จากโครงการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านบอลลูน “Project Loon” ที่ Google ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องล้มพับไปเมื่อต้นปี 2564 นั้นไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะ Alphabet ได้นำเอาเทคโนโลยีการส่งข้อมูลแบบออปติคัลความเร็วสูง (ระดับ 20 Gbps) มาประยุกต์ใช้ในภาคพื้นดินกับอีกโครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า “Project Taara” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี เพราะจากการทดลองในช่วง 20 วัน สามารถส่งข้อมูลในระยะทาง 4.8 กม. ได้มากถึง 700TB แถมอัตราความพร้อมใช้งานยังสูงถึง 99.99% อีกต่างหาก


Project Loon ประสบความสำเร็จทางเทคนิคมากมาย แต่ต้องถูกยกเลิกเนื่องจากปัญหาการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์

Project Taara ส่งข้อมูลผ่านแสง ในที่ที่ลากสายไฟเบอร์ได้ลำบาก

Alphabet ที่ปัจจุบันมีสถานะเป็นบริษัทแม่ของ Google ได้ทดลองส่งข้อมูลระหว่าง “บราซาวีล” เมืองหลวงของสาธารณรัฐคองโก กับ “กินชาซา” เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยทั้งสองเมืองนี้ถูกคั่นกลางด้วยแม่น้ำคองโก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความลึกมากที่สุดในโลก อีกทั้งกระแสน้ำยังแรงเป็นอันดับสองของโลกเป็นรองเพียงแค่แม่น้ำแอมะซอนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้การวางโครงข่ายไฟเบอร์นั้นทำได้ยากสุด ๆ และมีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติราว 5 เท่า

ด้วยอุปสรรคข้างต้นจึงเหมาะที่ Alphabet จะนำ Project Taara มาทดลองพอดี เนื่องจากเป็นโครงการที่ริเริ่มมาเพื่อแก้ปัญหาในลักษณะนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ อินเทอร์เน็ตต้องเข้าถึงได้ทุกที่ในราคาที่ไม่แพง

ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ Project Taara ต้องพัฒนาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

เทคโนโลยีการส่งข้อมูลแบบออปติคัลมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้หลายคนคิดว่า “สิ่งนี้อาจไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง” ยกตัวอย่างเช่น สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เวลามีหมอกลงจัดหรือฝนตกหนัก ซึ่งจะไปลดทอนประสิทธิภาพการเดินทางของลำแสง หรือแม้แต่การที่มีนกบินผ่านจนทำให้การส่งผ่านข้อมูลหยุดชะงักไป


อุปกรณ์รับและส่งลำแสงของ Project Taara 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Alphabet ได้เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ พยายามหาวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวโดยการพัฒนาให้เทอร์มินัลของ Project Taara ให้สามารถรับและส่งลำแสงได้แม่นยำในพื้นที่ขนาด 5 ซม.ที่อยู่ห่างออกไป 10 กม. รวมถึงสามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมแล้วปรับตำแหน่งกระจกและความแรงของลำแสงให้สอดคล้องกันได้

Project Taara ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดเจ๋ง ๆ ที่น่าจับตามองจาก Alphabet น่าจะเป็นอะไรที่สร้างประโยชน์ให้ผู้คนได้ไม่น้อย แต่จะพัฒนาจนสำเร็จและทำลายข้อจำกัดต่าง ๆ ลงได้สมบูรณ์หรือไม่ เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปครับ ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น…

 

ที่มา : X (1, 2, 3)