ถือเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทีมงาน Droidsans ได้มีโอกาสเข้าได้เข้าไปร่วมงาน AMD Ryzen Mobile Tech Day ที่เมือง Austin, Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้ไปทดสอบซีพียูรุ่นใหม่ๆ ที่เป็น Ryzen 4000 Series ขนาด 7nm ตัวแรกบนโน้ตบุ๊ค ซึ่งประสิทธิภาพการใช้งานเบื้องต้นถือว่าไม่ธรรมดา ก้าวกระโดดไปจากรุ่นเยอะพอสมควร โดยรายละเอียดต่างๆ จะเป็นอย่างไรบ้างไปดูกันครับ

ในเบื้องต้นซีพียู AMD Ryzen 4000 นี้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 รหัสต่อท้ายด้วยกัน คือ H, HS และ U โดยจะมีความหมายดังนี้

  • H คือ ซีพียูประสิทธิภาพสูง จะอยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊คธรรมดา มีค่า TDP 45W
  • HS คือ ซีพียูประสิทธิภาพสูง จะอยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊คพรีเมียมบางเบา มีค่า TDP 35W
  • U คือ ซีพียูประหยัดพลังงาน จะอยู่ในโน้ตบุ๊คอัลตร้าทิน มีค่า TDP 15W

สำหรับเครื่องทีมงานได้ลองไปจับเดโม่ทดสอบคือ Lenovo YOGA Slim 7 ที่ใช้ซีพียูเป็น AMD Ryzen 7 4800U ที่มีจำนวนคอร์มากกว่าถึง 8 Core/16 Thread ตัวแรกของโลก ความเร็ว 1.8-4.2 GHz พร้อมกับมี Radeon Graphics 8 Core ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ NVIDIA GeForce MX250 ที่เป็นการ์ดจอแยกได้เลย โดยทีมงานได้ลองทดสอบเล่นเกม Borderlands 3 ปรับ Low บนความละเอียด Full HD ได้ลื่นไหลสบายๆ ไม่มีอาการกระตุก

แต่สิ่งหนึ่งที่แอบเสียดายคือ Lenovo YOGA Slim 7 ที่ใช้สเปคเป็น AMD Ryzen นั้น จะไม่มีพอร์ต Thunderbolt 3 เหมือนกับฝั่ง Intel แต่จะเป็น USB Type C PD+DP แทนครับ

ถัดมาทีมงานก็ได้ทดสอบเครื่องเดโม่ ASUS Zephyrus G14 ที่ใช้ซีพียู Ryzen 7 4800HS จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 2060 Max-Q เล่นเกม Far Cry 5 ปรับสุด สามารถเล่นได้ลื่นๆ ไม่มีปัญหา ส่วนจอด้านหลังเครื่องเป็นไฟ LED สีขาว สามารถปรับตั้งค่าเป็นตัวอักษรต่างๆ ได้ด้วย 

การระบายความร้อนตัวเครื่องถือว่าออกแบบมาค่อนข้างดี เพราะมีช่องระบายความร้อนด้วยกันถึง 4 ช่อง (หลัง 2 ช่อง ซ้ายขวาอย่างละ 1 ช่อง) คีย์บอร์ดมีไฟ Backlit สีขาว วัสดุตัวเครื่องเป็น Magnesium-Aluminum Alloy ทั้งตัวงานประกอบแม้ว่าที่ทดสอบจะเป็นเครื่องเดโม่แต่ก็สัมผัสได้ถึงความพรีเมียมที่แตกต่างเกมมิ่งโน้ตบุ๊คที่ใช้ซีพียู Ryzen รุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด

ฟีเจอร์อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาบน Ryzen 4000 Series

  • ระบบ STTv2 จะเป็นระบบที่ช่วยจัดการอุณหภูมิตัวเครื่องให้ดียิ่งขึ้น โดยตัวชิปจะรับรู้ถึงอุณหภูมิบนแป้นพิมพ์ ทำให้เวลาใช้งานพิมพ์งานหรือเล่นเกมไม่ร้อนมือจนเกินไป และสามารถทำงานได้ต่อเนื่องโดยประสิทธิภาพไม่ตก หรือหากตกก็ตกน้อยมาก

  • ระบบ SmartShift เป็นระบบช่วยจัดการการจ่ายไฟไปยัง CPU และ GPU ให้สอดคล้องกับการใช้งานปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ปกติถ้าเป็นซีพียูรุ่นอื่นเวลาเล่นเกมตัวเครื่องจะจ่ายไฟไปยัง CPU และ GPU อย่างละ 25W เท่ากันรวมเป็น 50W แต่เมื่อมีระบบ SmartShift ตัวเครื่องจะจ่ายไฟไปยัง CPU แค่ 7W แต่ GPU จ่ายไฟไปถึง 43W ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น (ต้องเป็นชิปและการ์ดจอแยกของ AMD เท่านั้น)
  • แบตเตอรี่ ทาง AMD เคลมไว้ว่าบนซีพียูตัวใหม่จะใช้งานได้นานขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับคู่แข่งในรุ่นซีพียูไลน์เดียวกัน(สเปคอื่นๆ เท่ากันหมด)  โดย Ryzen 4000 จะใช้งานได้นานกว่าราวๆ ครึ่งชั่วโมง

สำหรับโน้ตบุ๊คที่ใช้ Ryzen 4000 จะมีซีรีส์เลขอะไรบ้าง บอกเลยว่าคราวนี้มาครบจัดเต็มไม่ต่างจาก Desktop PC คือมีทั้ง Ryzen 3, 5, 7 และ 9 เข้ามาครบทั้งหมด ทั้งรหัส H, HS และ U โดยจะมีสูงสุด 8 Core/16 Thread

ส่วนใครกำลังสงสัยว่าโน้ตบุ๊คที่ใช้ Ryzen 4000 Series จะมาทันคอมมาร์ทต้นเดือนมีนาคมไหม ก็ขอบอกเลยว่าไม่น่าจะมาทัน เร็วสุดน่าจะต้นเดือนเมษายนนี้แทน โดยเบื้องต้นโน้ตบุ๊ครุ่นแรกๆ ที่ใช้ซีพียู Ryzen 4000 ที่จะเข้าไทยมาก่อนคือ Acer Swift 3, Lenovo YOGA Slim 7, ASUS Zephyrus G14 และ Dell G5 SE ตามที่เคยหลุดออกมาก่อนหน้านี้เป๊ะๆ

**หมายเหตุ ภายในงาน “AMD Ryzen Mobile Tech Day” ตัวเครื่องกับซอฟต์แวร์ที่ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นรุ่นเดโม่ตัวทดสอบกันอยู่ ประสิทธิภาพและฟีเจอร์ เครื่องขายจริงคาดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่านี้อีกนะครับ