แต่ไหนแต่ไรมา เราเคยชินกับสินค้าจากเมืองจีนที่ลอกนวัตกรรมและดีไซน์ชาวบ้านมาผลิตเองและปล่อยขายในตลาดในราคาที่ต่ำกว่าเป็นสิบเท่า หลายคนก็ตราหน้าสินค้าจากจีนว่าไม่ต่างอะไรกับโจรขโมยความคิดคนอื่นมาโกยเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่วันนี้จีนกำลังจะก้าวข้ามภาพลักษณ์เดิมๆ เพราะสามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเอง จดสิทธิบัตรระดับนานาชาติรวมนำหน้าประเทศอื่นๆทั่วโลกขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 เรียบร้อยแล้ว

กราฟแสดงจำนวนสิทธิบัตรที่แต่ละประเทศยื่นจดทะเบียน

โดยทาง Economist ได้เปิดเผยว่าเมืองที่จดสิทธิบัตรมากที่สุดในประเทศจีนนำโด่งขึ้นมา ก็คือ เสิ่นเจิ้น คิดเป็นจำนวนมากกว่า 40% ตามมาด้วยปักกิ่ง โดยที่เสิ่นเจิ้นได้เตรียมงบประมาณมากกว่า 4% ของ GDP ในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) มากกว่ามาค่าเฉลี่ยของประเทศ เงินที่ลงทุนนี้ส่วนมากก็มาจากบริษัทเอกชน และบริษัทเหล่านี้ก็ไม่ได้จดสิทธิบัตรแบบกเฬวรากไม่มีคุณภาพอย่างที่หลายๆคนอาจจะเคยได้ยิน แต่เป็นสิทธิบัตรที่ยอมรับได้ระดับนานาชาติ และจำนวนทั้งหมดนี้ก็มากกว่าที่มาจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรอีกด้วย

เห็นประเทศจีนเป็นแบบนี้ แต่บริษัทอย่างหัวเว่ยก็ลงทุนด้าน R&D มากกว่าที่ Apple ใช้ซะอีก โดยรายได้ของบริษัทในปี 2016 มากกว่า 2.5 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งให้กับด้าน R&D นี้ไปถึง 15% และมีจำนวนพนักงานราว 82,000 คนจาก 180,000 คน (คิดเป็นจำนวนราว 45%) ที่ทำงานด้าน R&D เลยทีเดียวครับ

ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่จะได้เห็นประเทศที่ยิ่งใหญ่และมีคนเก่งอยู่มากอย่างจีนหันมาสร้างสรรค์นวัตกรรมมากกว่าการลอกเลียนแบบไปวันๆ  แต่อย่างไรก็ดีการที่จีนมีการจดสิทธิบัตรมากขึ้นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าต่อไปเราจะไม่ได้เห็นการขโมยความคิดอีกต่อไป เพราะก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังสามารถกอบโกยสร้างความมั่งคั่งจากการลอกไอเดียคนอื่นอยู่อีกมากนั่นเอง แต่อย่างน้อยเราก็เห็นทิศทางที่ดีขึ้นจากประเทศนี้ เปลี่ยนจากการสักแต่ลอกเป็นลอกแล้วพัฒนา(C&D) ตามรอยประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศนั่นเอง แต่จากบางประเทศที่กี่ปีกี่ชาติผ่านมาก็ยังคงติดนิสัยการลอกแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น และไม่คิดพัฒนาเสียที…

 

อ่านบทความเรื่องนี้จาก Economist ต่อได้ที่ Shenzhen is a hothouse of innovation