หลังจากทาง Alphabet Inc. (บริษัทแม่ของ Google) ได้ทำการออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า Larry Page และ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Search จนยิ่งใหญ่ได้อย่างทุกวันนี้ ได้ขอยุติบทบาทบริหารโดยตรงทั้งหมดอย่างเป็นทางการ วางมือจากทั้งองค์กรโดยส่งไม้ต่อโดยสมบูรณ์ให้กับ Sundar Pichai ชายผู้สร้างชื่อจากพนักงานผู้ซื่อสัตย์ สู่ผู้บริหารสูงสุดของหนึ่งในองค์กรที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก วันนี้เราจะพาไปดู Timeline ของ Google กันแบบเต็มอิ่มตั้งแต่วันแรกเมื่อ 20 ปีก่อนที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากโรงรถหน้าบ้านกันเลย !

อันที่จริงในช่วง 5 – 6 ปีให้หลังมานี้ คู่หู่ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Inc. อย่าง Larry Page และ Sergey Brin นั้นเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทใด ๆ ทางการตลาดโดยตรงกับ Google แล้วด้วยการทยอยลดบทบาทงานบริหารและกิจกรรมทางธุรกิจและสังคมในฐานะ Google ออกไป โดยทั้งคู่ได้ยกตำแหน่งบริหารให้บรรดาพนักงานรุ่นบุกเบิกที่ได้รับการไว้วางใจ เช่น Sundar Pichai เองก็ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Google มาได้หลายปีแล้วเช่นกัน แต่ในที่สุดเมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา Alphabet Inc. ก็ได้มีประกาศอย่างเป็นทางการถึงการยุติบทบาทบริหารทางตรงทั้งหมดของ Page และ Brin ลง โดยเลือกส่งไม้ต่อให้สายตรงที่สาวก Google คุ้นหน้าคุ้นตากันดีแล้วอย่าง Sundar Pichai ขึ้นแท่นผู้บริหารทั้ง Alphabet และ Google แทนนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม: จดหมายเปิดผนึกอย่างเป็นทางการจาก Larry Page และ Sergey Brin

  • 1996 | Larry Page x Sergey Brin พบแรกที่ Stanford University ปลุกปั้นไอเดีย PageRank จนกลายมาเป็น Google Search

ทั้ง Page และ Brin ในวัย 23 ปีได้เป็นเพื่อนกัน ในช่วงปี 1995 ขณะกำลังศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกด้านเทคโนโลยีอย่าง Stanford University โดยทั้งคู่ปิ๊งไอเดียจากเทคโนโลยี World Wide Web ที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลกในขณะนั้นว่า ควรมีการจัดอันดับเว็บไซต์ขึ้นโดยอาศัยวิธีการเรียงลำดับคุณภาพการค้นหาจากการที่แต่ละเว็บไซต์ถูกวางลิงค์มาจากเว็บอื่น ๆ มากที่สุด โดยได้ Algorithm ที่พัฒนาโดย Brin เป็นแกนหลักทำให้สามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “PageRank” ขึ้นเป็นครั้งแรกบนโครงข่ายของวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในเดือนสิงหาคม ปี 1996 ซึ่ง Algorithm ที่นี้เองกลายมาเป็นแกนหลักแกนแรกของ Google Search อันสร้างชื่อไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง

นอกจากนั้นยังมี Easter Egg เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ Sergey Brin ทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 1996 เท่ ๆ เลย โดยเป็น URL Link ไปยัง Resume ของเขาเองบนระบบของ Stanford University ที่หากเพื่อน ๆ เปิดดู Source Codes ของหน้าเว็บจะพบว่า Brin ได้ซ่อนข้อความที่เป็น Objectives ของเขาเอาไว้ด้วยว่า “ขอออฟฟิศใหญ่ ๆ เงินดี ๆ งานน้อย ๆ และหากได้เงินเพื่อท่องเที่ยวไปยังดินแดนอันน่าตื่นเต้นตลอดเวลาด้วยจะดีมาก… ” ซึ่งหากมองดู Lifestyle ของ Brin ในวันนี้แล้ว สามารถบอกได้เลยว่าเขาน่าจะประสบความสำเร็จในทุกข้อของชีวิตที่ต้องการแล้วล่ะ ซึ่ง Brin เป็นคนที่มีวิถีชีวิตที่ดูเรียบง่ายเป็นพิเศษมาก ๆ ไม่ค่อยถูกพบเห็นบนโลกโซเชี่ยลเท่าไหร่นัก

  • 1998 | หอพักนักศึกษามันเล็กไปแล้ว ต้องขยายไปเช่าพื้นที่ โรงรถ !

