วีซ่า ได้ออกมาเผยข้อมูลเกี่ยวกับการชำระเงินของผู้บริโภคในประเทศไทย โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในรูปแบบการแตะจ่ายสูงถึง 3.8 ล้านครั้ง และสำหรับการใช้จ่ายออนไลน์ วีซ่าได้เผยข้อมูลว่าคนไทยซื้อของออนไลน์ทุก ๆ 2 วัน หรือ 14 ครั้งต่อเดือน โดยการช้อปผ่านแอปพลิเคชันได้รับความนิยมมากกว่าการช้อปผ่านเว็บไซต์

แตะจ่ายผ่านบัตรเพิ่มเป็น 3.8 ล้านครั้งในเดือนมิถุนายน

ด้วยสถานการณ์โรคระบาด แม้ว่าหลายคนทำงานที่บ้านกัน แต่อีกหลายคนยังจำเป็นต้องออกจากบ้านอยู่เสมอ แน่นอนว่าออกมาแล้วก็ต้องมีการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหากทำด้วยเงินสดปกติก็มีความเสี่ยง แต่เดี๋ยวนี้การชำระเงินทำได้ง่ายและมีหลายรูปแบบ หนึ่งในวิธีที่นิยมมากที่สุดในขณะนี้ก็คือการชำระแบบแตะจ่าย หรือที่เราเรียนกันว่า Contactless Payment โดยทางวีซ่าได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจออกมาว่าปัจจุบันมีการชำระเงินแบบ Contactless สูงขึ้นมา ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มียอดการใช้งานการแตะจ่ายของวีซ่าสูงถึง 3.8 ล้านครั้ง

“สถานการณ์ในปัจจุบันกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้การชำระเงินในรูปแบบ Contactless มากขึ้นและในอัตราที่เร็วขึ้น การชำระเงินแบบ Contactless เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทยใน พ.ศ. 2551 และมียอดผู้ใช้บริการแตะเพื่อจ่ายถึงสองล้านครั้งเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2563 นับจากนั้นเราได้เห็นอัตราการใช้งานอย่างก้าวกระโดด โดยเป็นเพราะการชำระเงินแบบ Contactless นั้นช่วยให้ผู้บริโภค และร้านค้ามีช่องทางการชำระ และรับชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการแพร่ระบาดในครั้งนี้” คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์, ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทยกล่าว

โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะชำระเงินแบบแตะจ่ายนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) พบว่า กว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ใช้งานการแตะจ่ายรู้สึกปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19 มากกว่าการชำระเงินด้วยเงินสด และกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานการแตะจ่ายของวีซ่าวไทย ได้เริ่มใช้งานระบบการแตะจ่ายผ่ายบัตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะบัตรเครดิต เดบิต หรือบัตรเติมเงินต่าง ๆ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 

ทุกวันนี้เราก็สามารถใช้งานบัตรวีซ่าเพื่อแตะจ่ายผ่านการซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือแตะจ่ายค่ารถโดยสารประจำทางก็ทำได้เช่นกัน และทางวีซ่ามีแผนจะขยายความครอบคลุมให้มากขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะลดลง คนไทยจะมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายด้วยเงินสดลงด้วยเช่นกัน

ช้อปปิ้งออนไลน์โตต่อเนื่อง คนไทยช้อปออนไลน์ 14 ครั้ง ใน 1 เดือน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ และการมาของโรคระบาดก็ทำให้คนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น การซื้อของต่าง ๆ ก็ต้องทำผ่านออนไลน์ ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ก็คือ “แอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์” โดยข้อมูลจากทางวีซ่า ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี (Visa Consumer Payment Attitudes Study) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยเลือกช้อปผ่านแอปฯบนสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ยทุก 2 วัน หรือประมาณ 14 ครั้งต่อเดือน

ช่องทางในการชำระเงินของคนในแต่ละวัยก็มีความแตกต่างกัน โดยสำหรับคนใน Generation Z  (มหาลัย – เพิ่งเริ่มทำงาน) กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงิน e-wallet ของตัวแอปเอง ในขณะที่คนยุค Baby Boomer (อายุราว 60+) มักจะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากกว่า ด้วยตัวเลขที่ 59 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลจากการศึกษานี้ได้ระบุอีกว่า ผู้ที่เข้าร่วมทำแบบสอบถามจะมีแนวโน้มใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น เมื่อมีความั่งคั่งทางการเงินที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ผู้คนยังนิยมการช้อปปิ้งผ่านทางแอปฯมากกว่าการช้อปผ่านหน้าเว็บไซต์ ด้วยความสะดวกรวดเร็ว ค้นหาสินค้าง่าย และฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น ไม่ว่าจะ Shopee, Lazada, JD Central และอื่น ๆ ซึ่งทางแอปฯเหล่านี้มีการรวมสินค้าจากหลากหลายหมวดหมู่เข้าไว้ด้วยกัน และการชำระเงินก็ทำได้หลายรูปแบบ ที่สำคัญสามารถใช้เพื่อชำระบิลต่างหรือซื้อดีลอาหาร/ดีลส่วนลด รวมถึงเติมเงินหรือสมัครแพ็กเกจเสริมอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย

จากฟีเจอร์และความหลากหลายของบริการนี้บวกกับสถานการณ์ของโรคระบาดในปัจจุบัน ทำให้เราทราบเหตุผลว่าทำไมยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ถึงเพิ่มมากขึ้นและเป็นผลให้คนไทยช้อปปิ้งออนไลน์มากถึงเดือนละ 14 ครั้ง หรือ ทุก ๆ 2 วัน

สำหรับการชำระเงิน ในปัจจุบันมีช่องทางการชำระที่หลากหลายให้ผู้ใช้งานได้เลือกตามความสะดวก ซึ่งตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าคน Gen Z จะชอบการใช้จ่ายผ่านโมบายล์วอลเล็ต ไม่ว่าจะเป็น TrueMoney Wallet, Shopee Pay Wallet, Rabbit Line Pay หรืออื่น ๆ ในขณะที่ Gen Baby Boomer จะชอบการจ่ายผ่านบัตรเครดิตเสียมากกว่า แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขจากการสำรวจของวีซ่าพบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคก็ยังคงเลือกใช้จ่ายผ่านแอปโมบายล์วอลเล็ตอยู่ดี แม้จะไม่ได้รับรีวอร์ดตอบแทน เช่น ส่วนลด หรือเครดิตเงินคืน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย จากการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลมากว่าผลตอบแทนในการใช้จ่าย ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยมีแอปพลิเคชั่นที่มีฟังก์ชันวอลเล็ตเฉลี่ยที่ 3.5 แอปบนมือถือ แต่เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาอยากได้แอปเดียวที่ตอบโจทย์ทุกเรื่องในการทำธุรกรรมและการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การจับจ่ายซื้อของ บริการเรียกใช้ยานพาหนะ บริการด้านต่าง ๆ ตลอดจนใช้ซื้อประกัน

 

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์