DXOMARK ได้เปิดเผยผลทดสอบกล้องและการถ่ายภาพของ iPhone 12 Pro สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดจาก Apple ออกมาแล้ว ได้คะแนนรวมไปที่ 128 แต้ม เหนือกว่ารุ่นก่อนเล็กน้อย แบ่งเป็นภาพนิ่ง 135 แต้ม ซูม 66 แต้ม และวิดีโอ 112 แต้ม คว้าอันดับ 5 ไปครอง

สเปคกล้อง iPhone 12 Pro

  • กล้องหลัก : 12MP (ขนาดพิกเซล 1.4µm), ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 26 มม., รูรับแสง ƒ/1.6, PDAF, OIS
  • กล้องอัลตร้าไวด์ : 12MP, ขนาดเซนเซอร์ 1/3.6 นิ้ว, ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 13 มม. (เพิ่มขึ้นเป็น 14 มม. หลังการปรับภาพด้วยซอฟต์แวร์), รูรับแสง ƒ/2.4
  • กล้องเทเลโฟโต้ : 12MP, ขนาดเซนเซอร์ 1/3.6 นิ้ว, ความยาวโฟกัสเทียบเท่า 52 มม., รูรับแสง ƒ/2.0, PDAF, OIS
  • เซนเซอร์ LiDAR สำหรับประมวลผลความลึก
  • แฟลช LED คู่
  • บันทึกวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K รองรับ Dolby Vision HDR ที่ 24 / 30 / 60 fps (ทดสอบที่ 2160p ที่ 30 fps)

ผลการทดสอบการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ

คะแนนรวมของ iPhone 12 Pro Max มีการขยับขึ้นมาจาก iPhone 11 Pro Max เมื่อปีที่แล้วเล็กน้อย จากเดิม 124 แต้ม เพิ่มขึ้นเป็น 128 แต้ม ปัจจุบันรั้งอันดับ 5 ของตารางคะแนน ถัดจาก iPhone 12 Pro Max (130 แต้ม) จากค่ายเดียวกัน ตามด้วย HUAWEI P40 Pro (132 แต้ม) และ Xiaomi Mi 10 Ultra (133 แต้ม) ส่วนแชมป์ยังคงเป็น Mate 40 Pro (136 แต้ม) จาก HUAWEI เจ้าเดิม


iPhone 12 Pro วัดแสงตัวแบบได้ดี และเรนเดอร์สีสันได้สวยงามในสถานการณ์ส่วนใหญ่

จุดเด่นที่สุดของ iPhone 12 Pro คือ ระบบออโต้โฟกัสที่ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำสุดขีดในแทบทุกสภาวะการใช้งาน ภาพพรีวิวจากหน้าจอแสดงผลลัพธ์ได้ใกล้เคียงกับรูปที่ถ่ายออกมาเป็นอย่างมาก เหนือกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ DXOMARK เคยทดสอบมา


กราฟแสดงผลการทดสอบไดนามิกเรนจ์ของสมาร์ทโฟนรุ่นต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม iPhone 12 Pro มีไดนามิกเรนจ์ที่ค่อนข้างจำกัด หากเจอกับสภาพแสงยาก ๆ เช่น กรณีถ่ายย้อนแสง ซึ่งอาจสูญเสียรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างไป จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่า ความสว่างที่ต่างกัน 2EV และ 4EV ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ iPhone 12 Pro เลย มีผลการทดสอบสูสีกับสมาร์ทโฟนระดับท็อปรุ่นอื่น ๆ ที่นำมาเปรียบเทียบ แต่พอขยับขึ้นเป็น 7EV แล้ว ประสิทธิภาพลดลงอย่างชัดเจน

ภาพตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า iPhone 12 Pro มีไดนามิกเรนจ์ที่ค่อนข้างจำกัด