ใครจะไปเชื่อว่าในยุคบุกเบิกของ Google โดยคู่หู Page & Brin ต้องย้อนไป 20 ปีก่อนหน้านี้ที่คำว่า Google ยังไม่ถูกบัญญัติเป็นคำกิริยา (ปัจจุบันภาษาอังกฤษนับให้คำว่า Google กลายเป็นคำกิริยาได้ ถูกต้องตามหลักภาษา) ในขณะที่ Search Engine เริ่มแพร่หลายในหมู่ Startup ยุค 90 ทั้งคู่จึงตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจนี้ร่วมกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นโดยจำเป็นต้องขยายพื้นที่ออฟฟิศทำงานจากหอพักนักศึกษาปริญญาเอกในขณะนั้น ให้มันใหญ่โตสมฐานะตามภาพด้านล่างนี้เลย แน่นอนเลยว่ามันคือ “โรงรถ” ของบ้านใน Menlo Park มลรัฐ California ที่ปัจจุบัน Google Inc. เข้าซื้อเก็บเป็นที่ระลึกไปแล้ว

ในปีเดียวกันนี้เป็นปีที่ Google พยายามมองหาโอกาสในการทำเงินจาก Search Engine โดยไม่อาศัยเกณฑ์จ่ายมากได้มากเป็นแกนเดียวสำหรับลูกค้าที่อาจจะซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มของพวกเขา แต่การสร้าง Search Engine ที่ดี ต้องทำเงินได้จากค่าโฆษณา แต่ก็ต้องมั่นใจได้ว่าเกิดจากคุณภาพของระบบที่ดีพอ การซื้อโฆษณาจึงเป็นส่วนช่วยธุรกิจส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนเลยว่าในช่วงแรก ๆ บรรดา Search Engine คู่แข่งต่างทำเงินได้มากกว่า เร็วกว่า และง่ายกว่า Google ในขณะที่ Google นั้นถูกยกให้เป็น Search Engine ได้ในเวลาอันรวดเร็วและยืนหนึ่งมาตลอดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเลยทีเดียว

  • 1999 | Page กับ Brin กับความพยายามขาย Google ทิ้ง ลดกระหน่ำ 7.5 แสนเหรียญ ยังไม่มีคนซื้อ

อันที่จริงก่อนที่ Google จะโด่งดังเป็นพลุแตกในยุคต้นปี 2000 นั้น คู่หู Page & Brin ได้คิด พินิจ พิจารณากันนานมาก นานจนตัดสินใจได้ว่าพวกเขาสร้างมูลค่าให้กับ Google ได้มากแล้ว ถึงเวลาที่จะเร่ขายแพลตฟอร์มนี้ทิ้งซะ จะได้รวยกันทั้งคู่ โดยไม่อาจคาดคิดได้ว่า 20 ปีผ่านมาจะเกิดอะไรขึ้นอีก แน่นอนว่าพวกเขาไม่ลังเล ติดต่อไปยัง Venture Capitalist ชื่อดัง Khosla Ventures จนพบกับบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ชื่อว่า Excite ขณะนั้นมี CEO ชื่อ George Bell ผู้ซึ่งไม่ยอมซื้อ Google ในราคา 1 ล้านเหรียญ (ราว 30 ล้านบาท) หรือแม้กระทั่งในราคาสุดท้ายที่ 7.5 แสนเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ราว ๆ 22 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าธุรกิจของ Google ในปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2019) อยู่ที่ 9.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 27 ล้านล้านบาท หรือมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจาก Apple เท่านั้นเอง 😯

