ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการจัดการ มิจฉาชีพหลอกดูดเงิน หากโอนมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินต่อวัน จะต้องยืนยันตัวตนด้วยการ สแกนใบหน้า เป็นการแก้เผ็ดพวกโจรได้อย่างดี  หวังลดความเสี่ยงประชาชนถูกหลอก โดยเร่งให้สถาบันการเงินทุกแห่ง พร้อมปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ซึ่งที่ผ่านมีประชาชนจำนวนมากที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการโดนมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน รวมไปถึงภัยทุจริตทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนไม่ถ้วน และหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง, แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ,แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงินหลายแห่ง ล่าสุดจึงออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินแบบใหม่ให้รัดกุมมากขึ้น 

มาตรการใหม่ สกัดมิจฉาชีพ 

  • มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ให้ สง.งดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละ สง. ให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น โดย สง. ต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา ตลอดจนต้องยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (biometrics) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของ สง. (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด
  • มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้ สง. ช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้ สง. รายงานไปสำนักงาน ปปง. รวมทั้งให้ สง. ต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ
  • มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น ให้ สง. ทุกแห่งต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว รวมทั้งให้ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของ สง.

การคุมเข้มในครั้งนี้เริ่มเร่งให้ สง.ทุกแห่งต้องดำเนินมาตรการทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราจะจัดการกับมิจฉาชีพได้บ้าง แต่ยังไงก็ระวังการทำธุรกรรมให้รอบคอบจะได้ไม่เสี่ยงถูกขโมยข้อมูลหรือเงินไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย