ทุกวันนี้เหตุผลหลักๆในการเลือกซื้อ Smartphone สักเครื่องนึง เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องกล้องถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใช้โทรศัพท์ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียว แล้วเวลาเลือกซื้อหลายๆคนก็มาโพสถามกันว่ารุ่นนี้เป็นยังไง ดีหรือไม่ดียังไง ซึ่งจะว่าไปแล้วคงยากที่เราจะได้ลองกล้องครบทุกตัวในเวลาเดียวกัน สภาพแสงเดียวกันเป็นแน่ ส่วนใหญ่เราก็จะได้ลองทีละตัวสองตัว แล้วกว่าจะได้ลองอีกตัวสภาพแสงก็ไม่เหมือนกันกับครั้งที่แล้ว แล้วสภาพแสงนี่แหละที่เป็นตัวแปรสำคัญของคุณภาพของภาพเลย วันนี้ผมจึงมาขอจัดรีวิวกล้องมือถือชุดใหญ่ ทดสอบในสภาพแสงเดียวกัน ถ่ายแทบจะพร้อมๆกันเลย แล้วมาวัดกันไปเลยว่าแต่ละตัวจะเจ๋งสมราคาคุยสักแค่ไหนกัน และตัดสินกันไปเลยว่า วันนี้กล้องมือถือรุ่นไหนแบรนด์อะไร เจ๋งที่สุด!!

ขณะนี้ได้ทำการปรับปรุงการแสดงผลให้ดูง่ายขึ้นกว่าเดิมแล้ว และทำการสำรองการแสดงผลแบบเก่าไว้ที่ https://droidsans.com/node/166960 ในกรณีที่โฮสต์ของ Gallery ล่มนะครับ

ปล.ทางเว็บกำลังหาทางช่วยปรับปรุงการแสดงภาพให้ดูง่ายขึ้นอยู่นะครับ อดใจรอกันอีกสักหน่อย

ปล.2 ตอนนี้เซิฟเวอร์ที่โฮสต์รูปมีปัญหา โปรดรอสักครู่ -__-” แก้ไขเรียบร้อย 6 Aug 14 : 7.43 pm

รายชื่อมือถือเรือธงของหลายๆยี่ห้อที่คุยว่ากล้องดี ถูกนำมาทดสอบดังนี้

  1. Apple iPhone 5s
  2. LG G3
  3. HTC One M8
  4. Huawei Ascend P7
  5. Nokia Lumia 930
  6. Nokia Lumia 1020
  7. Oppo Find 7
  8. Samsung Galaxy S5
  9. Sony Xperia Z2

ก่อนจะเข้ามาดูเรื่องคุณสมบัติของกล้อง ผมขออธิบายความหมายคร่าวๆของคุณสมบัติแต่ละอย่างกันก่อนดีกว่า เพื่อเวลาที่เราอ่านคุณสมบัติของกล้องจะได้มีความเข้าใจเบื้องต้นว่าอะไรส่งผลต่อคุณภาพของภาพอย่างไรบ้าง

1. ความละเอียด (Resolution) – อันนี้ชัดเจนว่ายิ่งมากก็จะมีแนวโน้มว่าจะมีละเอียดของภาพมากกว่าที่กล้องความละเอียดต่ำกว่า แต่ก็ไม่ทั้งหมดซะทีเดียว เพราะสิ่งสำคัญขึ้นอยู่ที่เลนส์กับขนาดเซนเซอร์ รวมไปถึงขนาดของจุด (pixel) แต่ละจุดด้วย เดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มในข้อต่อๆไปนะครับ ทีนี้มาดูกันก่อนว่าเค้านับความละเอียดกันอย่างไร วิธีก็ตรงๆเลยครับ เอาขนาดภาพที่ได้มาคูณกันเลย เช่น ภาพมีความละเอียด 3,000×2,000 จุด เราก็เอา 3,000 มาคูณ 2,000 เท่ากับ 6,000,000 จุด นั่นก็คือกล้องตัวนี้มีความละเอียด 6 ล้านจุดครับ

ความละเอียดสำคัญขนาดไหน? – ทุกวันนี้ กล้องมือถือมีแต่จะแข่งเรื่องความละเอียด แล้วผู้ใช้จำนวนไม่น้อยก็เข้าใจว่ายิ่งละเอียดยิ่งดี ซึ่งความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ซะทีเดียวนะครับ ถ้าเราเน้นถ่ายรูปแล้วลงภาพ Social Media อย่างเดียว เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter เรื่องความละเอียดอาจจะไม่สำคัญเท่ากับสีนะครับ เพราะเวลาเราลงรูปจะโดนย่อลงหมด อย่างมากที่สุดคือ Facebook ถ้าเราเอาภาพไปลงด้วยคอมแบบความละเอียดสูงสุด จะได้ประมาณ 3-4 ล้านจุดเท่านั้น (แล้วแต่อัตราส่วนของภาพ) หรือถ้า Line ส่งรูปใช้ความละเอียดประมาณ 1.2 ล้าน หรือ Instagram ใช้ความละเอียดประมาณ 0.37 ล้าน (ไม่ถึงครึ่งล้านเลยด้วย) ดังนั้นกล้องมือถือทุกวันนี้ความละเอียดเกินความต้องการของ Social Media ไปเยอะแล้วครับ แล้วละเอียดมากไปกลับมีข้อเสียคือพื้นที่หน่วยความจำเต็มเร็วด้วยครับ ลองถามตัวเองดูว่าทุกวันนี้เราใช้กล้องมือถือถ่ายรูปไปทำอะไรบ้างนะครับ

2. ขนาดรูรับแสง (Aperture) – อันนี้จะเกี่ยวกับเลนส์โดยตรง ขนาดรูรับแสงยิ่งกว้างหมายถึงแสงสามารถผ่านรูเข้าไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์ได้มากกว่า (เพราะรูใหญ่กว่า) ผลก็คือในสภาพแสงเดียวกัน ถ้าเปิดความเร็วของชัตเตอร์เท่ากัน ภาพที่ได้จากกล้องที่รูรับแสงกว้างกว่าก็จะสว่างกว่า หรือในอีกมุมนึง ถ้าต้องการให้ภาพมีความสว่างเท่ากัน ความเร็วชัตเตอร์ที่ได้จากกล้องที่รูรับแสงกว้างกว่าจะเร็วกว่า นั่นก็คือสามารถหยุดความเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเพราะชัตเตอร์เร็วกว่า ค่านี้ให้ดูที่ตัวเลข ยิ่งน้อยหมายถึงยิ่งกว้างกว่านะครับ ไม่ใช่ตัวเลขเยอะแล้วจะดีนะครับ ค่านี้ยิ่งน้อยยิ่งดีครับ แล้วผลอีกอย่างนึงก็คือรูรับแสงที่กว้างกว่าจะได้ภาพที่ละลายฉากหลังได้มากกว่าอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดเซนเซอร์ด้วยนะครับ (เรื่องนี้ยังไม่อยากจะลงลึกไปกว่านี้ เพราะอาจจะยิ่งงงได้ครับ

3. ขนาดเซนเซอร์ (Sensor Size) – เรื่องนี้ก็ตรงตัวเลยครับ ขนาดความใหญ่ของเซนเซอร์ ตามหลักการแล้ว ยิ่งใหญ่ยิ่งดีครับ แต่ปัญหาคือถ้าต้องการเลนส์ที่รูรับแสงสว่างเท่ากัน ยิ่งใช้เซนเซอร์ใหญ่ ขนาดเลนส์ก็จะต้องใหญ่ตามไปด้วย ทำให้มือถือไม่สามารถใช้เซนเซอร์ที่ใหญ่มากได้ เพราะไม่งั้นแล้วมือถือเราจะหนาเพราะขนาดของเลนส์ที่ใหญ่ครับ แล้วอีกอย่างนึงที่ต้องดูประกอบด้วยก็คือความละเอียดของเซนเซอร์ เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อขนาดของจุดแต่ละจุดด้วย มาดูหัวข้อต่อไปเลยครับ


ขอบคุณภาพจาก www.engadget.com

4. ขนาดของจุด (pixel) – เรื่องนี้ตามหลักการแล้ว ยิ่งขนาดของจุดใหญ่กว่ายิ่งดีกว่านะครับ เพราะว่าขนาดของจุด ผมเปรียบเสมือนแก้วน้ำละกันครับ ส่วนปริมาณแสง ผมเปรียบเสมือนปริมาณน้ำ นั่นก็คือถ้าขนาดของจุดใหญ่กว่า ก็ควรจะรับปริมาณของแสงได้มากกว่า ผลก็คือภาพควรจะมี Dynamic Range ที่กว้างกว่า ทีนี้คนอาจจะงงว่า Dynamic Range คืออะไร เดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มอีกทีนะครับ ตอนนี้เรามาดูก่อนว่าจะวัดขนาดของจุดกันอย่างไร อย่างแรกเลยให้ดูขนาดของเซนเซอร์ แล้วเราก็มาดูความละเอียดประกอบกัน เอาแบบง่ายที่สุด ถ้าขนาดเซนเซอร์เท่ากัน ตัวไหนที่ความละเอียดน้อยกว่าแสดงว่ามีขนาดของจุดที่ใหญ่กว่า เปรียบเทียบแบบง่ายๆ ให้สนามฟุตบอลเปรียบเสมือนขนาดของเซนเซอร์ ส่วนลูกบอลเปรียบเสมือนขนาดของจุด ถ้าสนามฟุตบอลขนาดเท่ากัน สนามที่ต้องใส่ลูกบอล 5 ล้านลูกให้เต็มพื้นที่ เทียบกับสนามที่ต้องใส่ลูกฟุตบอลแค่ 2 ล้านลูกให้เต็มพื้นที่เท่ากัน ขนาดลูกฟุตบอลของสนามที่ใส่ลูกบอลแค่ 2 ล้านลูกจะมีขนาดใหญ่กว่าสนามที่ใส่ลูกบอก 5 ล้านลูก น่าจะพอเห็นภาพกันนะครับ นั่นก็พอสรุปคร่าวๆได้ว่า ขนาดเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีขนาดของจุดที่ใหญ่กว่า ถ้ามันมีความละเอียดเยอะกว่า แต่เพื่อความง่าย ในตารางคุณสมบัติมีการคำนวณไว้ให้แล้วครับ ดูแค่ตัวเลขพอครับ

กลับมาที่เรื่อง Dynamic Range กันต่อ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆนะครับ มาดูภาพนี้กัน

มาดูที่ภาพฝั่งซ้าย จะเห็นว่ารายละเอียดตรงส่วนสว่างกลายเป็นสีขาว ไม่มีรายละเอียดใดๆเหลืออยู่ ส่วนภาพทางขวาจะเห็นว่ารายละเอียดต่างๆยังอยู่ครบ พูดง่ายๆว่าภาพทางขวามี Dynamic Range ที่กว้างกว่า แล้วทีนี้คนอาจจะถามต่อว่า Dynamic Range ที่กว้างกว่ามีประโยชน์อย่างไร โอเคครับ มาดูภาพนี้ต่อกันเลย

ผมเอาภาพทั้งสองภาพมาปรับลดความสว่างลง ทีนี้เราจะเห็นได้เลยว่าภาพทางซ้ายที่ Dynamic Range น้อยกว่า แล้วรายละเอียดหายไปแล้ว เราจะไม่สามารถทำอะไรกับมันได้อีก มันก็จะกลายเป็นสีขาวที่ทำอะไรไม่ได้เลย ดึงอะไรกลับมาไม่ได้ ส่วนภาพทางขวาเรายังสามารถปรับอะไรกับมันได้ตามใจนะครับ

