โดยปกติพวกเราคงไม่ได้อยากให้ใครมาเล่นสมาร์ทโฟน อ่านนู่นดูนี่ เอาภาพในอัลบั้มไปดูโดยที่เราไม่ยินยอม เพราะในยุคนี้พวกเราเก็บข้อมูลต่างๆแทบจะทั้งชีวิตเอาไว้อยู่ในอุปกรณ์ชิ้นเท่าฝ่ามือนี้ แต่เราก็ได้เห็นความพยายามที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวนี้อยู่ตลอด รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลเอง โดย Apple ผู้ผลิต iPhone ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกกดดันให้เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ โดยอ้างถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศ ที่เจ้าหน้าที่จะสามารถหยุดโศกนาฎกรรมได้ก่อนที่จะเกิด ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในระดับสากลเลยว่าเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่ แต่สุดท้ายทางบริษัทก็ได้ทำการตัดสินใจปฎิเสธคำร้องขอของหน่วยงานรัฐ และส่งจดหมายชี้แจงถึงผู้ใช้แล้ว

เรื่องนี้เกิดขึ้นมาจาก เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว หากใครได้ดูข่าวของประเทศสหรัฐอเมริกาก็คงจะจำได้ว่า มีเหตุการณ์ก่อการร้ายของคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งที่สังหารหมู่ผู้คนในเมือง San Bernandino ไปถึง 14 ศพ โดยทาง FBI ของประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ทำการเก็บ iPhone 5C ของผู้ก่อการร้ายมา แต่ว่าไม่สามารถที่จะปลดล็อคเครื่องได้ จึงหันไปหา Apple ให้ช่วยเหลือ

รูปจาก Tapsmart

เนื่องจาก ตั้งแต่ iOS 8 ขึ้นไป ทาง Apple ได้ทำการใช้วิธีการเข้ารหัส (encrypt) สำหรับรหัสปลดล็อคเครื่องแบบใหม่ และทาง Apple ก็ไม่ได้เก็บกุญแจสำหรับการเข้ารหัส (encryption keys) เอาไว้ด้วย ทำให้ Apple เองก็ไม่สามารถที่จะปลดล็อคเครื่องได้ ซึ่งทาง FBI จึงขอให้ Apple นั้นทำระบบ iOS ชุดใหม่ที่สามารถข้ามผ่านหน้าจอปลดล็อคเครื่อง (bypass) ไปได้ หรือที่ทาง Apple เรียกว่าระบบประตูหลัง (backdoor) นั่นเอง

ถึงแม้ว่าทาง FBI จะขอให้ Apple ทำระบบ backdoor มาเพื่อใช้กับ iPhone ของผู้ก่อการร้ายในครั้งนี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ทางนาย Tim Cook ซีอีโอของ Apple ก็รู้สึกว่า การทำระบบ backdoor สำหรับ iPhone นั้นเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก ซึ่งถ้าตกไปถึงมือเหล่ามิจฉาชีพจะที่มีความเชี่ยวชาญละก็ จะทำให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าเครื่อง iPhone เครื่องใดก็ได้ทันที ส่วนใครที่อยากอ่านสิ่งที่ทาง Tim Cook เขียนแบบเต็มๆ ตามลิงก์แรกด้านล่างได้เลยนะครับ

รูปจาก The Verge

โดยตอนนี้ไม่ใช่แค่ Tim Cook คนเดียวเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เพราะนาย Sundar Pichai ซีอีโอของ Google ก็ได้ออกมาทวีตว่าเห็นด้วยกับทางฝั่ง Apple ในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเป็นที่เรียบร้อย หรือเรียกได้ว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกออกมายืนยันว่าจะไม่ให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว นาย Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ก็ได้เคยออกมาเรียกร้องทางรัฐบาลให้หยุดคุกคามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปแล้วทีนึง พร้อมแซะหน่วยงานรัฐว่าทางวิศวกรของ Facebook นั้นทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะป้องกันข้อมูลผู้ใช้จากเหล่ามิจฉาชีพ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาสู้รบกับรัฐบาลของตนเอง

รูปจาก The Guardian

ถ้าย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา ก็จะเริ่มจะเห็นว่าทางรัฐบาลไทยเริ่มที่จะขอคัดกรองข้อมูลจาก 3 บริการหลักของประเทศไทยอย่าง Google, LINE และ Facebook แล้ว โดยก่อนหน้านี้ทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปก็ได้เข้าไปคุยกับทาง Google เป็นที่เรียบร้อย เพื่อขอให้ Google ช่วยถอดเว็บไซต์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ และสถาบัน แต่ว่าในปัจจุบันทาง Google ก็มีการถอดเว็บไซต์และสื่อที่ผิดกฎหมายพวกนี้ออกเองอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอ

ส่วนของ LINE นั้นก็เคยมีข่าวว่ามีคนถูกจับเนื่องจากทำการแชร์วิดีโอล้อเลียนนายกฯให้กับเพื่อนมาแล้วรอบนึง เป็นไปได้ว่าทางรัฐบาลไทยนั้นสามารถถึงข้อมูลของ LINE เพื่อที่จะคัดกรองเนื้อหาที่กระทบต่อรัฐบาลได้แล้ว แต่สำหรับทาง Facebook นั้นยังคงเงียบในเรื่องนี้อยู่

เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่การที่จะเข้าถึงข้อมูลแบบไม่ได้รับอนุญาตก็เหมือนเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทางหนึ่ง ซึ่งการเฝ้าตรวจสอบข้อมูลแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป ส่วนเหตุการณ์จะจบอย่างไรก็รอดูกันต่อไปนะครับ

แล้วเพื่อนๆล่ะ คิดว่ายังไง? รัฐบาลควรมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่คุกคาม หรือควรจะปล่อยให้มันปลอดภัยแบบนี้ต่อไป?

 

 

อ้างอิงจาก:

Apple, The Verge (1, 2) :: ข่าว Apple ปฎิเสธการเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้

Twitter :: Tweets ของซีอีโอ Google ที่เห็นด้วยกับทาง Apple

The Guardian :: ข่าวการโวยรัฐบาลของ Mark Zuckerburg

Prachatai, The Nation :: ข่าวการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของภาครัฐในไทย