ตำรวจไซเบอร์ออกมาเตือนประชาชน ปัจจุบันมีเพจขายสินค้าออนไลน์ปลอมระบาดหนัก พบประชาชนไทยตกเป็นเหยื่อมากเป็นอันดับ 1 มูลค่าความเสียหายรวม 1,644 ล้านบาท พร้อมฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการซื้อสินค้าออนไลน์เพื่อที่จะช่วยประชาชนไม่ให้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ
จากสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 – 8 ก.ค. 66 พบว่าประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าและบริการออนไลน์ โดยได้รับแจ้งความทั้งหมด 111,139 เรื่อง คิดเป็น 38.11% จากเรื่องทั้งหมด มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,644 ล้านบาท
รูปแบบความเสียหายที่เกิดขึ้นพบได้หลายรูปแบบ ดังนี้
- ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า
- ซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่ซื้อ (สินค้าไม่ตรงปก)
- ซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือมีคุณภาพต่ำ
แต่ไม่เพียงแค่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ยังมีร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับผลกระทบจากลูกค้าที่มาในคราบมิจฉาชีพเช่นกัน โดยการใช้หลักฐานโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย
สถิติตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 – 31 พ.ค.66
วิธีการที่มิจฉาชีพได้กระทำ คือ จะมองหาที่สินค้าและบริการที่กำลังเป็นกระแสอยู่ จากนั้นก็เปิดเพจเฟสบุ๊คปลอมขึ้นมา ตั้งชื่อและทำหน้าเพจให้เหมือนเพจจริงอย่างแนบเนียน โดยการคัดลอกภาพการซื้อขาย, สินค้า, เนื้อหาสินค้า ตลอดจนโปรโมชั่น มาให้เพจดูมีความเคลื่อนไหวและดูน่าเชื่อถือมากที่สุด
อีกทั้งยังขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าปกติ พร้อมมีการการันตีและรีวิวจากบัญชีที่ปลอมขึ้นมา และเมื่อหลอกผู้เสียหายไปแล้วก็จะเปลี่ยนชื่อเพจและนำไปหลอกลวงต่อเรื่อย ๆ
และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ มิจฉาชีพได้ใช้วิธีการซื้อเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว มาใช้สร้างความน่าเชื่อถือและหลอกขายสินค้าแก่ประชาชนด้วย อย่างเพจปลอมที่หลาย ๆ คนโดนล่าสุดก็จะมีทั้ง เพจหลอกขายทุเรียนตามฤดูกาล, เพจหลอกขายเครื่องปรับอากาศในช่วง PM 2.5 หรือเพจหลอกขายโซลาร์เซลล์ในช่วงค่าไฟแพง เป็นต้น
ทั้งนี้ทางโฆษกบช.สอท. ก็ได้ระบุว่าในตอนนี้ได้กำลังเร่งปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่องหลายคดี และได้ยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการซื้อสินค้าออนไลน์ไว้ ดังนี้
1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล
3.หากจะซื้อสินค้าผ่านเพจในเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน อย่างน้อยสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามได้
4.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
5.ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น
6.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นอวตารหรือไม่ ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น
7.เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง
8.หากท่านไม่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ควรปฏิเสธรับสินค้า และห้ามชำระเงิน หากไม่มั่นใจให้สอบถามบุคคลในบ้านให้ชัดเจน
9.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ
10.หากสินค้ามีปัญหาให้รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ข้อความการสนทนา หลักฐานการชำระเงิน คำสั่งซื้อสินค้า แล้วติดต่อกับผู้ขายให้แก้ไขปัญหา ส่งสินค้าคืน หรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด
- 14 อันดับภัยออนไลน์ที่คนไทยโดนหลอกสูงสุด เสียหายรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท วัยทำงานโดนเยอะสุด
- ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย 7 กลโกงใหม่มิจฉาชีพทางออนไลน์บน TikTok หลอกให้คลิกลิงก์ดูดเงิน
- แนะนำขั้นตอนเมื่อซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ทำได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด
ที่มา : ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.
Comment