การซื้อของในโลกออนไลน์แล้วโดนโกง เป็นปัญหาที่ไม่เคยหมดไปสักทีเลยค่ะ ยิ่งนับวันมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากที่ได้รับประสบการณ์การซื้อของออนไลน์แล้วโดนเชิดเงินหนี ไหนจะของไม่ตรงปก หรือของปลอมและมีตำหนิต่าง ๆ ล้วนเป็นปัญหาที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ซ้ำร้ายสุดร้านค้าอาจชิ่งหนีหายไปแบบไม่บอกไม่กล่าว ปล่อยให้เรานั่งจมกับความวิตกกังวล วันนี้เราเลยอยากมาแชร์วิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ให้ทุกคนได้ป้องกันตัวเองมากขึ้น

วิธีรับมือเมื่อซื้อของออนไลน์ แล้วโดนโกงในเบื้องต้น

ไม่ต้องตกใจไปแค่ทำตามขั้นตอนง่าย ๆ เหล่านี้ทุกคนก็มีสิทธิ์ได้เงินคืนแน่นอน

1.แคปหน้าจอ เตรียมหลักฐานให้ครบ

สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกให้หยิบมือถือขึ้นมาดูประวัติการสั่งซื้อสินค้า แล้วแคปหลักฐานเก็บไว้รัว ๆ เลยค่ะ จะเยอะแค่ไหนก็ห้ามหวั่นเอาให้ครบเพื่อนำไปดำเนินคดีในที่เกิดเหตุ

ถ้าหากเป็นการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ Lazada, Shopee, JD Central จะมีศูนย์บริการไว้รองรับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้า ให้เราติดต่อเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยหลักฐานสำคัญคือ รูปสินค้าที่สั่งกับของที่ได้รับ ก็แจ้งเบื้องต้นได้เหมือนกันค่ะ

  • เว็บไซต์ภาพโปรไฟล์ร้านค้า หรือลิงก์ URL หน้าร้าน
  • ข้อความการซื้อขายรายละเอียดสินค้า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และบัญชีร้าน
  • ใบเสร็จหลักฐานการโอนเงิน
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สมุดบัญชีธนาคารของเรา

 

2.แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เบื้องต้น ให้เราทำการโทรไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือสามารถติดต่อ สอบ.ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081 134 9216 ซึ่งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และยังร้องเรียนทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  จะเป็นสายด่วน สามารถปรึกษา แจ้งเบาะแส ขอความช่วยเหลือ แล้วทางพนักงานสอบสวนจะได้ทำการอายัดบัญชีคนที่โกงได้ค่ะ

โดยพนักงานสอบสวนจะได้ทำหนังสืออายัดไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่ออายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้อีกต่างหาก จะเปิดให้บริการตั้งแต่ 08.30 น. ถึง 16.30 น. วันจันทร์ – วันศุกร์

หรืออีกช่องทาง ให้ไปแจ้งความกับสถานีตำรวจ หรือสน.ใกล้บ้าน ให้เร็วที่สุดในพื้นที่ที่เราโอนเงินภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยให้ระบุว่า “มาขอแจ้งความดำเนินคดีให้ถึงที่สุดและขอใบอายัดบัญชี” แทนการลงบันทึกประจำวัน เพราะเรื่องจะเร็วขึ้นและได้เอกสารใบแจ้งความที่มีตราครุฑจากตำรวจเพื่อดำเนินการขั้นต่อไปนั่นเอง

ขั้นตอนถัดมา วิธีนี้เป็นการแจ้งไปที่แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งโดยตรง สามารถยื่นฟ้องได้ศาลและใช้สิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองได้อย่างสะดวกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน เรียกว่า e-Filing โดยผู้ฟ้องร้องสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ภายในระยะเวลาดำเนินการ 12 ชั่วโมง ทำการลงทะเบียน และแนบไฟล์ร้องเรียนตามขั้นตอนเว็บไซต์

 

3.อายัด

เมื่อบัญชีถูกอายัด จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ เมื่อได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินดคี เราก็จะสามารถได้รับเงินคืน หรือทำการติดต่อเจรจาไกล่เกลี่ยคืนเงินจากผู้โกง และหากไม่มาไกล่เกลี่ยคืนเงินอย่างชอบธรรม ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ข้อหาฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไปนั่นเองค่ะ

