เริ่มต้นปีใหม่ อาจมีหลายคนที่กำลังมองหามือถือใหม่ แต่พอดู ๆ ไปแล้ว สมาร์ทโฟน Android ในตลาดก็ดันมีรุ่นให้เลือกเยอะเสียเหลือเกิน ยิ่งถ้าไม่ได้ติดตามข่าวสารฝั่งมือถือเป็นประจำ คงยิ่งงงกันไปใหญ่ เพราะออกรุ่นใหม่กันแทบไม่พัก แถมมีสเปคหลากหลายจนตาลาย 🥴💫 ทาง DroidSans จึงได้รวบรวมข้อมูลเป็น buying guide สำหรับการเลือกซื้อมือถือ Android ในปี 2024 พร้อมสเปคขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อการใช้งานทั่วไปในบทความนี้

จอภาพ

มือถือที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน มีการเลือกใช้หน้าจออยู่สองประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรกคือ IPS LCD ที่พบเห็นได้มากที่สุดในสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับกลาง ราคาไม่เกิน 8,000 บาท และถ้าแพงกว่านี้ขึ้นไป จะเริ่มเห็นอีกประเภทคือ OLED ที่มีคุณภาพการแสดงผลเหนือกว่าในเกือบทุกแง่มุม ทั้งการสู้แสง ความเที่ยงตรงของสี อัตราส่วนคอนทราสต์ และอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่า OLED เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า IPS LCD ในกรณีที่งบประมาณไม่ใช่ปัญหา

ประเด็นถััดมาคือ ขนาดหน้าจอ มือถือระดับมิดเรจ์ส่วนใหญ่ จะมีขนาดหน้าจอประมาณ 6.5 – 6.7 นิ้ว เหมือนเป็นไซซ์มาตรฐานอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว ซึ่งตัวเลขอาจมีความคลาดเคลื่อนกันบ้าง บวกลบเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะแต่ละยี่ห้ออาจมีสัดส่วนกว้างยาวของหน้าจอไม่เท่ากัน แต่ขนาดโดยรวมของตัวเครื่องจะใกล้เคียงกัน ส่วนหน้าจอขนาดใหญ่ขึ้นไป มักพบในเรือธงตัวท็อป และหน้าจอขนาดเล็กลงมา มักพบในมือถือระดับเริ่มต้น แต่ข้อนี้ไม่มีเกณฑ์ที่กำหนดความเหมาะสมที่ตายตัว เนื่องจากขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละคน จอใหญ่จะเสพคอนเทนต์ได้เต็มตา ในขณะที่จอเล็กจะสะดวกต่อการพกพา และมีน้ำหนักเบา

นอกจากนี้ ผู้ที่มีการใช้งานมือถือกลางแจ้งบ่อย ๆ เช่น ไรเดอร์รับส่งอาหาร อาจต้องพิจารณาเรื่องความสว่างสูงสุดเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในทุกสถานการณ์ จึงควรมองหามือถือที่มีหน้าจอสว่างสูงสุดตั้งแต่ 600 นิตขึ้นไป ตัวเลขยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะมือถือบางรุ่นเมื่อถูกใช้งานจนมีอุณหภูมิสูง ระบบอาจปรับลดความสว่างหน้าจอลงมาอัตโนมัติระดับหนึ่งเพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกิดการโอเวอร์ฮีต แต่หากเป็นการใช้งานในร่มทั่ว ๆ ไป ความสว่างสูงสุด 400 หรือ 500 นิตก็เหลือเฟือ

สุดท้ายคือ คุณสมบัติในการรองรับ Ultra HDR ที่เป็นระบบการถ่ายภาพและการแสดงผลแบบใหม่ที่มาพร้อม Android 14 ซึ่งในแง่การถ่ายภาพ Ultra HDR นั้นคงไม่ใช่ปัญหาอะไรนัก เพียงแค่อัปเดตซอฟต์แวร์ก็พร้อมใช้งานทันที แต่ที่เป็นปัญหาคือ การแสดงผล Ultra HDR ที่ต้องอาศัยการรองรับของฮาร์ดแวร์ด้วย ดังนั้นหากต้องการใช้งานฟีเจอร์นี้ ก็ต้องเลือกซื้อรุ่นที่รองรับตั้งแต่ต้น