  • 2000 | การสร้างวัฒนธรรม “Don’t Be Evil” กับ การมาของ Eric Schmidt

เมื่อองค์กรเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง วัฒนธรรมและคุณค่าร่วมกันขององค์กรก็กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ Google จนกระทั่งในการประชุมผู้บริหารของบริษัท Paul Buchheit หนึ่งในผู้บริหารและผู้ให้กำเนิด Gmail เปิดเผยถึงคำที่ว่า “Don’t Be Evil” นำเสนอต่อ Google ว่าเป็นสิ่งที่พูดแทนความเป็นพวกเขาได้ดีที่สุด เพราะขณะที่คำสั้น ๆ ดูเล่น ๆ เช่นนี้พูดแทนความขี้เล่นที่เป็นคุณลักษณะของ Google ได้อย่างดีแล้ว ยังเป็นการเหน็บแนมบรรดาคู่แข่งในเวลานั้นที่ล้วนแต่เน้นเรื่องการสร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกอบมากกว่าสร้างคุณภาพของแพลตฟอร์มอย่างที่ Google เป็น หรือก็คือบอกเป็นนัยว่า “ไม่จำเป็นต้องขูดเลือดขูดเนื้อใครก็ทำธุรกิจให้ดีได้” นั่นเอง

นอกจากนั้นในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน Google ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารงานธุรกิจที่ไม่ใช่สิ่งที่ Page กับ Brin ถนัดมากนัก โดยเฉพาะ Page ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอินดี้ ไล่พนักงานระดับ High-Profile ออกเป็นว่าเล่นเพราะแค่ไม่ถูกใจในวิธีคิด ซึ่งไม่ส่งผลดีเอาเสียเลยต่อภาพลักษณ์ของ Google เองที่วางแผนจะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนให้ได้ในเร็ววัน ทำให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นรวมในเวลานั้นลงมติให้หานักบริหารมืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่แทนคู่หู Page & Brin จนได้ Eric Schmidt จากบริษัทซอฟแวร์เน็ตเวิร์คชื่อดังในขณะนั้นอย่าง Novell มาเป็น CEO ในที่สุด ซึ่งในรายของ Page นั้นไม่ค่อยพอใจนักที่ต้องสละเก้าอี้บริหารงานโดยตรงให้กับคนที่ไม่ใช่วิศกรสายตรงของ Google แต่สุดท้ายก็ยอมรับในฝีมือของ Schmidt ที่เป็น CEO ตั้งแต่ 2001 ถึง 2011 เลยทีเดียว

  • 2002 | Yahoo ขอซื้อกิจการในราคา 3 พันล้านเหรียญ แต่คราวนี้ Page & Brin ไม่ขาย !

ช่วงปี 2002 นั้น Yahoo ถือเป็นหนึ่งใน Tech Giants ตัวจริงของยุคเลยก็ว่าได้ มีบริการด้านอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมมากที่สุด สร้างเม็ดเงินจากการโฆษณาดิจิทัลมากที่สุด และเล็งเห็นศักยภาพที่แท้จริงของ Google อย่างทะลุปรุโปร่งพร้อมเสนอเงินก้อนโตกว่า 3 พันล้านเหรียญ (กว่า 90,000 ล้านบาท) ให้กับ Google ซึ่งบรรดากูรูการเงินของยุคนั้นต่างเห็นตรงกันว่า “เป็นความคิดและเม็ดเงินที่บ้าคลั่งอย่างเสียสติมาก ๆ สำหรับการเสนอซื้อกิจการ Startup ที่เป็น Search Engine ที่กำลังมาแรงก็จริง แต่ไม่สร้างเม็ดเงินรายได้อะไรเลย” แถมยิ่งดูบ้าคลั่งเข้าไปใหญ่สำหรับ Page & Brin ที่ตัดสินใจแน่วแน่ในครั้งนี้ ไม่ขายกิจการให้กับ Yahoo แต่จะตั้งตัวเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวแทนตั้งหากล่ะ

นับว่าผู้บริหารของ Yahoo ในสมัยนั้นอ่านเกมส์ขาดเป็นที่สุด แต่ดีลไม่สำเร็จเพราะความไม่ต้องการขายของฝั่ง Google เอง ซึ่งอาจส่งผลไม่มากก็น้อยให้ Yahoo ที่เคยเป็นเบอร์ 1 ในวันนั้น กลายเป็นแค่ผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดที่สุดท้ายไปไม่รอดเสียเองจนต้องตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออย่าง Verizon พร้อมถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Verizon Media แทนในที่สุด ส่วนบริการ Email Yahoo ที่เคยโด่งดังนั้น ไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ยังมีผู้ใช้บริการอยู่สักกี่คนกันนะ

  • 2004 | IPO ที่มูลค่า 2.7 หมื่นล้าน จาก Startup ชื่อดังบนโลกออนไลน์ สู่เส้นทางยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ

เพียงไม่กี่ปีให้หลังจากที่ Google เร่ขายกิจการตัวเองในราคาไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ นำเข้า Eric Schmidt ผู้เป็นมืออาชีพด้านงานบริหาร และ 2 ปีพอดีถัดจากวันที่ Yahoo ขอซื้อกิจการในราคา 3 พันล้านที่ถูกปรามาสว่าแพงเวอร์ แต่ในเดือนสิงหาคม ปี 2004 Google ตัดสินใจเสนอขายหุ้น IPO แปรรูปเป็นกิจการมหาชน พวกเขากลับได้รับการประเมินจากประชาชนชาวอเมริกันว่ามีมูลค่ามากถึง 2.7 หมื่นล้านเหรียญ หรือว่า 7.2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว เรียกว่าก้าวกระโดดทางมูลค่าชนิดกลายไปเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ได้ในเวลาไม่ถึงทศวรรษ

นอกจากกลายทำ IPO อันเลื่องชื่อนับเป็น Tech Startup รายแรก ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในระดับนี้แล้วนั้น  Google ยังนำเสนอสิ่งที่บรรดาเทค ฯ ยักษ์ใหญ่หลายรายรวมถึง Facebook ในเวลาถัดมาพากันทำตามก็คือ การแยกหุ้นของผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นชุดแรก ๆ ที่มีความเข้าใจ Google อย่างถ่องแท้ในรายละเอียดเชิงปรัชญาและเทคนิคออกเป็นหุ้นที่เรียกว่า Super-voting Class B ซึ่งมีเสียงโหวตมากกว่าหุ้นชนิดปกติ A-Shares ถึง 10 เท่า ทำให้บรรดาผู้นำ และผู้ร่วมก่อตั้งชุดแรก ๆ ยังคงสถานะทางการตัดสินใจหลักของ Google Inc. เอาไว้ให้มั่นใจได้ว่า โฟกัสของการสร้างผลกำไรนั้นจะอยู่ที่ระยะยาวมากกว่าการหวังผลระยะสั้นตามสไตล์นักลงทุนอเมริกันนั่นเอง

  • 2005 | Page สุดอินดี้ ! ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ Android โดยไม่บอก Eric Schmidt ผู้เป็น CEO ในขณะนั้น

ความอินดี้อันสุดกู่แบบฉุดไม่อยู่ของ Larry Page บางทีก็เหมือนกับว่ามีญาณทิพย์ มองเห็นอนาคตล่วงหน้าซะอย่างนั้น เพราะในปี 2005 เป็นปีที่ Page ตัดสินใจควักเงินบริษัทเป็นจำนวน 50 ล้านเหรียญ (กว่า 1,500 ล้านบาท) โดยที่ไม่บอกให้ CEO ของ Google อย่าง Eric Schmidt ทราบเสียก่อนด้วยซ้ำ เพราะ Page เชื่อมั่นใน Andy Rubin บิดาแห่ง Android ที่ชาว DroidSans รู้จักกันดีเป็นอย่างมากว่า จะช่วยเติมเต็มศักยภาพด้านซอฟแวร์บนอุปกรณ์พกพาที่เริ่มเกิดขึ้นเป็นเทรนด์ของโลกกันแล้ว และในที่สุด 2 ปีให้หลัง iPhone ก็ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ Andy Rubin กำลังเดินทางไปประชุมกับ Google เรื่อง Android OS ของพวกเขา ซึ่ง Rubin และ Page เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าการเปิดตัวของ iPhone ในปี 2007 นั้นทำให้พวกเขาต้องเลื่อนทุกอย่างของ Android ออกไปถึงปี 2008 เพราะ iPhone มันดีเสียจนสิ่งที่อยู่ในมือของพวกเขาในวันนั้นเรียกได้ว่าสุดห่วยเลยล่ะ 😆

  • 2006 | Susan Wojcicki พนักงานยุคโรงรถต้องอ้อนวอนให้ Page & Brin ยอมให้ซื้อกิจการ YouTube