** แต่ขนาดของจุดไม่ได้เป็นตัววัด Dynamic Range นะครับ หมายถึงขนาดใหญ่กว่า ไม่จำเป็นจะต้องมี Dynamic Range ที่กว้างกว่าเสมอไป เพราะสุดท้ายมันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเรื่องอื่นประกอบด้วยครับ รวมไปถึง Software ด้วย

5. ระบบกันสั่น – ระบบกันสั่นมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือแบบ Software และ Hardware ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ให้ผลที่แตกต่างกันพอสมควร คือแบบ Software จะใช้โปรแกรมในเครื่องประมวลผลเวลามือสั่น โดยเราจะสังเกตได้ว่าถ้าใช้กันสั่นแบบ Software ช่วย ภาพที่ได้จะได้มุมมองที่แคบลง ไม่กว้างแบบตอนปิดระบบกันสั่น เพราะโปรแกรมจะตัดภาพส่วนขอบๆภาพเวลามือสั่นทิ้งไป ยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ เวลามือสั่นลง ภาพทางด้านบนจะหายไป หรือเวลามือสั่นขึ้น ภาพทางด้านล่างจะหายไป หรือเวลามือสั่นไปทางขวา ส่วนของภาพทางซ้ายก็จะหายไป ทีนี้ภาพที่ได้ก็คือภาพที่ตัดส่วนขอบๆตอนเรามือสั่นออกไปให้ แต่ยังไงก็ตาม ภาพที่ออกมายังไงก็สู้กันสั่นด้วย Hardware ไม่ได้ คือกันสั่นด้วย Hardware จะใช้ชิ้นเลนส์ในการชดเชยการสั่น นั่นคือเวลามือสั่น ชิ้นเลนส์กันสั่นก็จะขยับลงสวนทางกับการสั่นของมือเรา ทำให้ได้ภาพที่ได้มีความนิ่งขึ้น แต่ถึงยังไงระบบกันสั่นก็ไม่ได้ป้องกันการสั่นได้ทั้งหมด ดังนั้นไม่ใช่ว่ามีระบบนี้แล้ว เราก็ถ่ายแบบไม่สนใจการสั่นเลยไม่ได้นะครับ ไม่งั้นภาพอาจจะสั่นไหวอยู่ดี แล้วอีกอย่างนึงที่สำคัญมาก ระบบกันสั่น คือกันมือสั่น ไม่ใช่กันแบบที่เราจะถ่ายสั่นนะครับ หมายถึงสมมุติว่าถ้าเราถ่ายเด็กที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา แล้วแสงน้อยด้วยล่ะก็ ระบบกันสั่นจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย คือถึงมือเราจะนิ่ง ภาพฉากหลังทุกอย่างออกมาชัดหมด แต่เวลาแสงน้อย ความเร็วชัตเตอร์จะไม่เร็วพอที่จะหยุดความเคลื่อนไหวของเด็กได้นะครับ อันนี้ควรรู้ไว้ ดังนั้นอย่าประหลาดใจว่ามีระบบกันสั่นแล้ว ทำไมภาพเด็กยังสั่นไหวอีกนะครับ

6. Phase detection autofocus (Samsung Galaxy S5) – โดยปกติแล้วระบบโฟกัสของกล้องมือถือจะเป็นระบบ Contrast Detect ซึ่งจะใช้ตัวเซนเซอร์รับภาพเป็นตัวจับโฟกัส คือเวลากล้องจับโฟกัส ระบบโฟกัสจะหมุนโฟกัสตั้งแต่ใกล้ที่สุดไปจนถึงไกลที่สุด แล้วตัวเซนเซอร์จะจับภาพอยู่ตลอดเวลา แล้ววัดว่าจุดไหนที่ให้ภาพที่มี Contrast ดีที่สุด แล้วนั่นคือจุดโฟกัสที่ต้องการ แต่ระบบ Phase detect autofocus จะมีเซนเซอร์พิเศษโดยเฉพาะเพื่อจับโฟกัสโดยเฉพาะ โดยจะจับแสงจากทั้งสองมุมของเลนส์ (ซ้ายและขวา) แล้วจะมีเซนเซอร์พิเศษ 2 จุดเพื่อรับภาพจากมุมของทั้งสองเลนส์ แล้วเอาภาพมาเปรียบเทียบกัน ถ้าภาพตรงกันเมื่อไหร่ นั่นคือโฟกัสเข้า ระบบนี้จะเร็วกว่าระบบ Contrast Detect เพราะว่าระบบโฟกัสไม่จำเป็นต้องหมุนโฟกัสไปจนสุดเพื่อจับว่าจุดไหน contrast ดีที่สุด เพราะระบบโฟกัสหมุนไปตรงจุดไหนที่ภาพจากเซนเซอร์จับโฟกัสตรงกันทั้งสองจุดก็หยุดได้เลย ไม่ต้องหมุนสุดครับ อ่านแล้วอาจจะงง ลองตาม Link นี้ไปดูภาพกันชัดๆครับ http://graphics.stanford.edu/courses/cs178/applets/autofocusPD.html (ตามตัวอย่างจะเป็นแบบมีกระจกสะท้อนภาพ หรือที่เรียกกันว่า SLR แต่ถ้าบนมือถือจะไมมีกระจก หรือที่เรียกกันว่า Mirrorless แต่จะใช้เซนเซอร์อยู่บน Microlens บนเซนเซอร์แทนครับ)