  • เริ่มต้น :
    – พาเนล IPS LCD
    – ความละเอียด HD+
    – อัตรารีเฟรช 60Hz
    – ความสว่าง 400 นิต
  • แนะนำ :
    – พาเนล OLED แบบ LTPO
    – ความละเอียด FHD+
    – อัตรารีเฟรช 120Hz
    – ความสว่าง 2000 นิต
    – รองรับ Ultra HDR

ชิปเซต

Helio G99 ยังได้รับความนิยมในกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาย่อมเยาแม้จะเปิดตัวมาเกือบ 2 ปีแล้ว เนื่องจากทาง MediaTek ยังไม่มีการเปิดตัวชิปเซตรุ่นใหม่ในรหัส G มาสานต่อ และ Helio G99 เองก็ยังใช้งานทั่วไปได้ราบรื่น จะขาดฟีเจอร์สำคัญไปก็เพียงแค่การรองรับเครือข่าย 5G ซึ่งหากต้องการการรองรับ 5G ต้องขยับไปเป็นรุ่นที่สูงกว่า เช่น Snapdragon 695 หรือ Dimensity 6100

  • เริ่มต้น :
    – Snapdragon 680
    – Helio G99
  • แนะนำ :
    – Snapdragon 8 Gen 3
    – Dimensity 9300
    – Exynos 2400

หน่วยความจำและสตอเรจ

มือถือระดับเริ่มต้น มักให้หน่วยความจำ หรือ RAM เริ่มต้นมาที่ 4GB และอาจมีการชดเชยด้วยฟีเจอร์ Virtual RAM โดยการดึงพื้นที่บางส่วนของสตอเรจมาใช้งานชั่วคราว แต่ความเร็วจะสู้ RAM แท้ ๆ ไม่ได้ และถึงแม้หน่วยความจำขนาด 4GB จะยังเพียงพอต่อการใช้งานพื้นฐานทั่วไปก็จริง แต่บางครั้งอาจตอบสนองช้า ไม่ทันใจ หากเป็นไปได้ควรเลือกซื่อรุ่นที่มีหน่วยความจำ 6GB ขึ้นไป จะใช้งานได้อย่างลื่นไหลกว่า

ประเด็นเรื่อง RAM ยังมีจุดให้พิจารณาเพิ่มเติมกรณีเป็นมือถือเรือธง ถ้าคิดเผื่อการใช้งานในอนาคต อาจต้องขยับไปรุ่นที่มีหน่วยความจำ 12GB หรือสูงกว่า เพื่อให้รองรับการรันโมเดล AI ที่กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ในปีนี้ ซึ่งต้องอาศัย RAM ขนาดใหญ่สำหรับการประมวลผลผลเครื่อง หากมี RAM น้อยเกินไป อาจเจอปัญหาในลักษณะคอขวด ชิปเซตประมวลผลไหว แต่ RAM ไม่เพียงพอ เป็นต้น

ส่วนสตอเรจ หรือ ROM มีจุดสังเกตสองข้อคือ ชนิดและความจุ โดยชนิดควรเป็นแบบ UFS ที่มีความเร็วสูงกว่า eMMC แบบเดิม ๆ และความจุควรไม่น้อยกว่า 64GB หรือจะดีขึ้นไปอีกถ้ารองรับ microSD card ด้วย เพราะลำพังตัวปฏิบัติการเองก็กินพื้นที่ไปราว 15GB แล้ว ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับใช้งานจริงน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ แอปต่าง ๆ เมื่อใช้งานไปอาจมีการใช้งานพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น LINE และ Instagram ซึ่งคงไม่สะดวกนักหากต้องมาเคลียร์ข้อมูลกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ช่ำชองเทคโนโลยี

  • เริ่มต้น :
    – หน่วยความจำ 6GB
    – สตอเรจ 64GB แบบ UFS
    – รองรับ microSD card
  • แนะนำ :
    – หน่วยความจำ 12GB
    – สตอเรจ 256GB แบบ UFS

กล้องถ่ายภาพ

ความละเอียดไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่ากล้องรุ่นนั้น ๆ ดีมากน้อยเพียงใด หากแต่เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น ความละเอียด คุณภาพชิ้นเลนส์ ขนาดของเซนเซอร์ ชิปประมวลผลภาพ และที่สำคัญที่สุดคือ ซอฟต์แวร์กล้อง ซึ่งแต่ละค่ายจะมีเทคนิคและการปรับจูนในแบบฉบับของตน ดังนั้นในส่วนนี้อาจต้องรีวิวการใช้งานจริงเป็นสำคัญ

