ในช่วงนี้ Uber Taxi เหมือนจะเป็นประเด็นที่ร้อนแรงซะเหลือเกิน ร้อนจนต้มมาม่าสุกไปหลายซองแล้ว เมื่อหลายวันที่ผ่านมาก็เพิ่งจะมีข่าว Uber Black โดนจับฐานเอารถป้ายแดงออกให้บริการ ซึ่งล่าสุดกรมขนส่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งเรียก Uber Taxi, Grab Taxi, และ Easy Taxi เข้ามาชี้แจงรายละเอียดในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ และยังมีการเปิดเผยว่า ทางกรมฯกำลังพัฒนา Application ที่คล้ายกับ Uber Taxi ที่ทางกรมขนส่งร่วมมือกับสมาคมแท็กซี่อีกด้วย

        ปัจจุบัน Application สำหรับช่วยเรียกรถ Taxi จากมือถือเริ่มเป็นที่นิยมและมีการทำออกมาหลายเจ้า บางแอปแค่ใช้เรียกรถแท็กซี่ทั่วไปเช่น Grab Taxi, Easy Taxi บางแอปก็มีระบบแท็กซี่เป็นของตัวเอง เช่น Uber Taxi ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหา “แท็กซี่ในระบบ vs แท็กซี่นอกระบบ” จึงเป็นประเด็นที่กรมขนส่งต้องเข้ามาจัดการดูแล

 

เรามาดูข้อดีข้อเสียของแท็กซี่แต่ละระบบกันดีกว่า เริ่มกันที่ “แท็กซี่นอกระบบ” อย่าง Uber Taxi กันก่อนเลย

ข้อดี
+ รถใหม่ สะอาด และต้องสะอาดอยู่เสมอ ไม่งั้นอาจโดนผู้โดยสาร vote down ได้
+ คนขับมีมารยาท เพราะมีระบบมีการ vote ให้คะแนนคนขับซึ่งกระทบต่อประวัติของคนขับจริง
+ มี application สะดวกต่อการใช้งาน
+ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะใช้การเรียกผ่านแอป

ข้อเสีย
– ใช้รถป้ายดำมาบริการ << อาจมีหรือไม่มีประกันก็ได้ เวลาเกิดอุบัติเหตุ คนขับต้องรับผิดชอบเอง และผิดกฏหมาย
– ใช้รถป้ายเขียวบริการ << ถึงแม้จะมีประกัน แต่ป้ายเขียวเอาไว้ให้บริการแบบเฉพาะกิจ เอามาให้บริการผิดประเภท
                                    ประกันมีสิทธิไม่จ่ายได้
– ประวัติคนขับเก็บไว้ที่บริษัท (ทางกรมขนส่งไม่มีข้อมูลคนขับตรงนี้ ก็เลยบอกว่า Uber ไม่ปลอดภัย)
– ไม่สามารถตรวจประวัติอาชญากรคนขับได้ เพราะ Uber ไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของตำรวจได้


Uber Taxi ป้ายเขียว

        ถึงแม้ Uber Taxi นั้นจะกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักธุรกิจระดับสูง(Uber Black) และกลุ่มคนรุ่นใหม่ทีต้องการความสะดวก(Uber X) แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลยซะทีเดียว ปัญหาใหญ่ที่สุดของ Uber ก็คงจะอยู๋ที่ Uber X ที่ใช้รถทะเบียนดำมาให้บริการ ซึ่งถือว่าผิดกฏหมายตรงๆเลย นอกจากจะไม่มีประกันแล้ว คนขับก็อาจเป็นใครก็ได้ ไม่รู้ว่าสอบประวัติมาดีแค่ไหน ทางกรมขนส่งได้ให้ความเห็นไว้ว่า

“ถ้าพบเห็นว่ามีการใช้รถผิดประเภท เราดำเนินการปราบปรามจับกุมอยู่แล้วครับ ก่อนหน้านี้ รถตู้ที่ใช้รถผิดประเภท เราก็ปราบปราม จับกุม เปรียบเทียบปรับแบบนี้เหมือนกัน”


เรามาดูข้อดีข้อเสียของ “แท็กซี่ในระบบ” ซึ่งก็คือแท็กซี่เหลืองเขียว ชมพู ฟ้า หลากสีทั่วไปนี้แหละ 

ข้อดี
+ มีการสอบใบอนุญาติ
+ มีการตรวจประวัติอาชญากร เพราะกรมขนส่งสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของตำรวจได้นั้นเอง
+ กรมขนส่งมีการเก็บประวัติคนขับ หากมีการร้องเรียนก็จะมีบทลงโทษ สูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาติ
+ ใช้รถป้ายเหลือง มีประกัน+ถูกกฏหมาย