7. Laser Focus (LG G3) – อันนี้จะแตกต่างจากระบบ Phase detection เพราะว่าทำงานกันคนละหน้าที่ครับ คือระบบ Phase Detection คือระบบโฟกัสแบบหนึ่งเลย แต่ว่า LG G3 ยังใช้ระบบโฟกัสแบบ Contrast Detect อยู่ แต่ว่าใช้แสงเลเซอร์ในการช่วยโฟกัส ว่าง่ายๆคือ ระบบ Laser Focus มาช่วยลดจุดอ่อนของระบบโฟกัสแบบ Contrast Detect อธิบายเพิ่มเติมนะครับ ระบบ Contrast detect จะทำงานได้ดีเมื่อแสงเยอะ เพราะจับความเปรียบต่างได้ง่าย (contrast) หรือถ้าเราถ่ายวัตถุที่ไม่มีความเปรียบต่าง เช่นถ่ายผ้าขาวล้วน หรือถ่ายสีดำล้วนๆ ระบบโฟกัสแบบ Contrast Detect จะไม่สามารถจับโฟกัสได้ เพราะว่าวัตถุที่โฟกัสไม่มีความต่างของสีใดๆเลยให้เปรียบเทียบ นั่นทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าทำไปเวลาแสงน้อย ระบบโฟกัสถึงทำงานได้ช้าลง เพราะว่าเซนเซอร์จะมองเห็นความต่างของสีได้น้อยลงด้วย แล้วมาต่อที่ว่าระบบ Laser มันช่วยอย่างไร ระบบนี้จะมีการยิงเลเซอร์เป็นตารางๆออกไป ไอ้ตารางๆเลเซอร์นี่แหละครับที่จะช่วยระบบ Contrast Detection ให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ต่อให้วัตถุที่เราจะถ่ายเป็นสีพื้นที่ไม่มีความต่างของสีเลยก็ตาม ตัวตารางๆของเลเซอร์จะไปทำหน้าที่ให้วัตถุที่เราจะถ่ายมีความเปรียบต่างของสีขึ้นมาเองครับ แต่ข้อเสียคือเลเซอร์ที่ยิงออกไปมีความเข้มต่ำ ทำให้ไม่สามารถช่วยเวลาถ่ายวัตถุไกลๆได้ครับ

8. Raw File – อันนี้จะเป็นไฟล์ที่เอาไว้สำหรับการปรับแต่งภาพในภายหลังทำได้ละเอียดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้แสงสีต่างๆ รวมไปถึงการดึงแสงที่ over ไปแล้วกลับมา (ได้ในระดับนึง) ผมคงไม่ลงลึกมากนักนะครับ ถ้าอยากรู้ถามเพิ่มมาอีกทีละกันครับ

9. Slow Shutter (Oppo Find 7a, 7) – อันนี้เอาไว้ช่วยในการถ่ายภาพตอนกลางคืนให้ได้คุณภาพที่มากขึ้น โดยกล้องจะใช้ ISO ที่ต่ำ (ISO คือความไวแสง ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไรค่อยถามเพิ่มเติมมาอีกทีนะครับ เดี๋ยวบทความจะกลายเป็นการสอนเทคนิคถ่ายรูปไปซะก่อน แค่นี้ผมก็ว่าเยอะมากล่ะครับ) แต่การจะใช้ Slow Shutter จะต้องมีขาตั้ง เพื่อให้กล้องอยู่นิ่งสนิท เพื่อให้ภาพที่คมชัดนะครับ เพราะกล้องจะเปิดชัตเตอร์นานสูงสุดได้ถึง 32 วินาที เอาล่ะครับ ทีนี้มาดูตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติเรื่องกล้องกันเลยครับ

คุณสมบัติเหล่านี้ดูเอาไว้ประกอบนะครับ สุดท้ายวัดกันที่ภาพ มาดูกันเลยครับ

การทดสอบ

ทีนี้มาเข้าเรื่องซะทีคือการทดสอบครับ ครั้งนี้ผมต้องการให้การทดสอบมีความหลากหลายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะต้องการให้ผลทดสอบมีความถูกต้องของข้อมูลให้มากที่สุด ผมจึงตัดสินใจทดสอบแบบหลายๆหัวข้อ หลายๆสภาพแสง แล้วครั้งนี้จะมีการให้คะแนนด้วย โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้

  1. รายละเอียด – กลางแจ้ง 10 คะแนน
  2. สี – กลางแจ้ง 10 คะแนน
  3. รายละเอียด – แสงในร่ม 10 คะแนน
  4. สี – แสงในร่ม 10 คะแนน
  5. รายละเอียด – แสงน้อย 10 คะแนน
  6. สี – แสงน้อย 10 คะแนน
  7. รายละเอียด – แสงน้อยมาก 10 คะแนน
  8. สี – แสงน้อยมาก 10 คะแนน
  9. รายละเอียด – กล้องหน้า 10 คะแนน
  10. สี – กล้องหน้า 10 คะแนน
  11. แฟลช 10 คะแนน
  12. การใช้งานจริง 10 คะแนน

รวม 120 คะแนน

ผมคิดว่าทดสอบแบบนี้น่าจะเป็นการทดสอบที่ครอบคลุมแทบทุกการใช้งาน และเป็นการทดสอบที่ไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกันหรือถ้ามีก็น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วทุกรูปของทุกกล้อง ผมจะถ่าย 3 รูปแล้วเลือกรูปที่ดีที่สุดนะครับ หลักเกณฑ์การให้คะแนนผมจะให้เป็นช่วงๆตามนี้ครับ

10 คะแนน – คือสุดยอด ดีกว่านี้ไม่มีล่ะ
9 คะแนน – คือยอดเยี่ยม ดีเกินจำเป็นแล้ว
8 คะแนน – ดีมาก แค่นี้ก็ใช้สบายๆแล้ว
7 คะแนน – ดี ใช้ได้ล่ะ แต่ดีกว่านี้อีกนิดก็ดีนะ
6 คะแนน – พอใช้ พอถูไถ ถือว่าไม่แย่นัก
5 คะแนน – งั้นๆแหละ
4 คะแนน – ค่อนข้างแย่
3 คะแนน – แย่แล้ว เรียกว่าห่วยดีกว่า
2 คะแนน – ห่วย
1 คะแนน – ห่วยมาก เอาล่ะครับ มาเริ่มกันที่หัวข้อแรกเลยครับ