Susan Wojcicki พนักงานคนที่ 16 ของบริษัทที่มีชื่อว่า Google นั้นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างสูงมากจาก Page และ Brin ในการอ้อนวอนให้พวกเขายอมอนุมัติให้ Google เข้าซื้อกิจการ Video Streaming ที่กำลังเริ่มเป็นรู้จักในขณะนั้นอย่าง YouTube ซึ่งอันที่จริงทั้ง Page และ Brin นั้นไม่ค่อยจะสันทัดเรื่องความบันเทิงด้านวิดีโอมากนักทำให้ Susan ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะโน้มน้าวให้ Google เข้าซื้อกิจการ YouTube ได้สำเร็จใช้เงินไปมากถึง 1,650 ล้านเหรียญ หรือกว่า 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความพยายามอันชาญฉลาดเพราะปัจจุบัน YouTube ยังคงเป็นเบอร์ 1 ของโลกในปริมาณ Traffic ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง และแน่นอนว่ามีคุณ Susan Wojcicki เป็นผู้บริหารอยู่ในเวลานี้อีกด้วย

  • 2008 | เปิดตัว Android OS กับ HTC Dream พร้อมถือกำเนิด Superstar แห่ง Chrome Browser, Sundar Pichai

หลังจากทีมงานปั้น Android ต้องตกตะลึงกับผลงานของ Steve Jobs กับ iOS ในปี 2007 จนต้องเลื่อนวันเปิดตัวระบบปฏิบัติการของ Google ออกไป ในที่สุดพวกเขาก็พร้อมนำเสนอสิ่งที่แตกต่างแต่มาพร้อมศักยภาพที่ไม่แพ้กันอย่าง Android 1.0 ที่มาพร้อมคีย์บอร์ดสไลด์ข้างที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ผ่านแบรนด์ผู้ผลิตชื่อดังอย่าง HTC Dream ก่อนที่ Android จะมีชื่อเล่นเป็นขนมหวานตั้งแต่เวอร์ชั่น 1.5 Cupcake เป็นต้นมานั่นเอง

นอกจากนั้นความพยายามหมายมั่นปั้นมือสร้าง Browser ที่เป็นของ Google เองโดย Page & Brin ที่ซื้อตัวพนักงานมือดีจำนวนมากมาจากค่าย Mozilla Firefox ซึ่งกำลังขึ้นชื่อเป็นคู่แข่งสำคัญกับ Internet Explorer ในสมัยนั้น ให้มาร่วมงานกับวิศวกรซอฟแวร์ที่ทำหน้าที่เป็น Product Manager นำทีมพัฒนา Browser อยู่ในขณะนั้นนามละม้ายคล้ายสกุลไทยอย่าง Sundar Pichai ก็ประสบผลสำเร็จหลังจาก Pichai เองเป็นคนที่ร่วมกับ Page ในการเปลี่ยนความคิดทีมบริหารของ Google ให้ยอมรับการลงทุนในตลาด Browser อันดุเดือดเลือดพล่านในขณะในที่สุด จน Chrome ได้เปิดตัวให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2009

  • 2011 | Page ทวงคืนเก้าอี้ CEO จาก Eric Schmidt ก่อนล้มป่วยโรคกล่องเสียงเป็นอัมพฤกษ์

หลังจากทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในฐานะผู้บริหารมืออาชีพมาตลอด 10 ปีที่ Google เติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นองค์กรขนาดยักษ์ ในที่สุด Eric ได้ประกาศลงจากตำแหน่ง CEO ย้ายไปนั่งเก้าอี้ Executive Chairman ทำหน้าที่ที่ปรึกษาบอร์ดบริหารแทน พร้อมประกาศแกลมเหน็บว่า “การกำกับดูแลแบบผู้ใหญ่เลี้ยงเด็กเป็นรายวันนั้นไม่จำเป็นแล้วตอนนี้” สอดคล้องกับสิ่งที่ Page ผู้ทวงเก้าอี้ CEO คืนประกาศชัดว่า “วัตถุประสงค์หลักของ Google ในวันนี้คือเราจะต้องเป็นยักษ์ใหญ่ที่รู้จักเล่นสนุก คล่องแคล่ว มีจิตวิญญาณ มีความปรารถนา และความเร็วดั่ง Startup” นับเป็นการกลับสู่ยุคเล่นพิเรนท์ หรือก็คือลองผิดลองถูกได้อีกครั้งนึงอย่างเป็นทางการ หลังมีการเงินและความน่าเชื่อจากธุรกิจหลักที่มั่นคงแล้วนั่นเอง สังเกตุได้จากโปรเจคแว่น Google Glass | รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ | เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

