DJI ได้ทำการประกาศเปิดตัวเทคโนโลยี “DJI AirSense” สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องบินโดรนทุกชนิดที่มีน้ำหนักกว่า 250 กรัมขึ้นไป เริ่มใช้ทันทีตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่มีชื่อว่า “ADS-B Sensors” ทำหน้าที่ระบุตำแหน่งของอากาศยานอื่นในรัศมีใกล้เคียงเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีใช้อยู่ในเครื่องบินรุ่นใหม่ๆหลากหลายชนิดในปัจจุบันและรวมไปถึงหอบังคับอากาศยาน (Air Traffic Control)

เซ็นเซอร์ที่เรียกว่า “ADS-B” นี้ถูกเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอากาศยานได้ราวๆ 10 ปีแล้ว โดยกลุ่มทวีปอเมริกาเหนือเป็นชาติแรกๆที่นำมาใช้เพราะปัญหาความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศ และเซ็นเซอร์ที่ว่านี้มีความแม่นยำสูงกว่าระบบระบุตำแหน่งดั้งเดิมของหอบังคับการบินที่เราเรียกกันติดปากว่า “เรดาร์” เป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จำเป็น ที่จะมาช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุทางอากาศได้เป็นอย่างดีด้วยศักยภาพในความแม่นยำและรัศมีของระบบนี้สามารถระบุตำแหน่งได้ถึงระยะ 200 ไมล์ หรือราวๆ 320 กิโลเมตรเลยทีเดียว

Play video

ระบบนี้ (ADS-B) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ก็จริง แต่ทุกวันนี้เรามีโดรนส์บินอยู่บนท้องฟ้าของเรามากกว่าอากาศยานชนิดอื่นๆเสียอีก ดังนั้นเพื่อแสดงออกถึงการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีในการช้ประโยชน์อากาศยาน เราขอนำเสนอระบบนี้เข้าสู่ผลิตภัณฑ์โดรนส์ของเราให้ทั่วถึงกันต่อไป – Brendan Schulman | VP of Policy – DJI

อันที่จริงเทคโนโลยีนี้ กำลังจะถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปสำหรับอากาศยานที่จะเดินทางเข้าสู่น่านฟ้าของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ซึ่งครอบคลุมไปถึงเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานอื่นๆแต่ไม่รวมโดรนส์ ทาง DJI จึงถือโอกาสประกาศเพิ่มฟีเจอร์นี้เข้าไปเอง โดยทางบริษัทฯกำลังเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบนี้ทันทีภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรและสมาพันธ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอากาศยานนั่นเอง อย่างไรก็ตามจะไม่มีการติดตั้งตัวส่งสัญญาณของอุปกรณ์โดรนส์ไปยังอากาศยานชนิดอื่น เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนระบบใหญ่ของการจราจรทางอากาศ เพราะจำนวนของโดรนส์ที่เยอะมากๆ จึงให้โดรนส์เป็นฝ่ายที่ระบุตำแหน่งอากาศยานอื่นและหลีกเลี่ยง

นับเป็นความตั้งใจในเชิงบวกในฐานะผู้ประกอบการและผู้นำเทรนด์อุปกรณ์โดรนส์ของโลกอย่าง DJI เพราะในปัจจุบันนั้นมีปริมาณโดรนส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจน สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯประเมินว่าภายในปี 2020 จะมีปริมาณโดรนส์อยู่เกิน 7 ล้านลำในโลกด้วยกัน ส่วนประเทศไทยเฉพาะที่ลงทะเบียนกันไว้ก็มากกว่า 15,000 ลำแล้ว (ข้อมูลล่าสุดจาก กสทช. ณ วันสิ้นปี 2018) ซึ่งปริมาณของโดรนส์ในอากาศจะส่งผลโดยตรงต่อความเสี่ยงในการรบกวนการจราจรทางอากาศของโลกได้นั่นเอง

ที่มา: Engadget