เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวแทน Qualcomm แจ้งว่าชิป Snapdragon จะมี ความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ส่งผลให้ผู้ผลิตมือถือสามารถอัปเดตระบบปฏิบัติการได้ไวขึ้น – นานขึ้น และเจ้าตัวเน้นย้ำเรื่องนี้อีกครั้งต่อผู้สื่อข่าวหลังเวทีในงาน Snapdragon Summit 2024 พร้อมประกาศตัวเลขของการอัปเดตที่ชัดเจนให้ได้ทราบกันแล้ว คือ 7 ปี โดยมีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับโปรแกรม Longevity Google Requirements Freeze (LGRF) ของกูเกิล ซึ่งต่อยอดมาจาก Google Requirements Freeze (GRF) ของเดิมจากปี 2020

หากจะเล่าถึงเรื่องนี้ ต้องพาย้อนกลับไปถึงโครงการ Project Treble ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2017 โดยกูเกิลแยกชั้นเฟรมเวิร์กระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ vendor implementation ออกจาก Android เพื่อเป็นอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตมือถือในการปล่อยอัปเดต ซึ่งผู้ผลิตมือถือจะรับผิดชอบเฉพาะส่วนแรก ในขณะที่ส่วนหลัง ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตชิปเซตไป เช่น Qualcomm และ MediaTek

ทว่า การมาของ Project Treble ช่วยให้ผู้ผลิตมือถือสามารถอัปเดต Android ได้ง่ายขึ้นจริง แต่ในทางตรงกันข้าม ก็กลายเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ผลิตชิปเซตที่ต้องคอยอัปเดต vendor implementation ตามรอบ Android ไปเรื่อย ๆ พอครบ 3 ปีก็มีซอฟต์แวร์ที่ต้องซัปพอร์ตต่อชิปเซต 1 รุ่น รวม 10 ชุดเข้าไปแล้ว ยิ่งมีชิปเซตมากเท่าใด จำนวนก็ยิ่งทวีคูณ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

ภายหลังกูเกิลจึงได้เปิดตัว GRF ออกมาแก้ปัญหาข้างต้น โดยปลดล็อกให้ vendor implementation สามรถนำมาใช้ซ้ำได้เป็นเวลา 3 ปี งานของผู้ผลิตชิปเซตจึงเบาลงมาก ซอฟต์แวร์ที่ต้องดูแล จาก 10 ชุด ก็ลดลงมาเหลือแค่ 4 ชุด

ส่วน LGRF ที่พึ่งมาใหม่ ก็ใช้เทคนิคเดิม แต่ขยายกรอบเวลาการใช้ซ้ำให้นานขึ้นเป็น 7 ปี โดยมีข้อกำหนดหลัก ๆ เพียง 2 ข้อ ข้อแรกคือ การบังคับให้ผู้ผลิตมือถือต้องอัปเดตเวอร์ชันเคอร์เนล Linux ทุก 3 ปีเพื่อความปลอดภัย เพราะหากไม่อัปเดตจะทำให้แบ็กพอร์ตแพตช์ความปลอดภัยย้อนหลังลำบาก

และข้อที่ 2 คือ การห้ามไม่ให้ผู้ผลิตมือถือ เปิดตัวมือถือที่รันบน Android เวอร์ชันที่ใหม่กว่า vendor implemenation เกิน 4 รุ่น เว้นแต่ผู้ผลิตชิปเซตจะมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ให้สอดรับกันจนเข้าเงื่อนไข

อย่าพึ่งดีใจ ไม่ใช่ทุกรุ่นที่จะได้อัปเดต 7 ปี

ชิปเซตรุ่นแรกที่เข้าร่วม LGRF คือ Snapdragon 8 Elite แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามือถือทุกรุ่นที่มากับ Snapdragon 8 Elite จะได้อัปเดต Android นาน 7 รุ่นเสมอไป เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตมือถืออยู่ดี เช่น Sony และ Asus ที่ใช้ชิป Snapdragon ซึ่ง Qualcomm สนับสนุนการอัปเดต 4 ปีมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว แต่ 2 ค่ายนี้ก็ยังปล่อยอัปเดต Android ออกมาเพียง 1 หรือ 2 เวอร์ชันเท่านั้น

กับข้อจำกัดอีกประการที่ควรทราบคือ การใช้ vendor implementation เวอร์ชันเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้มือถือไม่รองรับฟีเจอร์บางอย่างที่ผูกกับฮาร์ดแวร์บน Android รุ่นใหม่ ๆ

ตัวอย่างคือ Android 12 มี API ปุ่มเปิดปิดการเชื่อมต่อ 2G และ Android 13 มี API ปรับความสว่างไฟฉาย แต่ถ้า vendor implementation ยังเป็นของ Android 11 หรือต่ำกว่า มือถือก็จะไม่รองรับฟีเจอร์เหล่านี้ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องรอดูในระยาว ไม่แน่ว่ากูเกิลอาจคิดหาวิธีมาแก้ไขได้

ทำไมซัมซุงอัปเดตนานกว่าค่ายอื่น

หากอ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าคำถามที่น่าจะผุดขึ้นมาในหัวหลาย ๆ คน คงเป็นคำถามที่ว่า ‘ทำไมซัมซุงจึงสามารถอัปเดต 7 ปีได้ก่อนค่ายอื่น’ ทั้งที่ LGRF พึ่งจะมา ส่วน GRF ก็รองรับสูงสุดแค่ 3 ปี และยังไม่นับถึงรุ่นรอง ๆ ที่ได้อัปเดต 4 ปี หรือ 6 ปี ซึ่งก็เกินกรอบเวลาอีกเช่นกัน

คำตอบคือ ซัมซุงเสนอเงินพิเศษให้ผู้ผลิตชิปเซตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกอัปเดต vendor implementation โดยในกรณีนี้คือ Qualcomm และ MediaTek ซึ่งคุณ Mishaal Rahman กูรู Android บอกคร่าว ๆ ว่า ‘มีค่าใช้จ่ายสูงมาก’ ยิ่งอัปเดตนาน ยิ่งต้องจ่ายหนัก

ตรงจุดนี้ เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่มือถือ Android หลาย ๆ ค่าย ต้องหยุดการอัปเดตเอาไว้ตามรอบการสนับสนุนของชิปเซตรุ่นนั้น ๆ รวมถึงกูเกิลเอง ที่ตัดสินใจเปลี่ยนผ่านจากชิปเซต Snapdragon มาสู่ Tensor ในปี 2021 เพราะคงมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่กระเป๋าหนักพอ และยอมทุ่มเงินแบบเดียวกับที่ซัมซุงทำ

ที่มา : Android Authority | Android Developers Blog (1, 2, 3)