หลังจาก Page กลับสู่ตำแหน่ง CEO ของ Google ได้เพียง 1 ปี ก็เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกทำให้เขาต้องล้มป่วยด้วยอาการกล่องเสียงเป็นอัมพฤกษ์ส่งผลให้ไม่สามารถออกเสียงได้ตลอดปี 2012 ก่อนอาการจะทยอยดีขึ้นในที่สุดแต่สุดท้าย Page ก็ตัดสินประกาศลดบทบาทของตัวเองลงจากงานสังคมของ Google โดยให้เหตุผลทั้งในด้านสุขภาพและความปรารถนาที่จะได้อยู่อย่างเป็นการส่วนตัวมากขึ้นนั่นเอง เพิ่งจะอยู่ในวัย 30 กว่าปีเท่านั้นได้เกษียณอายุซะแล้ว

  • 2012 | เข้าซื้อกิจการ Motorola 1.25 หมื่นล้านก่อนขายทิ้งอย่างรวดเร็วกับราคา  1 ใน 3

2012 เป็นปีที่เต็มไปด้วยข่าวลือว่า Google ต้องการผลิตสมาร์ทโฟนขึ้นขายเอง จนกระทั่งในที่สุดเกิดดีลยักษ์ใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการของ Motorola ด้วยมูลค่าซื้อขายกว่า 1.25 หมื่นล้านหรือเกือบ ๆ 4 แสนล้านบาทก่อนจะขายออกไปให้กับ Lenovo ในเวลาอันสั้นด้วยมูลค่าเพียง 3 พันล้านเหรียญหรือหายไป 70% เลยทีเดียว ทั้งนี้ Google ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นความตั้งใจของ Google ที่จะทำเช่นนี้เพราะมูลค่าจ่ายไปนั้นคือการได้ถือครองสิทธิบัตรและ Know-how จำนวนมหาศาลสำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่าย ซึ่งในที่สุดข่าวลือเรื่องการผลิตสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองก็เป็นเรื่องจริงเพียงแต่ว่าไม่ได้เกิดจากดีล Motorola รายเดียวแค่นั้นเอง

  • 2014 | ปีแห่งความอัปยศของคน Google กับ ดราม่าความสัมพันธ์ดั่งละครหลังข่าว

นอกจากฝั่งธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงแข็งแกร่งแบบทรงตัวของ Google แล้ว ไม่รู้ว่าคนของ Google โดยเฉพาะบรรดาผู้บริหารระดับนั้นจะว่างงานเกินไปหรืออย่างไร พาเหรดกันสร้างข่าวฉาวเรื่องความสัมพันธ์กันจนต้องเกิดการตรวจสอบกันยกใหญ่ไล่มาตั้งแต่ Sergey Brin เองที่มีข่าวลือหนาหูเรื่องความสัมพันธ์นอกสมรสของเขากับ Marketing Manager ทีม Google Glass นามว่า Amanda Rosenberg ทั้ง ๆ ที่ทั้งคู่ต่างมีคู่สมรสอยู่แล้วงานนี้เล่นเอา Brin ต้องหย่ากับภรรยา ส่วนสามีของคุณ Amanda ซึ่งเป็นผู้บริหารทีม Android เองถึงกับหนีไปทำงานให้กับ Xiaomi ในประเทศจีน แถมจากนั้น Brin ถูกสาวไส้โดยนักข่าวขนานนามให้เป็น “The Google Playboy” ส่วน Andy Rubin แห่งบ้าน Android คือหนักที่สุดเพราะถูกเชิญให้ออกจาก Google เพราะเหตุล่วงละเมิดทางเพศพนักงานในทีม แต่ดูเหมือน Google จะไม่มีแถลงการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้พูดถึงแต่ประเด็นการแยกทางด้วยดีเท่านั้น