1. รายละเอียด – กลางแจ้ง

รูปนี้ถ่ายวิวตึกเพื่อให้เห็นรายละเอียดต่างๆบนตึก รูปนี้ผมจะขยายภาพของทุกกล้องให้เป็นความละเอียด 38 ล้าน ให้เท่ากับ Nokia Lumia 1020 เพื่อดูกันว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ผมจะครอปภาพ 100% มาให้ดูเทียบกันนะครับ

ให้ลองดูรายละเอียดตรงโลโก้แอร์ Mitsubishi แล้วรายละเอียดผ้าที่ตากเอาไว้ รวมไปถึงตระแกรงเหล็กของ Compressor ของแอร์ จะเห็นได้ว่าภาพจาก Nokia Lumia 1020 มีรายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด รองลงมาคือ Sony Xperia Z2 แล้วที่เหลืออย่าง Nokia Lumia 930, S5, Find 7, G3 ก็ถือว่าทำได้ดีมากเช่นกัน ส่วน Ascend P7 กับ iPhone 5s ก็ทำได้ดี แต่ HTC One M8 ถือว่าแย่ที่สุดในกลุ่ม เพราะมันละเอียดแค่ 4 ล้านเท่านั้น

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

คะแนนของ Oppo Find 7 ไม่ได้วัดที่โหมด Ultra HD นะครับ เพราะภาพจากโหมด Ultra HD จะได้รายละเอียดของภาพขึ้นมาก จะเห็นได้ว่าโหมด Ultra HD ใช้ได้จริง และมีประโยชน์เวลาต้องการเก็บรายละเอียดของภาพได้มากขึ้นจริงครับ

2. สี – กลางแจ้ง

รูปนี้ผมจะใช้รูปที่ถ่ายวิวทะเลสาปช่วงเวลาเย็นๆ ประกอบกับรูปตึกที่ถ่ายไว้ในข้อ 1 มาประกอบนะครับ ผมย่อภาพลงมาเพื่อให้ดูโทนสีโดยรวมครับ

ผมจะให้คะแนนจากรูปแรกเป็นหลักนะครับ ให้ดูสีของท้องฟ้า ดูรายละเอียดก้อนเมฆ แล้วแค่ดูรูปที่สองประกอบเฉยๆนะครับ จะเห็นว่ารูปท้องฟ้ารูปแรก Oppo Find 7 วัดแสงออกมาได้สวยอย่างที่ควรจะเป็นในฉากแบบนี้ แล้วทำได้ดีกว่าคนอื่น แต่พอมาดูรูปที่สอง แสงตอนเย็นควรจะออกโทนสีอุ่นแต่สีกลับอมเขียวไปนิดนึง ทำให้เสียคะแนนไปนิด ส่วน HTC One M8 ทำได้ดีมากทั้งสองรูป ถึงรูปแรกจะสู้ Find 7 ไม่ได้ แต่ถือว่าใกล้เคียง แล้วรูปที่สองก็ทำได้ดี ส่วน iPhone 5s กับ Lumia 930 ก็ถือว่าทำได้ดีมากทั้งสองรูปเช่นกัน แต่รูปแรกจะสวยสู้สองตัวแรกไม่ได้ไปนิดเดียวจริงๆ ส่วนตัวอื่นๆก็ถือว่าดีมากเช่นกัน แต่ว่าความสวยค่อยๆลดลงมาแบบต่างกันนิดเดียวจริงๆ แต่ Lumia 1020 วัดแสงออกมาสว่างกว่าที่ควรจะเป็นไปนิด เลยทำให้สีและรายละเอียดก้อนเมฆหายไป ส่วน Ascend P7 ออกโทนม่วงไปหน่อยครับ

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

3. รายละเอียด

แสงในร่ม รูปเซ็ทนี้จะเป็นการถ่ายแสงในบ้าน ใช้ไฟแสงสีเหลือง รูปแรกกับรูปที่สองจะเป็นการถ่ายตุ๊กตาในห้องช็อตเดียวกันแต่แยกครอปให้ดูสองส่วน ส่วนอีกสองรูปจะเป็นการถ่ายอาหารที่ร้านค็อฟฟี่ช็อปแห่งหนึ่ง ผมจะครอป 100% มาให้ดูรายละเอียดก่อนนะครับ ส่วนภาพเต็มรอดูในหัวข้อถัดไปครับ

จากรูปจะเห็นได้ว่ารายละเอียดจาก Lumia 1020 ดีกว่าคนอื่นชัดเจน ที่ใกล้เคียงที่สุดก็จะเป็น Oppo Find 7 กับ Sony Xperia Z2 นอกนั้นก็ค่อยๆลดกันลงมา ส่วน HTC One M8 ก็รายละเอียดน้อยที่สุดหัวข้อนี้

คะแนนเป็นดังนี้ครับ 

4. สี – แสงในร่ม

รูปแรกจะเป็นแสงไฟจากหลังรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเสียง จุดที่สังเกตคือแสงไฟใต้แผงเป็นไฟสีม่วงฟ้า ส่วนรูปที่ 2 จะเป็นแสงไฟ Warm Tone ในบ้าน ส่วนรูปที่ 3 กับ 4 จะเป็นแสงในร้านคอฟฟี่ช็อปแห่งนึง เป็นไฟ Warm Tone เช่นกัน มาดูรูปกันเลยครับ

จะเห็นว่ามีเพียง Oppo Find 7 กับ LG G3 ที่แสงสีม่วงฟ้ายังออกมาได้ถูกต้อง แล้ว Sony Xperia Z2 กับ Samsung Galaxy S5 ยังแสดงผลได้ใกล้เคียง ที่เหลือจะออกมาเป็นโทนสีฟ้าทั้งหมด