การถ่ายทั่วไปในสภาวะแสงกลางแจ้งนั้น iPhone 12 Pro ทำได้ดีมาก ๆ ให้รายละเอียดในภาพรวมและพื้นผิวดีที่สุดตั้งแต่ความสว่างที่ระดับ 100 ลักซ์เป็นต้นไป เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนเรือธงค่ายอื่น


iPhone 12 Pro ถ่ายภาพในสภาวะแสงกลางแจ้งได้ดีมาก ๆ

การถ่ายภาพกลางคืนอาจไม่ใช่จุดแข็งของ iPhone 12 Pro เท่าไหร่นัก แม้จะพัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนก็ตาม จากภาพตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความสว่างของตัวแบบที่อันเดอร์ไปนิดนึง และเมื่อพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นได้ว่า มีนอยส์เกิดขึ้นเพียบเลย แถมรายละเอียดก็ไม่ค่อยดีอีกด้วย

ปิดท้ายด้วยหัวข้อการถ่ายวิดีโอ โดย DXOMARK กล่าวว่า คะแนน 112 แต้ม ในหมวดหมู่นี้มาจากประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการถ่ายภาพนิ่ง ซึ่งในการทดสอบจะถ่ายด้วยความละเอียด 4K ที่ 30 fps พร้อมเปิดโหมด HLG Dolby Vision

iPhone 12 Pro ถ่ายวิดีโอได้ดีในสถานการณ์ส่วนใหญ่ แม้แต่การถ่ายในที่แสงน้อยก็ยังสามารถหวังผลและเอามาใช้งานจริงได้ สามารถเรนเดอร์สีสันโดยรวมและสีผิวได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีข้อติดเล็กน้อยคือ ไวต์บาลานซ์ที่ไม่มั่นคง และการปรับระดับความสว่างที่กระโชกกระชากไปนิด

Play video

ข้อดี

  • ระบบออโต้โฟกัสทำงานได้แม่นยำและเสมอต้นเสมอปลายในทุกสถานการณ์
  • วัดแสงตัวแบบได้เหมาะสมทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ
  • เรนเดอร์สีสันได้ดีในสภาวะแสงในร่ม
  • เก็บรายละเอียดได้ดีทั้งสภาพแสงจ้าและแสงในร่ม
  • เรนเดอร์สีสันโดยรวมและสกินโทนได้สวยงามในการถ่ายวิดีโอ
  • ระบบกันสั่นสำหรับการถ่ายวิดีโอค่อนข้างหวังผลได้

ข้อสังเกต

  • ไดนามิกเรนจ์ไม่กว้างเท่าไหร่ ทำให้เกิด “ดำจม” หรือ “ขาวล้น” ได้
  • หากถ่ายในสภาวะแสงกลางแจ้ง ภาพมักจะอมเขียวหรือฟ้า
  • มีนอยส์เกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแสงน้อยหรือแสงในร่ม
  • จัดการกับ artifact ต่าง ๆ ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น สีแตก แสงสะท้อนในภาพ และการเหลือบสีที่ขอบวัตถุ
  • การถ่ายวิดีโอมีปัญหาสีเพี้ยนนิดหน่อย
  • สูญเสียรายละเอียดในภาพ สำหรับการถ่ายวิดีโอในร่มและที่แสงน้อย
  • อัลกอริทึมบีบอัดภาพประมวลผลไม่ดี ทำให้สีแตก และมีแฟลร์เกิดขึ้นในการถ่ายวิดีโอ

โดยสรุปแล้ว iPhone 12 Pro มีกล้องที่ทรงพลัง ถ่ายภาพออกมาได้ดีในแทบทุกสถานการณ์ โดดเด่นอย่างยิ่งในการถ่ายวิดีโอ ด้วยเทคโนโลยี HLG (Hyper Log Gamma) Dolby Vision HDR ทำให้มีไดนามิกเรนจ์กว้างสุด ๆ เหนือสมาร์ทโฟนหลายรุ่น จุดสังเกตเดียวคือ เลนส์เทเลโฟโต้ของ iPhone 12 Pro มีระยะการซูมที่ไม่ไกลเท่าไหร่ เทียบเท่า 52 มม. หรือประมาณ 2x แต่ถ้าตัดข้อนี้ออกไป ที่เหลือก็ครอบคลุมการใช้งานทั่วไปสบาย ๆ ครับ

 

ที่มา : DXOMARK