  • 2015 | ปรับโครงสร้างเป็น Alphabet และการผงาดสู่ตำแหน่ง CEO ของ Sundar Pichai

หลังจากการกลับสู่ตำแหน่งบริหารของ Page กว่า 4 ปีที่ถึงแม้ไม่ได้มีบทบาทต่อสาธารณะมากนัก แต่ก็ถือว่าประสบความเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไม่น้อยเพราะ Google นั้นแตก Division ทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกไปมากมายไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ | รถบินได้ | Wearable Technology | Radar Technology | Nexus Smartphone  | Cloud | AI | Quantum Computer และข่าวลือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อีกมากมาย ในที่สุดบอร์ดบริหารร่วมกับ Page & Brin ได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่จัดตั้งบริษัทแม่ชื่อ Alphabet Inc. โดยจะมี Page และ Brin เป็นผู้บริหารองค์กรในภาพรวม ส่วน Google Inc. นั้นส่งไม้ต่อให้กับ Google Superstar ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์หลักอย่าง Chrome | Google Drive | Gmail | Google Maps | และ Android ในขณะนั้นขึ้นเป็น CEO ของ Google มีอำนาจบริหารอย่างเต็มภูมินั่นเองโดยชายผู้นี้มีชื่อว่า Sundar Pichai นั่นเอง

  • 2016 – 2018 | Made-by-Google กับดีลเข้าซื้อกิจการบางส่วนของ HTC เพื่อเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่างเป็นทางการ

การขยับตัวครั้งล่าสุดที่ส่งผลต่อสาวก Android อย่างพวกเรานั้น ก็คงหนีไม่พ้นจะเป็นการประกาศเข้าร่วมเป็นผู้เล่นในตลาด Smartphone อย่างเป็นทางการกับแบรนด์ Google Pixel หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นการร่วมมือกับผู้ผลิตแบรนด์ต่าง ๆ เพื่ออกผลิตภัณฑ์เช่น HTC Dream หรือไลน์อัพ Nexus ก็ตาม โดยครั้งนี้ Google จะถือเป็นผู้ผลิตเองภายในแผนกฮาร์ดแวร์ที่มีชื่อว่า Made-by-Google ที่ทยอยเข็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาสู่มือผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น Pixel Phones | Chromecast | Tablet | Chromebook | Home เป็นต้น

จนในที่สุด Google ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการบางส่วนของ HTC ในปี 2017 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าคุ้มค่าเพราะ HTC นั้นอยู่ในช่วงที่มูลค่าทางธุรกิจนั้นตกต่ำลงไปมากในขณะที่ชื่อเสียงด้านการผลิตของพวกเขานั้นถูกยกให้เป็นอันดับต้น ๆ ของบรรดาผู้ผลิตชั้นนำมาโดยตลอด ซึ่ง Google ปิดดีลสำเร็จลุล่วงไปในราคา 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว ๆ 34,000 ล้านบาทเท่านั้น กับแผนก Manufacturing รวมถึง R&D คุณภาพระดับ HTC โดยมีข่าวลือว่า Pixel 4 เป็นผลิตภัณฑ์ชุดแรกที่เกิดจากดีลนี้แบบ 100% เป็นครั้งแรกอีกด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Google ยังเวียนไปว่าจ้างให้ HTC | Foxconn | LG ผลิต Google Pixel ซีรี่ย์ก่อน ๆ ให้อยู่นั่นเอง

  • 2019 – Present | Sundar Pichai ผู้นำเบ็ดเสร็จ จากผลผลิตยุคบุกเบิกของ Google

Sundar Pichai ชายชาวอินเดียผู้ได้รับโอกาสได้ร่วมงานกับ Google ตั้งแต่ปี 2004 และเขาไม่เคยจากไปไหนเลย เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารระดับสูงโดยตรง ให้ดูแลโปรเจคใหญ่ ๆ ที่ทำเงินให้กับ Google Inc. มากมาย แถมก่อนปี 2015 ที่เขาจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO นั้นมีข่าวลือหนาหูมาก ว่าทั้ง Twitter และ Microsoft ต่างมีการติดต่อไปยัง Pichai เพื่อเสนอตำแหน่งบริหารระดับสูงให้ ก่อนที่สุดท้ายเขาจะตัดสินใจอยู่กับ Google ต่อไปในจนในที่สุดเมื่อ Larry Page และ Sergey Brin ได้ตัดสินใจวางมือจากกิจการและงานบริหารลงอย่างเป็นทางการ Sundar Pichai คือคนเดียวที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงค์ตำแหน่งบอสใหญ่ค่าย Google ทั้งในบริษัทแม่อย่าง Alphabet Inc. และ Google Inc. แบบเบ็ดเสร็จชนิดที่ว่า ทิศทางของ Google จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ด้วยน้ำมือของ Sundar Pichai คนนี้นี่แหละ

 

อ้างอิง: The Verge | Business Insider | BBC News