รูปจาก Oppo Find 7 กับ Sony Xperia Z2 แสดงผลได้ใกล้เคียงตาเห็นที่สุด ส่วน LG G3 กับ Lumia ทั้งสองตัว จะแก้แสงให้ออกมามาขาวหน่อย ส่วนที่เหลือจะออกอมแดง แล้ว Huawei Ascend P7 จะออกมาแดงสุด แต่สุดที่สังเกตคือ Lumia ทั้งสองตัวจะมีรายละเอียดส่วนขนที่ด้านบนซ้ายหายไปชัดเจน

จะเห็นได้ชัดว่า HTC One M8 สีออกมาจืดเกินไป ส่วน Lumia 930 ออกโทนเขียวไปนิด และ Lumia 1020 จะอมม่วงแดงนิดๆ ส่วน Huawei Ascend P7 จะอมม่วงแดงมากไปหน่อย ส่วน Samsung Galaxy S5 กับ Sony Xperia Z2 ออกมามืดไปนิด

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

5. รายละเอียด – แสงน้อย

รูปนี้เป็นรูปแสงในห้องที่ปิดไฟที่ส่องโดยตรง แล้วคุมแสงด้านข้างให้เข้ามาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แล้วใช้ตุ๊กตาหมีเป็นตัวจับรายละเอียดว่ารายละเอียดขนยังมีอยู่มากน้อยแค่ไหน ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอก็จะเป็นเรื่องระบบลด Noise Reduction เวลาแสงน้อย ที่จะทำให้รายละเอียดของภาพหายไปหมดเพื่อแลกกับความเนียนของภาพ รูปนี้ผมจะครอป 100% มาให้ดู ส่วนรูปเต็มอยู่ที่หัวข้อต่อไปนะครับ

จะเห็นได้ว่า LG G3 ใช้วิธีลด Noise ทำให้รายละเอียดขนตุ๊กตาหายหมด ส่วน Samsung Galaxy S5, iPhone 5s กับ Huawei Ascend P7 มี Noise แต่ยังมีรายละเอียดเหลืออยู่บ้าง แล้วที่ทำได้ดี ทั้ง Noise ต่ำแล้วรายละเอียดยังมีอยู่ ก็มี Lumia ทั้งสองรุ่น, Oppo Find 7 และ Sony Xperia Z2

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

6. สี – แสงน้อย

รูปเดิมจากด้านบน แสงสี Warm Tone มาดูรูปเต็มๆกันครับ

จะเห็นได้ว่าสีจาก Lumia ทั้งสองตัวทำได้ดีมากๆ สีของผ้าพันคอตุ๊กตายังคงสีสัมสดเอาไว้ได้ด้วย ส่วน Oppo Find 7 ก็ทำได้ดีมาก แต่ว่าผ้าพันคอสีจะออกจืดลงมานิดหน่อย ส่วนตัวอื่นๆจะสีออกอมม่วงแดงนิดๆ แต่ iPhone 5s กับ Sony Xperia Z2 จะออกมามืดไป

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ 

7. รายละเอียด – แสงน้อยมาก

รูปนี้เป็นการถ่ายกลางแจ้งในที่มืดสนิท มีเพียงแสงจากรอบๆตึกเท่านั้น จุดที่สังเกตรูปนี้คือตัวหนังสือว่าชัดเจนแค่ไหน แล้วอีกจุดนึงที่สำคัญคือใบไม้ที่อยู่ด้านหน้าว่ามีความธรรมชาติสมจริงแค่ไหน เพราะหลายๆรูปที่ใบไม้โดนระบบลด Noise ทำให้ใบไม้กลายเป็นเหมือนภาพวาดด้วยสีน้ำไปเลย เริ่มที่รูปครอป 100% ครับ

จากรูปถือว่ายังไม่มีตัวไหนที่ทำได้ดีสักเท่าไหร่ แต่ Lumia 1020 ก็ถือว่ายังทำได้ดีที่สุด ส่วนตัวอื่นๆก็ค่อยๆลดกันไป แต่ LG G3 กับ Samsung Galaxy S5 ภาพเนียนเพราะมีการลด Noise แต่ว่ารายละเอียดใบไม้ดูกลายเป็นผิดธรรมชาติเหมือนภาพวาดสีน้ำไปหน่อย ส่วน Oppo Find 7 ทำได้แย่ที่สุดในกลุ่ม

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

8. สี – แสงน้อยมาก

จากรูปข้างบน มาดูรูปเต็มกันบ้าง

จะเห็นว่าภาพจาก Samsung Galaxy S5 ออกมาดูดีที่สุด นอกนั้นก็ค่อยๆลงลงมาใกล้เคียงกัน แต่สุดที่ควรดูคือไฟสีขาวทางด้านซ้าย ที่ภาพจาก Lumia ทั้งสองตัว กับ iPhone 5s มีส่วนที่รายละเอียดหายไปเป็นปื้นๆ ส่วนสีของ Oppo Find 7 ดูจืดๆและสีจาก Lumia 1020 สีสดเกินไป

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

9. รายละเอียด – กล้องหน้า

กล้องหน้าถ่ายโดยใช้ไฟสีขาวในห้อง เปิดไฟสว่างสุดนะครับ ทดสอบสภาพแสงเดียวเพราะส่วนใหญ่ที่เห็นจะถ่ายกันในสภาพแสงนี้เป็นส่วนใหญ่นะครับ มาดูรูปครอป 100% กัน

จะเห็นได้ว่า Huawei Ascend P7 กล้องหน้า 8 ล้านให้รายละเอียดที่ดีที่สุดจริงๆ ส่วนกล้องหน้า 5 ล้านอย่าง Oppo Find 7 กับ HTC One M8 ก็ทำได้ดี แต่ว่า Oppo Find 7 ยังดีกว่า แต่ที่น่าสนใจคือกล้องหน้า 1.2 ล้านของ Lumia 1020 สามารถเก็บรายละเอียดได้ดีกว่ากล้องหน้า 2 ล้านตัวอื่นๆ