ข้อเสีย
– รถไม่ได้มาตราฐาน บางคันไม่สะอาด มีกลิ่น แอร์ไม่เย็น ยิ่งรถส่วนตัวนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย
– ปฏิเสธผู้โดยสาร เลือกเอาเฉพาะผู้โดยสารที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า
– ชอบชวนคุยเรื่องการเมือง (?)
– ไม่มีการ Vote คนขับ ทำให้ความคิดเห็นของผู้ใช้บริการไม่ได้สะท้อนคุณภาพของคนขับเลย
– ระบบการร้องเรียนทำได้ยาก ถึงจะมีโทษชัดเจน แต่ไม่มีใครร้องเรียน เพราะเสียเวลา 

        ทางฝั่งแท็กซี่หลากสีเองถึงแม้จะมีข้อดีตรงที่ทำถูกกฏหมายทั้งหมด แต่กลับมามีปัญหาที่การให้บริการของคนขับเอง ซึ่งไม่ได้มาตราฐาน การผ่านการสอบใบอนุญาติมาบางทีก็ไม่ได้ช่วยอะไร อีกทั้งยังขาดระบบการ vote ให้คะแนนคนขับ ซึ่งจะทำให้ไม่มีรีวิวตัวคนขับเลย คุณภาพก็จะหย่อนยานไปเรื่อยๆ

        เรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร กรมขนส่งกล่าวว่า เรารับรองเรื่องความปลอดภัยได้มากกว่า เพราะก่อนที่ทางกรมฯ จะออกใบอนุญาตขับขี่สาธารณะให้ เราจะต้องตรวจประวัติอาชญากรรมก่อนอยู่แล้วครับ ซึ่งจะสมเหตุสมผลหรือเปล่า อันนี้ต้องให้เพื่อนๆลองคิดดูครับ โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้วคิดว่า ตอนสอบประวัติอาชญากรรม จะรู้ได้ไงว่า อนาคตเขาจะไม่ทำผิด?

        กรมขนส่งได้อ้างว่า สาเหตุที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนั้นมาจากหลายปัจจัย และปัญหานี้จะแก้ไขได้ด้วยการ “ขึ้นราคาค่าโดยสาร” โดยอ้างว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนขับแท็กซี่ เมื่อคุณภาพชีวิตคนขับดี การบริการที่ดีก็จะตามมา พร้อมทั้งได้กำหนดค่าโดยสารใหม่แล้ว โดยจะมากกว่าราคาเดิมอยู่ 13% ถึงแม้กระทรวงคมนาคมจะสั่งชะลอการขึ้นค่าโดยสารก่อนเพราะแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจมาตราฐานจะยังไม่ถึง 85% แต่ทางกรมขนส่งได้กล่าวไว้ว่า จะมีการขึ้นค่าโดยสายแน่นอน

        ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Uber Taxi ได้รับความสนใจจากผู้ใช้ในปัจจุบันก็คือ Application สำหรับเรียกรถนั้นเอง ซึ่งนี่เป็นจุดที่แท็กซี่หลากสีนั้นไม่มี ถึงแม้จะมีบางส่วนเข้าร่วมกับระบบของ Grab Taxi หรือ Esay Taxi แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย ทางกรมขนส่งเปิดเผยว่า กำลังซุ่มทำ Application สำหรับแท็กซี่หลากสีอยู่ โดยความสามารถหลักๆก็สรุปออกมาได้ดังนี้

 – เมื่อขึ้นรถ สามารถสแกน QR Code บนรถเพื่อเป็นการ Check-in เพื่อเก็บข้อมูลเข้าไปที่กรมขนส่งว่า เรากำลังนั่งรถคันนี้เวลานี้ ทำให้เมื่อเกิดเหตุอะไรไม่คาดคิด สามารถตามประวัติย้อนหลังได้
– สามารถ vote ให้คะแนนคนขับได้

โดยเบื้องต้นจะให้แท็กซี่ที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีประมาณ 70,000 คันทดลองใช้ก่อนในช่วงต้นปีหน้า กรมขนส่งได้กล่าวเสริมว่า การใช้ Application ในการเรียกรถแท็กซี่นั้นไม่ผิด เพราะว่ากฏกระทรวงนั้นไม่ได้มีการกล่าวเอาไว้ กรมขนส่งเลยต้องรีบทำการแก้ไขกฏกระทรวงเพื่อให้รองรับการมี Application ในระบบ

         ในยุคที่ Smartphone กำลังบูมแบบนี้ อะไรที่สามารถทำเป็น Application ได้นี้ก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมทั้งนั้น เมื่อเทคโนโลยีใหม่มา ถ้าของเก่าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ลำบาก เราคงต้องรอดูมหากาพย์แท็กซี่นี้กันต่อไป แต่ตอนนี้ ขอตัวไปปิดแก๊สก่อน เหมือนว่าน้ำจะเดือดได้ที่แล้ว …

Source: ASTV ผู้จัดการ  
Image: Oknationtaxipattaya2012, Fine Magazine