ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก สตรี หรือแรงงานเถื่อนยังคงมีเกิดขึ้นใกล้ตัวเราโดยไม่รู้ตัว สถิติจาก UNICEF เปิดเผยว่ามีเด็กกว่า 40,000 คน ถูกใช้แรงงานในการทำเหมืองแร่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นแหล่งแร่โคบอลต์ที่ใช้ในการผลิตส่วนประกอบของแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออน ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างสมาร์ทโฟน หรือ Gadget ที่เราใช้งานกันอย่างมีความสุขอยู่ทุกวี่วัน (; w ; )

          Amnesty International องค์กรอิสระที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและ African Resources Watch (Afrewatch)ได้เปิดเผยรายงานร่วมกันว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการไอที อาทิ Apple, Samsung, Sony, Microsoft, Lenovo, Huawei และอีกหลายเจ้า เข้าข่ายอาศัยประโยชน์จากแรงงานเด็กในแอฟริกา เพื่อหาแร่โคบอลต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำแบตเตอรี่ ลิเที่ยมไออน (Li-on)

          แม้ว่าทางบริษัทไอทีทั้งหลายที่มีรายชื่อจะไม่ได้เป็นผู้สั่งการโดยตรง แต่ถือว่าเป็นการสนับสนุนโดยรับวัตถุดิบอย่าง โคบอลต์ มาจากบริษัททำเหมืองแร่ Congo Dongfang Mining ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนอย่าง Zhejiang Huayou Cobalt Ltd. โดยบริษัทดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้แรงงานเด็กในการทำเหมืองแร่อย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

          คองโกเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองแร่ Cobalt มากถึง 50% ในโลก แต่คนงานที่ทำงานก็ต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพ และความเสี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ จากการทำเหมือง นอกจากนี้ทาง Amnesty  ก็พบปัญหาการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งจากการสัมภาษณ์เด็กที่ทำงานในเหมืองโคบอลต์ พบว่าเด็กๆ แต่ละคนต้องทำหลายหน้าที่ทั้งขุดเจาะหาแร่บนพื้นผิว และอาจต้องลงไปขุดในเหมืองลึกที่มีความเสี่ยงและอันตราย รวมถึงทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง แทบไม่มีเวลาพัก

          ทาง Amnesty Internatonal ได้ทำการติดต่อ 16 บริษัทไอทีที่อยู่ในรายชื่อลูกค้าของบริษัท Zhejiang Huayou Cobalt Ltd. โดยมีเพียงบริษัทเดียวที่ยอมรับว่ามีการติดต่อ ในขณะที่อีก 4 บริษัทไม่สามารถจะบอกได้ว่ารับโคบอลต์มาจากไหน อีก 7 บริษัทปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง และ 6 บริษัทที่เหลือกำลังทำการสอบสวนแหล่งที่มาของแร่โคบอลต์ตามที่มีการเรียกร้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งทาง Apple, Samsung และ Sony วางตัวอยู่ในจุดที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการไม่ร่วมงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ รวมถึงถ้ามีการตรวจสอบพบก็จะยุติการร่วมงานทันที แต่สำหรับประเด็นการใช้แรงงานเด็กนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนจนสามารถเอาผิดได้

          Mark Dummett หนึ่งในนักวิจัยของ Amnesty International ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า การทำเหมืองแร่เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความรุนแรงในประเด็นเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งน่าแปลกใจที่บริษัทที่มีผลกำไรทั่วรวมกว่า 125 ล้านดอลลาร์ จะไม่มีความสามารถในการตรวจสอบแหล่งที่มาของโคบอลต์ที่นำมาใช้ได้

          อย่างไรก็ตามการจุดประเด็นเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาทำสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่เล็คทรอนิกส์ที่เราใช้กันนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมาย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ หวังว่าจะมีส่วนช่วยให้องค์กร หรือบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการตื่นตัวในการตรวจสอบและตื่นตัวเรื่องประเด็นการใช้แรงงานมากขึ้นค่ะ 😀

Source: bbc, phandroid