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ 

10. สี – กล้องหน้า

ทีนี้มาดูเรื่องสีกันบ้าง ซึ่งความเป็นจริงแล้ว สีของกล้องหน้า สำคัญกว่าความละเอียด เพราะส่วนใหญ่จะใช้คุยกันแบบเห็นหน้า หรือใช้ถ่าย Selfie แล้วเอาลง Social Media ซึ่งจะโดนลดความละเอียดกันหมดนะครับ มาดูกันครับ

สิ่งที่ควรสังเกตคือสีเสื้อที่เป็นตารางสีฟ้า และรายละเอียดตรงปกเสื้อสีขาวว่ายังมีรายละเอียดอยู่หรือไม่ รวมไปถึงสีผิว จะเห็นว่า Oppo Find 7 ออกมาดีที่สุด ส่วน Huawei Ascend P7 ก็ทำออกมาได้ใกล้เคียง แต่สีจะจืดลงมานิดเดียว ส่วน HTC One M8 ก็ทำได้ดีเช่นกัน แต่รายละเอียดที่ปกคอเสื้อสีขาวหายไปบางส่วน แล้ว Samsung Galaxy S5 ถือว่าพอใช้ได้ แต่ภาพดูมีการปรับแต่งจนผิดธรรมชาติไปหน่อยรวมไปถึงสีจืดด้วย ส่วน Sony Xperia Z2 ภาพ Noise มาเต็ม ไม่มีการประมวลผลช่วยลด Noise ใดๆทั้งสิ้น ส่วน Lumia ทั้งคู่สีถือว่าผิดธรรมชาติอย่างมากและมืด โดยเฉพาะ Lumia 930 เพี้ยนจนเสื้อเปลี่ยนสีไปเลย

หัวข้อนี้คะแนนเป็นดังนี้ครับ

11. แฟลช

รูปนี้ถ่ายโดยปิดไฟ แล้วให้แสงแฟลชจากกล้องเป็นแสงหลัก จุดที่จะดูคือสีของดอกไม้ ความนุ่มนวลของแสง (โทนสีของแสง) มาดูกันเลยครับ

จะเห็นได้ว่าภาพจาก Nokia Lumia 1020 ได้ทั้งความสว่างและยังดูธรรมชาติและสีที่ยังสดใส ส่วน Nokia Lumia 930 สว่างลดลงมาหน่อยนึง ส่วน Sony Xperia Z2 ก็ถือว่าดีมากเช่นกัน เป็นธรรมชาติแล้วยังเห็นรายละเอียดกำแพงด้านหลัง แต่ว่ามี Noise ให้เห็นอยู่บ้าง ส่วน Oppo Find 7 ก็ทำได้ดีมาก แต่ LG G3, HTC One M8 และ Huawei Ascend P7 ฉากหลังจะออกมามืดกว่าตัวอื่น ส่วน Samsung Galaxy S5 สีอมฟ้ามากเกินไป และภาพโดยรวมดูแข็งกว่าตัวอื่นทั้งหมด

คะแนนหัวข้อนี้เป็นดังนี้ครับ 

12. การใช้งาน

ทีนี้มาดูเรื่องการใช้งานกันบ้างครับ หัวข้อนี้จะไม่มีรูปให้เปรียบเทียบ เพราะจะเป็นการให้คะแนนจากประสบการณ์การใช้งานจริงว่าตัวไหนเป็นอย่างไรกันบ้าง เรียงตามลำดับคะแนนเลยละกัน

1. LG G3 – ต้องบอกว่าการใช้งานของ LG G3 ทำออกมาได้ดีมากๆ แทบจะไม่มีที่ติใดๆ ปัญหาความเร็วในการโฟกัสในที่แสงน้อยถือว่าดีทีสุด โฟกัสเร็วและถูกต้อง รูปที่ถ่ายมาหลายรูปในแต่ละมุม แทบจะไม่มีความต่าง เพราะชัดทุกรูปครับ กดถ่ายปุ๊ปได้ภาพปั๊ป ไม่ต้องมีจังหวะให้รอ รวมไปถึงยังมีระบบกันสั่นด้วย Hardware ช่วยเรื่องการถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีอีกด้วย

2. iPhone 5s – เรียกว่าการใช้งานไม่หนีกับ LG G3 มากนัก ภาพที่ได้ก็ชัดทุกรูปเช่นกัน แต่โฟกัสในที่แสงน้อยจะช้ากว่า LG G3 พอสมควร นอกนั้นก็ไม่มีที่ติใดๆครับ

3. HTC One M8 – เรียกว่าการใช้งานสูสีกับสองตัวข้างบนเลยนะครับ ชัดทุกรูปเหมือนกัน (ชัดแบบ 4 ล้าน) แต่จุดที่แพ้คือเรื่องความเร็วในการโฟกัสในที่แสงน้อย เพราะถือว่าช้ากว่าสองตัวข้างบนไม่น้อยเลย นอกนั้นก็ไม่มีที่ติครับ

4. Oppo Find 7 – จริงๆการใช้งานของ Oppo Find 7 ทำได้พอๆกับ LG G3 เลยด้วย โฟกัสในที่แสงน้อยก็ทำได้เร็วไม่แพ้กัน แต่ปัญหาคือรูปในที่แสงน้อย มีบางภาพที่โฟกัสไม่ถูกจุด และการถ่ายภาพเวลากดถ่ายไปแล้ว นานๆอาจจะเจอว่ามีการหน่วง ไม่ได้ภาพทันทีที่กด ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเพราะอะไร นอกนั้นถือว่าไม่มีที่ติเช่นกัน

