ภายในงาน Spring Loaded เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัว AirTag สำหรับติดตามและระบุตำแหน่งสิ่งของ ซึ่งหากใครที่ไม่ได้รับชมงานเปิดตัวอาจพาลคิดไปว่า ของแบบนี้มันมีใช้กันมานานแล้ว ไม่เห็นน่าตื่นเต้นตรงไหนนี่นา ? แต่จริง ๆ แล้วอุปกรณ์เสริมขนาดจิ๋วชิ้นนี้มีความน่าสนใจแฝงอยู่หลายอย่าง เนื่องจากชิป U1 สุดเทพที่ฝังอยู่ด้านในนั่นเอง

เคล็ดลับความเทพอยู่ที่ชิป U1

Apple ได้มีการนำชิป U1 มาใช้กับอุปกรณ์ของตัวเองเป็นครั้งแรกตอน iPhone 11 ทำงานด้วยการส่งข้อมูลระยะใกล้โดยอาศัยคลื่นวิทยุความถี่สูง มีจุดเด่นด้านการรับรู้เชิงพื้นที่ที่ในระดับเซนติเมตร สามารถบอกทิศทางได้อย่างแม่นยำ เหนือกว่าทั้ง Bluetooth และ Wi-Fi อีกทั้งยังบริโภคพลังงานต่ำ แต่จะใช้งานร่วมกันได้กับอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีอัลตร้าไวด์แบนด์ (Ultra Wideband : UWB) เหมือนกันเท่านั้น

คุณสมบัติที่ UI ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ AirDrop ให้ดียิ่งขึ้น และในวันนี้ Apple ได้จับเอาชิปดังกล่าวยัดใส่เข้ามาใน AirTag ด้วย เป็นการนำเอาของเดิมที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ แถมยังเป็นการเสริมแกร่งให้กับระบบนิเวศน์ของตัวเองอีกต่างหาก

ทำงานผ่านโครงข่าย iOS ทั่วโลกจำนวนนับพันล้านเครื่อง

จริงอยู่ที่ AirTag เองก็ทำงานผ่าน Bluetooth เหมือนกับอุปกรณ์จำพวกนี้ของแบรนด์อื่น ๆ แต่ทว่า ต่อให้อยู่นอกระยะไปแล้วมันก็ยังสามารถบอกตำแหน่งได้จากการตรวจจับสัญญาณผ่านโครงข่าย Find My ที่มีอยู่ในอุปกรณ์ iOS ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ซึ่ง Apple เคลมว่า มีจำนวนนับพันล้านเครื่องเลยทีเดียว เป็นข้อได้เปรียบอย่างมหาศาลเลยล่ะครับ โอกาสหายหรือหาไม่เจอมีน้อยมาก ๆ

ไม่มีการบันทึกประวัติและเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมด

สำหรับใครที่ห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้นก็ไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด เพราะกระบวนการทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในเบื้องหลัง มีการเข้ารหัสข้อมูลตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ไม่มีการจัดเก็บประวัติตำแหน่งเอาไว้ในตัวอุปกรณ์ ปลอดภัยหายห่วงแน่นอน มีเพียงเจ้าของที่แท้จริงเท่านั้นที่เข้าถึงข้อมูลได้

มีฟีเจอร์ป้องกันการถูกแอบติดตามที่ไม่พึงประสงค์

นอกจากนี้ AirTag ยังมีคุณสมบัติป้องกันการถูกติดตามที่พึ่งประสงค์ เช่นในกรณีคุณภรรยาแอบนำไปหย่อนใส่ไว้ในกระเป๋าของคุณพ่อบ้านใจกล้า ตัวอุปกรณ์จะมีการส่งสัญญาณ Bluetooth ออกมาเป็นระยะ หาก AirTag อยู่ใกล้ตัวกับผู้ใช้งานที่ไม่ใช่เจ้าของเป็นเวลานานเกินไป (โดยที่เจ้าของไม่ได้อยู่ในระยะใกล้) จะส่งเสียงเตือนและปรากฏข้อความบนอุปกรณ์ iOS และสามารถสั่งปิดการทำงานของ AirTag นั้น ๆ ได้ในทันที รวมถึงเปิดอ่านหมายเลขซีเรียลได้ด้วย ฝั่งผู้ใช้งานอุปกรณ์ Android สามารถทำแบบนั้นได้เหมือนกัน แต่จำเป็นต้องมี NFC นะ

สั่งให้พูดตำแหน่งและทิศทางของตัวเองได้

ยิ่งไปกว่านั้น ลำโพงภายในตัว AirTag ไม่ได้ทำแค่ส่งเสียงแจ้งเตือนเท่านั้นนะครับ เราสามารถสั่งงานผ่านเสียงให้มัน “พูด” ตำแหน่งของตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจนเลย เช่น “อยู่ห่าง 5 เมตรไปทางด้านขวา” ดังนั้นผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นก็ใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา

iPhone รุ่นไหนบ้างที่มีชิป U1

การที่ AirTag จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อุปกรณ์ที่นำมาจับคู่ก็จำเป็นที่จะต้องมีชิป U1 ด้วย จนถึงตอนนี้มีอยู่ใน iPhone 11 (ทุกรุ่น), iPhone 12 (ทุกรุ่น), Apple Watch Series 6 และ HomePod mini

  • iPhone 11, iPhone 11 Pro, iPhone 11Pro Max
  • iPhone 12, iPhone 12 mini, iPhone 12 Pro, iPhone 12Pro Max
  • Apple Watch Series 6
  • HomePod mini

ราคาและการวางจำหน่าย

Apple ประกาศราคา AirTag ออกมาที่ชิ้นละ 990 บาท มีแพ็ก 4 ชิ้น ให้เลือกในราคา 3,390 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 847.5 บาท) ส่วนห่วงคล้องและพวงกุญแจต้องซื้อแยกโดยมีราคาตั้งแต่ 1,190 – 1,590 บาท (แพงกว่าตัว AirTag อีกแฮะ ฮ่า ๆ) เปิดให้พรีออร์เดอร์กันได้ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 และจะเริ่มจัดส่งในวันที่ 30 เมษายน 2564 ต่อไป

ปล. AirTag ใช้ถ่านกระดุม CR2032 ในการทำงาน หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป สามารถถอดเปลี่ยนเองได้ มีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี

 

ดูเพิ่มเติม : Apple (1, 2)