แต่ส่วนที่สามารถพิจารณาได้ในเบื้องต้นคือ ระยะเลนส์ ซึ่งในช่วงหลังมานี้ สมาร์ทโฟนที่มีเลนส์ซูมไกล เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากเทรนด์นำมือถือไปถ่ายในงานคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์แทนกล้องดิจิทัล อาจเพราะบางงานไม่อนุญาตให้นำกล้องใหญ่เข้าไป หรือจะเพราะความสะดวกคุ้นชินก็ตามแต่ จนเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาคือ ปล่อยเช่ามือถือสำหรับคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ โดยรุ่นที่ตอบโจทย์จะต้องมีเลนส์เทเลโฟโตระยะออปติคัล 3 เท่าขึ้นไป

  • เริ่มต้น :
    – กล้องหลัง 2 ตัว
    – กล้องหลัก 48MP
    – กล้องอัลตราไวด์ 8MP
  • แนะนำ :
    – กล้องหลัง 3 ตัว
    – กล้องหลัก 48MP
    – กล้องอัลตราไวด์ 12MP
    – กล้องเทเลโฟโต 12MP, ซูมออปติคัล 3 เท่า

แบตเตอรี่และการชาร์จ

มือถือส่วนใหญ่ในตลาด มักมีแบตเตอรี่ความจุ 5000mAh หรือใกล้เคียง ยกเว้นรุ่นที่ชูจุดขายในแง่ความกะทัดรัดหรือเพรียวบาง อาจมีความจุลดหลั่นลงมาเพื่อให้ตัวเครื่องเล็ก บาง และเบา ส่วนระบบชาร์จไว จะเห็นผลลัพธ์ของความเร็วในการชาร์จในช่วง 1 – 30 นาทีแรก หากไม่ได้รีบร้อนอะไรมากนัก 18W ก็ไม่แย่แต่อย่างใด

  • เริ่มต้น :
    – ความจุ 5000mAh
    – รองรับชาร์จไว 18w
  • แนะนำ :
    – ความจุ 5000mAh
    – รองรับชาร์จไว 45w
    – รองรับชาร์จไร้สาย

การอัปเดตซอฟต์แวร์

ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ มือถือ Android เคยถูกปรามาศว่ามีระยะการอัปเดตสั้น ใช้งานได้ไม่นานก็ถูกลอยแพ แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2020 เมื่อ Samsung ประกาศขยายการอัปเดตระบบปฏิบัติการให้เป็น 3 รุ่น และทยอยปรับเพิ่มอีกหลายหน ซึ่งแนวทางของ Samsung ได้ไปกระตุ้นให้ผู้ผลิตมือถือ Android ค่ายอื่นต้องทยอยปรับตัวตาม จนกรอบเวลาการอัปเดต 3 ปีกลายมาเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับ Android แล้ว (นานสุดตอนนี้อยู่ที่ 8 ปี) ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนมือถือบ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุจำเป็น และการอัปเดตซอฟต์แวร์นั้นจะพ่วงมากับแพตช์ความปลอดภัย เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

  • เริ่มต้น :
    – ระบบปฏิบัติการ 3 เวอร์ชัน
    – ความปลอดภัย 4 ปี
  • แนะนำ :
    – ระบบปฏิบัติการ 4 เวอร์ชัน
    – ความปลอดภัย 5 ปี

ปัจจัยอื่น ๆ ที่นำมาพิจารณา

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน ซึ่งอาจมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจง ขอยกตัวอย่างบางส่วน ดังนี้

  • มาตรฐานความทนทาน IP67 สำหรับการใช้งานกลางฝน
  • มาตรฐานความทนทาน MIL-STD-810G สำหรับการใช้งานสมบุกสมบัน
  • ลำโพงสเตอรีโอ
  • วัสดุและดีไซน์ตัวเครื่อง
  • ฟีเจอร์ที่มีให้ใช้งานเฉพาะรุ่นนั้น ๆ
  • ศูนย์บริการหลังการขายครอบคลุม
  • มูลค่าในอนาคต กรณีขายต่อเป็นมือสองหรือเทรดอิน