ตามปกติแล้วสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายหากชำรุดหรือเสียหายขึ้นมา มักมีข้อกำหนดให้ดำเนินการส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรงหรือศูนย์บริการที่ได้รับการรับรองเท่านั้น มิเช่นนั้นการรับประกันจะถือเป็นอันสิ้นสุดทันที ด้วยข้อจำกัดนี้อาจทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งล่าสุด โจ ไบเดน ได้ผุดไอเดีย เสนอให้ร่างกฎหมาย “Right-to-Repair” ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

อัปเดต : 22 กรกฎาคม 2564

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา FTC โหวตร่างกฎหมาย Right-to-Repair แล้ว มติเป็นเอกฉันท์ที่ 5-0 เสียง เพื่อแก้ไขปัญหาการจำกัดการซ่อมแซมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคจากผู้ผลิต (เนื้อหาเดิมอ่านได้ที่ด้านล่างเป็นต้นไป)

สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมลงนามคำสั่งให้คณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission: FTC) ไปร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ในการซ่อมแซมภายในไม่กี่วันข้างหน้า รวมถึงมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับแนวทางและขอบเขตของคำสั่ง คาดว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบคือบรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ รวมถึงผู้รับเหมาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ได้ประโยชน์ทั้งผู้บริโภคโภคและช่างซ่อมอิสระ

กฎหมายสิทธิ์ในการซ่อมแซมนี้ในฝั่งของผู้บริโภคจะได้รับอิสระในการซ่อมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ส่วนฝั่งผู้ให้บริการซ่อมที่เป็นบุคคลที่สามจะได้รับสิทธิ์ในการจัดซื้ออะไหล่ เครื่องมือ และคู่มือการซ่อมต่าง ๆ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของทั้งสองฝ่าย เพิ่มความสะดวกสะบาย และอาจลดปัญหาในการรอคิวซ่อมหรือรอเบิกอะไหล่นาน ๆ

แต่ทั้งนี้เหล่าผู้ผลิตอาจไม่ปลื้มด้วยเท่าไหร่ โดย Apple เป็นหนึ่งในบริษัทที่แสดงท่าทีต่อต้านกฎหมายสิทธิ์ในการซ่อมแซมอย่างชัดเจนมาตลอด พยายามการปิดกั้นด้วยวิธีต่าง ๆ นานา อย่างในกรณีที่ใช้อะไหล่เทียบอาจทำให้อุปกรณ์ทำงานได้ไม่สมบูณร์หรือปรากฏข้อความแจ้งเตือน อะไรทำนองนั้น

จนกระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Apple ได้ยอมอ่อนข้อ เปิดให้ผู้ให้บริการซ่อมอิสระ (ภาษาบ้านเราเรียกง่าย ๆ ว่า “ร้านตู้” นั่นแหละครับ) เข้าถึงอะไหล่แท้ได้ในราคาเดียวกับศูนย์บริการที่ที่รับอนุญาตจากบริษัทฯ (Apple Authorized Service Provider: AASP) แล้วในที่สุด ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ออกกฎหมายสิทธิ์ในการซ่อมแซมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เหตุผลหลักที่มีการผลักดันให้เกิดขึ้นคือความต้องการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลกนั่นเอง

ดาบสองคมที่ควรระวัง ช่างซ่อมอาจขโมยข้อมูลของลูกค้าได้

เป็นที่เข้าใจว่าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นห่วงเรื่องช่องโหว่ด้านความปลอดภัย รวมถึงมาตรฐานด้านการซ่อมจากบุคคลที่สาม ขนาดลูกค้าใช้บริการกับ Apple โดยตรงยังเคยโดนช่างซ่อมของบริษัทฯ แอบเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเลย จนท้ายที่สุดต้องจ่ายเสียหายบานเบอะไปเป็นเงินหลายล้านเหรียญ ดังนั้นขอแนะนำว่า ก่อนจะนำมือถือไปซ่อมที่ไหน ให้ทำการสำรองข้อมูลและคืนค่าโรงงาน หรืออย่างน้อย ๆ ควรตั้งรหัสผ่านเอาไว้จะเป็นการดีที่สุดครับ

 

ที่มา : Bloomberg