เป็นเรื่องเป็นราวระหว่างดีแทคและกสทช. กันมาตลอดปี ด้วยความที่คลื่นดีแทคถึงสองช่วงความถี่ (850/1800MHz) กำลังจะหมดสัมปทานในปีนี้ และเป็นอันทราบกันว่า กสทช. ก็ได้นำเอาคลื่นทั้งสองมาสรรจรรใหม่ เปิดให้มีการประมูลคลื่นดังกล่าวมาสองรอบ และสุดท้ายทางดีแทคได้เพียงคลื่น 1800MHz กลับมา 5x2MHz ไม่ได้คลื่น 850MHz กลับมาเลย ทำให้ลูกค้า 2G อาจได้รับผลกระทบถึงกับซิมดับได้หลังหมดสัมปทาน ยื่นขอให้กสทช.เยียวยาก็ไม่มีการตอบรับ จนเป็นที่มาในวันนี้ที่ดีแทคยื่นศาลปกครองกลางให้คุ้มครอง

รายละเอียดเพิ่มเติมจากจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ที่ทางดีแทคชี้แจงถึงการยื่นฟ้องศาลปกครอง

ดีแทคยื่นศาลปกครองกลางขอคุ้มครองชั่วคราวลูกค้าใช้คลื่นมือถือหลังหมดสัมปทาน

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ลูกค้าดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนคลื่น 850 MHz จนกว่า กสทช. จะนำไปจัดสรรประมูลตามความเหมาะสมต่อไป

จากการที่คลื่นความถี่ดีแทคกำลังจะสิ้นสุดสัมปทาน 27 ปีที่ให้บริการ และดีแทคมีหนังสือถึง กสทช. เรียกร้องให้ทบทวนมติเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหลายครั้ง โดย กสทช. ยังไม่ได้มีมติใดๆ ขณะที่เหลืออีกเพียง 9 วันก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ดีแทคจึงต้องยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าดีแทคในการใช้งานคลื่น 850 MHz

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้พิจารณาถึงสถานการณ์และแนวทาง กสทช. ในขณะนี้โดยเชื่อว่ายังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ แม้ว่าจะมีการกำหนดในประกาศฯ ของ กสทช. และตัวอย่างที่ผ่านมากับผู้ประกอบการรายอื่น ดังนั้น เพื่อให้ลูกค้าดีแทคได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการคุ้มครองชั่วคราว เราจึงต้องดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อลูกค้าของเรา”

ดีแทคมีลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT จำนวน 90,000 ราย โดยมีลูกค้าดีแทคไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Domestic Roaming) บนคลื่น 850 MHz ทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการใช้งานของลูกค้า ซึ่งถือว่าทั้ง กสทช. ดีแทค และ CAT มีหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบในการที่จะต้องให้บริการตามประกาศ กสทช. อีกด้วย

ที่ผ่านมา ดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เพื่อปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของดีแทคเป็นระยะเวลา 9 เดือน และ 26 เดือน แต่กรณีดีแทคกำลังจะหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz กสทช. ได้มีเงื่อนไขในการอนุมัติการคุ้มครองถ้าดีแทคเข้าประมูลคลื่น 900 MHz

“ที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเงื่อนไขและสถานการณ์ที่จะปฏิเสธการคุ้มครองผู้ใช้งานมือถือ สำหรับลูกค้าดีแทคได้ใช้งานคลื่น 850 MHz แต่การนำคลื่นมาประมูลเป็นคลื่น 900 MHz ซึ่งไม่ใช่คลื่น 850 MHz ในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาประมาณ 24 เดือนเพื่อการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่จำนวนมากกว่าหมื่นแห่ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ที่จัดขึ้นเนื่องด้วยเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดขึ้นเป็นเรื่องที่ปฎิบัติไม่ได้” นายราจีฟ กล่าว

ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิการใช้งานของลูกค้าดีแทคบนคลื่น 850 MHz รายได้จากการให้บริการที่เกิดขึ้นในช่วงการคุ้มครองจะถูกนำส่งให้รัฐหลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้รัฐไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ แต่ถ้าทิ้งคลื่นไม่ใช้งานจะนำความเสียหายมาสู่ทั้งรัฐและผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การคุ้มครองการใช้งานชั่วคราวจึงเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