ที่สำคัญ อายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิด หากรู้ตัวว่าโดนโกงให้รีบไปแจ้งความภายใน 3 เดือนทันทีถึงจะมีโอกาสได้เงินคืน อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครรู้ ยิ่งอายุความอยู่ในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก แต่ถ้าเรายิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไปอีก การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยุ่งยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลงไปค่ะ

คำแนะนำก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า

เพื่อป้องกันไม่ให้ร้านค้าเอาเปรียบเราค่ะ ก่อนที่จะซื้อสินค้าจากคนขาย ควรเช็ครายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบ

ศึกษาเว็บไซต์ของผู้ขาย 

ให้เราซื้อจากเว็บไซต์และ App ที่น่าเชื่อถือพร้อมรองรับความปลอดภัย

  • เช็คราคาของสินค้านั้น เช่นกระเป๋าแบรนด์เนมลดราคาสูงมาก 70- 90 %  แต่ไม่มีที่ไหนนำกระเป๋าใบนี้มาจัดรายการโปรโมชันเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสงสัย
  • เช็คว่าเว็บไซต์มีความปลอดภัยหรือไม่ อายุการก่อตั้งเปิดมากี่ปี ทั้งเรื่องข้อมูลในระบบว่าเกี่ยวกับอะไร เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทนี้มีอยู่จริงแท้แค่ไหน
  • อ่านรีวิว หรือบทวิจารณ์ของผู้ซื้อสินค้ารายอื่น ๆ ว่าของที่ได้รับมีสินค้าจริงมั้ย และได้คุณภาพตรงตามปกแค่ไหน รวมไปถึงระดับดาว
  • ตรวจเช็ควิธีการชำระเงินให้เรียบร้อย เพื่อเป็นข้อมูลให้เรามั่นใจในการซื้อสินค้า
  • ขอสำเนาบัตรประชาชนผู้ขาย
  • เช็คข้อความบนลิงก์ที่มีข้อผิดพลาดในการสะกดคำ อาจนำพาเราไปยังโดเมนย่อย หรือเว็บไซต์ที่น่าสงสัยอื่น ๆ

สรุป

ขั้นตอนที่กล่าวมาเป็นวิธีเบื้องต้นที่เราอยากมาแนะนำให้ทุกคนทำตาม มีสติก่อนอย่าเพิ่งตกใจไปเมื่อเกิดปัญหาขึ้นค่ะ อย่างน้อยการแจ้งดำเนินคดีของเราถือว่าก้าวหน้าไปอีกขั้นในการตามหาตัวผู้โกง

ซึ่งในอีกขั้นตอนเรายังสามารถฟ้องศาลแพ่งได้โดยตรง ซึ่งไม่มีการจำกัดความว่าสินค้าที่ยื่นฟ้อง เป็นสินค้าชนิดใดแต่รวมไปถึงการซื้อขายต้องเป็นช่องทางออนไลน์เท่านั้นทำให้ผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องได้ทุกรายการ  ถ้าถามถึงความแตกต่างในการดำเนินคดีไม่ต่างกันเลยค่ะ เพราะยังไงเราต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า และหลักฐานการชำระเงินจากผู้ขายมาอยู่ดี แต่สิ่งที่เรามานำเสนอคือการเพิ่มทางเลือก เพิ่มโอกาสให้เราได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองในการทวงคืนสินค้า และเงินที่เสียไปมากขึ้นค่ะ 

 

นี่ก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะมาแชร์วิธีรับมือให้ทุกคนได้ปกป้องตัวเองจากการซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะในทุกวันนี้มีกลโกงหลายรูปแบบมากจนเราตามไม่ทัน แต่ถ้าเราวิเคราะห์ข้อมูลและลดการแก้ปัญหาได้ก่อนจะตัดสินใจซื้ออะไร ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเลยค่ะ ถ้ามีอะไรที่เป็นประโยชน์ทางเราจะมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันอีกแน่นอน

 

ที่มา : tcc,PCT Police,forbes,สำนักงานศาลยุติธรรม