแบบเสาสัญญาณของผู้ให้บริการ เพื่อหลอกให้มือถือของเหยื่อเชื่อมต่อเข้ามา โดยเฉพาะในระบบ 2G ซึ่งมีการเข้ารหัสที่อ่อนแอ

False Base Station

วิธีการของมิจฉาชีพ ในการใช้สถานีฐานปลอม

False Base Station หรือสถานีฐานปลอม

กลุ่มมิจฉาชีพจะติดตั้งอุปกรณ์สถานีฐานปลอมไว้ในรถยนต์ แล้วขับตระเวนไปยังพื้นที่ที่มีประชาชนพลุกพล่าน หรือบางทีเอาใส่กระเป๋าแล้วสะพายไปตามแหล่งคนแออัด เช่น ตามห้างสรรพสินค้า

เมื่อผ่านพื้นที่ดังกล่าว อุปกรณ์จะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือในบริเวณใกล้เคียง และส่งข้อความ SMS ปลอม ที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคาร หรือผู้ให้บริการโทรคมนาคม

ข้อความเหล่านี้มักมีลิงก์ปลอม ที่เมื่อผู้ใช้คลิกเข้าไป จะถูกหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมระยะไกล ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือของผู้ใช้ได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการเงินอย่างมาก

เราจะป้องกันได้อย่างไร?

  • ปิดการใช้งานเครือข่าย 2G ในมือถือ
  • สังเกตพฤติกรรมผิดปกติ เช่น มือถือเปลี่ยนไปจับสัญญาณ 2G เอง
  • อย่ากดลิงก์ใน SMS น่าสงสัย
  • แจ้งผ่าน *AIS Spam Report Center 1185 หรือ *1185#