ดีแทคจะดำเนินการแจ้งลูกค้าในรายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองคลื่นความถี่จาก กสทช. โดยดีแทคกำลังเร่งขยายพื้นที่การให้บริการทั้งคลื่น 2100 MHz และ คลื่น 2300 MHz ของทีโอที อย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับคนที่อ่านเนื้อหาแล้วมีข้อสงสัยว่า การประมูลคลื่น 900MHz (หรือคลื่น 850MHz เดิมก่อนหมดสัมปทาน) มีเงื่อนไขอะไรทำไมดีแทคถึงไม่ยอมเข้าประมูล สามารถกดเข้าไปอ่านกันได้ที่ สาเหตุที่ดีแทคไม่เข้าประมูลคลื่น 900MHz

และก่อนหน้านี้ทาง กสทช. ได้เคยเยียวยาให้กับทาง AIS และ TrueMove ยาวนานขนาดไหนนั้นก็ดูตามกราฟด้านล่างนี้ได้เลยครับ

และสำหรับคนที่สงสัยเกี่ยวกับดีแทคในเรื่องการประมูลว่าไม่ยอมเข้าเพราะต้องการใช้งานฟรีนั้นทางดีแทคก็เคยชี้แจงมาตามด้านล่างนี้ครับ

ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ การขอมาตรการเยียวยา

ความเข้าใจผิดความเป็นจริง
ไม่เยียวยา ก็ไม่มีใครเดือดร้อน

เมื่อหมดสัมปทาน หากดับโครงข่ายทันที ผู้ใช้งานที่เหลือในระบบ จะไม่สามารถโทรออก รับสาย รับ-ส่งข้อความ และใช้งานเน็ตอื่นๆ ได้ เพราะซิมดับ โดยผู้ใช้งานเหล่านี้เป็นไปได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีความล่าช้าในการย้ายโครงข่ายเพราะเป็นผู้สูงอายุ กฎหมาย กสทช เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการจึงกำหนดให้ กสทช และผู้ให้บริการ ต้องเยียวยาผู้ใช้บริการต่อไปชั่วคราว จะดับโครงข่ายไม่ได้

ในปี 2556 สัมปทานทรูและเอไอเอส 1800 MHz ก็หมดลง แต่ทั้งสองค่ายก็ยังคงให้บริการต่อไปตามกฎหมาย กสทช เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ โดยให้บริการถึงสองปีหลังจากสัมปทานหมดลง

ลูกค้าดีแทค ควรได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย กสทช เช่นเดียวกับ ลูกค้าอีกสองค่าย โดยควรสามารถใช้บริการได้ไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ไม่ใช่ต้องซิมดับ

ดีแทคขอเยียวยาเพื่อหาประโยชน์ในการใช้คลื่น “ฟรี”

ไม่เป็นความจริง เมื่อ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ดีแทคได้ยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังคงใช้งานมือถือบนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz โดยระบุชัดในแผนว่า ดีแทคจะจัดส่งรายได้ทั้งหมดจากการให้บริการ หลังจากหักค่าใช้จ่าย ให้แก่ กสทช. เพื่อนำส่งให้เป็นรายได้รัฐต่อไปตามที่กฎหมาย กสทช กำหนด

จึงไม่เป็นการใช้คลื่นความถี่เพื่อการค้าหากำไรอะไรเลย แต่เป็นการให้บริการต่อไปแทนรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งานที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานเท่านั้น

ดีแทคประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHzแค่ 5 MHz เพราะหวังใช้คลื่นที่เหลือด้วยการรับการเยียวยา

แม้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะสามารถประมูลได้คลื่นจำนวน 5 MHz หรือ ได้มาทั้ง 20 MHz หรือไม่ได้คลื่นความถี่มาเลยนั้น ลูกค้าของดีแทคที่ยังใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ในระบบสัมปทานก็ยังจะประสบปัญหาการใช้บริการอยู่ดีและจะซิมด้บ

เนื่องจากเป็นการใช้คลื่นคนละระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานกลุ่มนี้ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรการเยียวยา ซึ่งลูกค้าของเอไอเอสและทรูมูฟได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย กสทช ในปี 2556 หลังสัมปทานหมด ลูกค้าดีแทคไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน