ถ้าเกิดว่าก่อนหน้านี้ที่ Huawei ถูกระงับ Android License ว่าหนักแล้ว เจอข่าวนี้เข้าไปเรียกว่าล้มตึงกันเป็นแถบ เมื่อบริษัทเจ้าของชุดคำสั่งที่ใช้กันแทบจะทุก CPU ของอุปกรณ์พกพาทั่วโลกอย่าง ARM ได้มีการส่งจดหมายเวียนภายในให้ยุติการทำธุรกิจร่วมกับ Huawei ตามคำสั่งของอเมริกาแล้วโดยมีผลบังคับใช้ทันที ทำให้ Huawei ไม่สามารถพัฒนาชิปเซต Kirin และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ ARM ต่อไปในอนาคตได้อีก

นอกจากนี้พนักงายภายใต้บริษัท ARM ยังจะถูกสั่งไว้อีกว่าไม่ให้เจรจาอะไรใดๆ ทั้งสิ้นกับทาง Huawei และแบรนด์ลูกอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ (Entity List) ครั้งนี้ สาเหตุของการแบนครั้งนี้เป็นเนื่องมาจากที่ ARM เชื่อว่าทางบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ไปด้วย เนื่องจากชิ้นส่วนของสินค้าที่ทางบริษัทผลิตถือว่ามีจุดกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา

*Updated* มีการยืนยันข่าวนี้จากทั้ง Huawei และ ARM แล้ว

คำแถลงจากโฆษกของ Huawei (ผ่าน TheVerge)

พวกเราให้ค่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีต่อพาร์ทเนอร์ต่างๆของเรา แต่รับรู้ดีถึงแรงกดดันที่มีต่อพวกเขา และการตัดสินใจต่างๆต้องถูกชักจูงจากการเมือง เรามั่นใจว่าสถานการณ์อันหดหู่นี้จะได้รับการคลี่คลาย และเรายังคงให้ความสำคัญกับการนำเอาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีระดับโลกมาสู่มือผู้บริโภคทั่วโลกอย่างไม่หยุดยั้ง – โฆษก Huawei

คำแถลงจาก ARM (ผ่าน Android Authority)

ARM ได้ปฎิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล U.S. และเจรจาพูดคุยอย่างต่อเนื่องกับเอเจนซี่ของหน่วยงานรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทปฎิบัติตามข้อกำหนด บริษัทได้ให้ความสำคัญกับ HiSilicon (บริษัทลูกค้าผลิตชิปของ Huawei) ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กันมาอย่างยาวนาน และหวังว่าปัญหานี้จะแก้ได้ได้โดยเร็ว

ARM คืออะไร ทำไมถึงทำให้ Huawei ชิปหายได้

ARM คือบริษัทออกแบบชิปเซ็ทที่ก่อตั้งเมื่อปี 1990 ซึ่งเมื่อกันยายน 2016 ที่ผ่านมาบริษัทได้ถูกเทคโอเวอร์โดยบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Softbank และมีสำนักงานใหญ่ที่อเมริกา ณ เมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอเนีย รวมถึงมีออฟฟิศในรัฐต่างๆ ทั้งวอชิงตัน แอริโซน่า เท็กซัส และแมสซาชูเซส อีกด้วย ซึ่งตัว ARM เองไม่ได้ผลิตชิปเซ็ทโดยตรง แต่จะให้ไลเซนส์ให้กับผู้อื่นที่ต้องการจะผลิตหรือพัฒนาชิปของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นเมื่อเราได้ยินว่าสมาร์ทโฟนของเรานั้นขับเคลื่อนด้วยชิปเซ็ต Samsung Exynos, Qualcomm Snapdragon,Apple A11 หรือแม้กระทั่ง Kirin ของทาง Huawei เอง ทุกตัวที่กล่าวมาถือว่ายังต้องพึ่งพาใบอนุญาตจาก ARM ก่อนทั้งนั้น หมายความว่าถ้าไม่มี ARM ก็จะไม่มีชิปเซ็ทเกิดขึ้นนั่นเอง โดยบริษัท ARM เห็นเงียบๆแบบนี้ ตัวบริษัทเองมีมูลค่าอยู่สูงถึง 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ใบอนุญาตของ ARM เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ARM ไม่ได้ผลิตชิปเซ็ทโดยตรง แต่ว่าให้ไลเซนส์เทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์แก่ชาวบ้าน ในบางกรณีก็อาจจะให้เฉพาะสถาปัตยกรรมของ ARM หรือ “ชุดคำสั่ง” ที่บอกตัวประมวลผล (processors) ว่าจะจัดการกับคำสั่งต่างๆอย่างไร และในบางเคสก็จะให้ไลเซนส์เกี่ยวกับตัวประมวลผลของ ARM เองซึ่งจะบอกถึงวิธีการที่ทรานซิสเตอร์ในชิปจะต้องเรียงตัวอย่างไร ทำงานร่วมกับส่วนอื่นๆเช่น หน่วยความจำหรือตัวรับส่งสัญญาณอย่างไร จนสร้างขึ้นมาให้เสร็จกลายเป็น SoC (System-on-Chip) หรือชิปเซตซักตัวนึงที่วางขายนั่นเอง

