หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Apple พยายามล็อบบี้หาทางแทรกแซงเพื่อต่อต้านกฎหมาย Right-to-Repair ของรัฐแคลิฟอร์เนีย มาตั้งแต่ปี 2019 ล่าสุด Apple เหมือนจะยอมอ่อนข้อ ออกมาสนับสนุนกฎหมายที่ว่านี้ และตอนนี้ทาง Apple ก็ได้เริ่มโปรแกรมขายอะไหล่แท้ให้กับผู้ใช้งาน และร้านซ่อมที่ได้รับการรับรองให้ซ่อมเครื่องได้ด้วยตัวเองแล้ว

iFixit ได้ออกมาเผยว่า ทาง Apple ได้ส่งจดหมายถึงวุฒิสมาชิกของรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อสนับสนุนให้สภารัฐแคลิฟอร์เนียรับร่างกฎหมาย SB 244 หรือ Right-to-Repair ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับผู้ผลิตมือถือ และอุปกรณ์ IT อื่น ๆ ให้อิสระกับผู้ใช้งาน และร้านซ่อมอื่น ๆ ได้ซ่อมสินค้าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเข้าศูนย์ และจะต้องบริการอะไหล่แท้ และให้ข้อมูลวิธีการซ่อมกับผู้ใช้งาน

และที่ Apple เปลี่ยนใจมายินดีที่จะสนับสนุนกฎหมายนี้ เพราะในร่างกฎหมายมีส่วนที่ระบุว่า “ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียด ออกเครื่องมือ หรือโดนบังคับให้ปิดหรือลดทอนความสามารถของระบบรักษาความปลอดภัยของตัวเครื่อง หรือทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ในตัวเครื่องเสี่ยงต่อถูกการโจรกรรมข้อมูล” ซึ่งรายละเอียดตรงนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบสแกนใบหน้า Face ID โดยตรง

และกฎนี้ยังบังคับให้ร้านซ่อมแจ้งลูกค้าทุกครั้ง หากใช้อะไหล่เทียบ หรืออะไหล่มือ 2 ที่แกะจากเครื่องอื่นมาใช้ในการซ่อมเครื่องด้วย

เบื้องต้นทาง Apple ก็ได้เริ่มนำร่องเปิดบริการ Self Service Repair Program ขายอะไหล่ พร้อมเครื่องมือในการซ่อมสินค้าต่าง ๆ ทั้ง iPhone 14 Series และ MacBook ชิป M2 ทุกรุ่น เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปี 2023 รวมถึงเปิดให้ร้านซ่อมมือถือต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นตัวแทนร้านซ่อมที่ได้รับการรับรอง พร้อมบริการอะไหล่แท้ให้ (Apple Authorized Service / Independent Repair Provider Program)

อุปกรณ์ที่ได้ หากเข้าร่วมโครงการ Self Service กับ Apple (ภาพจาก Sean Hollister / The Verge)

อย่างไรก็ตามร้านซ่อมต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Independent Repair Provider Program เพื่อขอซื้ออะไหล่แท้กับ Apple ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ เพราะทาง Apple บังคับให้ร้านค้าเซ็นสัญญาสุดโหด ที่อนุญาตให้ Apple สุ่มตรวจร้านซ่อม หากพบว่าใช้อะไหล่เทียบก็จะโดนปรับ และหากเปลี่ยนใจไม่ร่วมโครงการ Apple ก็มีสิทธิ์เข้าตรวจร้านค้าอีก 5 ปี แถมยังบังคับร้านซ่อมให้นำข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรลูกค้าส่งให้ Apple ด้วย

ส่วนอะไรแท้ที่ Apple ขายให้ผู้ใช้งานได้นำไปซ่อมกันเองก็มีราคาที่ค่อนข้างสูง ไม่ต่างจากการเดินเข้าไปซ่อมที่ศูนย์เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามกฎที่ว่านี้ก็ยังมีข้อดีอื่น ๆ เช่น บังคับให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องผลิต และซัพพอร์ตอะไหล่ในการซ่อมสินค้าที่มีราคาเกิน 99.99 เหรียญฯ หรือราว ๆ 3,500 บาทไปอีก 7 ปี แถมยังเป็นการบังคับให้ Apple ต้องเปลี่ยนการดีไซน์ของ iPhone 15 ทุกรุ่นให้ซ่อมเองได้ง่ายขึ้นด้วย

 

ที่มา: The Verge, MacRumors