5. Samsung Galaxy S5 – การใช้งานก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้ใคร โฟกัสเร็วและแม่น จริงๆสภาพแสงดีๆถือว่าเร็วที่สุดในกลุ่มด้วย แต่ถ้าแสงน้อยโฟกัสจะช้ากว่า LG G3 นิดหน่อย แต่ปัญหาจริงๆคือตอนถ่ายสภาพแสงน้อย จะมีการประมวลผลภาพ นั่นคือตอนถ่ายจะบังคับให้เราถือกล้องไว้นิ่งๆ ทำให้ถ่ายภาพได้ช้ามาก และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถ่ายภาพต่อเนื่องได้ ยกเว้นว่าเราจะไปปิดฟังชั่นกันสั่น (Picture Stabilization) ซึ่งจะทำให้ถ่ายภาพได้เร็ว แต่ภาพที่ได้จะมืดและ Noise เยอะกว่าปกติ ผมแนะนำว่าไม่ควรปิดฟังชั่นนี้นะครับ (ตอนทดสอบเปิดฟังชั่นนี้ไว้ตลอดครับ)

6. Huawei Ascend P7 – การใช้งานถือว่าทำได้เร็ว คือไม่เร็วเท่า 5 ตัวข้างบน แต่ไม่ช้าครับ แล้วถ้าแสงน้อยจะมีการประมวลผลภาพเหมือน Samsung Galaxy S5 (เครื่องจะบอกว่ากำลังประมวลผลภาพเพิ่มความคมชัด)

7. Nokia Lumia 1020, Nokia Lumia 930 – การใช้งานถือว่าไม่เร็วนัก โฟกัสค่อนข้างช้า แล้วถึงจะกดโฟกัสไปแล้ว บางทีกดถ่ายตัวกล้องก็จะโฟกัสใหม่ แต่ยังดีที่มีระบบกันสั่นมาช่วยเรื่องภาพนิ่งครับ

8. Sony Xperia Z2 – การใช้งานถือว่าช้าที่สุด เพราะเราไม่สามารถกดโฟกัสไว้ก่อนได้ จะเลือกจุดโฟกัสต้องเตะจุดที่จะโฟกัสไว้ก่อนแล้วตอนกดถ่ายถึงจะโฟกัสแล้วถ่าย (ยกเว้นว่าเราจะเลือกเป็น Touch Shutter คือกดเลือกจุดที่จะโฟกัสแล้วถ่ายเลย) เราจะไม่มีทางได้ภาพทันทีที่กด ยกเว้นว่าเราใช้ปุ่มชัตเตอร์ในการกดถ่าย แล้วเราจะต้องกดปุ่มลงครึ่งนึงเพื่อโฟกัสไว้ก่อน แล้วจังหวะที่กดลงไปจะได้ภาพทันที แต่ก็มีข้อเสียคือจะเอาภาพนิ่งๆชัดๆต้องกดค้างไว้แป๊ปนึง เพราะถ้ากดแล้วยกเลย ภาพจะสั่นถ้าแสงไม่พอ แล้วพอกดค้างไว้ก็จะกลายเป็นถ่ายภาพต่อเนื่องหลายภาพแทน ถ้าจะไม่เอาภาพต่อเนื่อง ก็ต้องมากดเลือกว่าตอนกดค้างให้ปิดฟังชั่นถ่ายต่อเนื่อง อย่าเพิ่งงงไปล่ะ ยังไม่หมดนะครับ ถ้าจะถ่ายโหมด 20 ล้าน ต้องเลือกโหมดถ่ายเป็น Manual ซะก่อน แล้วถ้าจะเลือกโหมด SCN (ซีนถ่ายภาพ) ก็ต้องเลือกที่โหมด Manual ก่อนเช่นกัน แล้วทุกครั้งที่เลือกโหมด Manual เอาไว้ เวลาไม่ได้ใช้สักพัก เวลามากดถ่ายใหม่ ก็จะกลับไปเป็นโหมด Auto อีก สรุปง่ายๆเลยนะครับ ถ้าคนใช้กล้องเป็นจะชอบ เพราะสามารถปรับอะไรได้เยอะ แต่ถ้าสำหรับคนทั่วไป คงต้องศึกษากันเยอะหน่อย เพราะใช้ไม่ง่ายครับ นี่ขนาดแค่อ่านยังมึนเลยใช่มั้ยล่ะครับ เอาไปเลยบ๊วยเรื่องการใช้งานครับ

คะแนนหัวข้อนี้เป็นดังนี้ครับ

เอาล่ะครับ ทีนี้ก็มาถึงการรวมคะแนนกัน

บอกไว้ก่อนตรงนี้เลยนะครับ คะแนนที่ออกมาคือคะแนนในการทดสอบรวมทุกด้าน แต่ถ้าใครรู้ตัวเองว่าชอบถ่ายภาพในสภาพแสงแบบไหน จะไม่สนภาพตอนกลางคืน หรือไม่สนกล้องหน้า หรือจะไม่สนการใช้งาน ก็สามารถรวมคะแนนกันเองได้เลยนะครับ

คะแนนรวมที่ออกมานั้น มือถือที่จะได้คะแนนดีไม่ใช่มือถือที่ดีไปทุกด้าน แต่เป็นมือถือที่มีจุดอ่อนน้อยที่สุดมากกว่า ผมจะรวมคะแนนแบ่งเป็น 2 ตารางนะครับ ตารางแรกเกี่ยวกับภาพจากกล้องหลังอย่างเดียวเลย จะตัดคะแนนเรื่องกล้องหน้าออกไป รวมไปถึงคะแนนการใช้งานด้วย จะไม่เอามาคิด ส่วนตารางที่สองจะเอามาคิดทุกอย่างครับ มาดูผลกันเลย

ตารางแรก – รวมคะแนนเกี่ยวกับกล้องหลังอย่างเดียว

ตารางที่สอง – รวมคะแนนทั้งหมด

เป็นยังไงกันบ้างครับกับผลสรุปของการทดสอบครั้งนี้ ใครที่อ่านแล้วข้ามทั้งหมดมาดูตรงผลสรุปนี้ ผมอยากจะบอกว่าคะแนนไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ อยากให้อ่านในรายละเอียดด้วยนะครับ ใครมีอะไรก็ถามมาทางด้านล่างได้เลยครับ