ไม่แคร์โลก ไม่สนสิทธิบัตร จะใช้ ARM ต่อใครจะทำไม

ในกรณีนี้มีบางคนมองว่าไหนๆก็จะโดนแบน ปิดกั้นกันแบบไม่เป็นธรรมแบบนี้ ก็อย่าไปแคร์อะไรละเมิดสิทธิบัตรเอามาพัฒนาต่อให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลยจะได้มั้ย ซึ่งตามที่ผู้เขียนเข้าใจคือจะทำก็ทำได้ถ้าจะขายแค่ในจีนและประเทศที่ไม่ได้สนใจทรัพย์สินทางปัญญา เพราะคงไม่มีใครไปตามจับหรือฟ้องร้อง แต่ตัว Huawei จะไม่สามารถเข้าไปจำหน่ายในประเทศแถบยุโรปหรือประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ซึ่งประเทศเหล่านั้นต่างมีกำลังซื้อที่มหาศาลและทาง Huawei ก็ต้องการที่จะเข้าไปตีตลาดให้ได้อยู่ด้วยนั่นเอง

Kirin ที่วางขายอยู่ไม่ได้รับผลกระทบ ยังใช้งานได้เหมือนเดิม

เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ขอเขียนหัวข้อนี้เอาไว้ใหญ่ๆสักนิดนึง ว่าแม้จะมีการแบนเกิดขึ้นแต่ Huawei จะยังสามารถวางจำหน่าย Kirin รุ่นปัจจุบันทั้งหมดได้ตามปกติ รวมถึงชิปเซ็ทตัวที่กำลังจะถูกใส่ไว้ในสมาร์ทโฟน Huawei รุ่นถัดไปอย่าง Kirin 985 ด้วย ซึ่งหาก Huawei สร้าง OS ของตัวเองขึ้นมาก็น่าจะต้องใช้งานภายใต้ Kirin รุ่นเดิมๆไปก่อน ดังนั้นไม่ต้องตื่นตูมไปว่าเครื่องตัวเองจะใช้งานไม่ได้นะ ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆคือ ชิปเซ็ทตัวใหม่ที่ทาง Huawei กำลังจะผลิตหรือพัฒนา อาจจะเป็นหมันไปเลย เรียกว่าจะสร้างชิปเซตตัวเองขึ้นใหม่ก็ต้องเริ่มศูนย์ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายอันมหาศาล รวมถึงที่ลงทุนไปกับ Kirin ก่อนหน้าก็อาจจะกลายเป็นศูนย์ทั้งหมดได้เลย

คาด ARM จำใจทำตามอเมริกาเพื่อเลี่ยงปัญหา

Huawei ถูกใส่ชื่อเข้าไปในบัญชีดำ ห้ามทำการค้าขายของประเทศสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน และถึงแม้ว่าทางสหรัฐฯ เองจะยอมผ่อนผันให้ Huawei 90 วัน เพื่อให้สามารถดูระบบและอัพเดทมือถือได้ ไม่ให้กระทบผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม จากคำรายงานของ ARM ที่ให้การต่อ BBC เผยว่า ทางพนักงานทุกคนได้รับคำสั่งมาให้หยุดทำงานกับ Huawei และแบรนด์ลูกอื่นๆ ทันที แม้ว่าจะอยู่ในระยะผ่อนผัน 90 วันก็ตาม โดยทาง BBC ได้ให้ข้อมูลว่าทั้งสองบริษัท Huawei – ARM จริงๆแล้วค่อนข้างรักกันอยู่ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งมีข่าวว่า Huawei เตรียมจะสร้างศูนย์วิจัยเพิ่มเติมขึ้นอีกแห่งใกล้ๆกับสำนักงานใหญ่ของ ARM ที่แคมบริดจ์อีกด้วย

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าการดำเนินการในครั้งนี้ของ ARM เป็นคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ หรือเป็นการตีความไปเองของบริษัท แต่หากการตีความในครั้งนี้ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเลยทีเดียว

 

ที่มา: BBC via androidauthority