วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการยื่นเอกสารเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800MHz ซึ่งหลายฝ่ายก็จับตาดูว่า AIS และ dtac จะเอาอย่างไร หลัง TrueMove H ประกาศถอนตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว โดย dtac น่าจะเป็นค่ายที่อยากได้ที่สุด เพราะเป็นคลื่นเดิมของตน แต่ล่าสุดเช้านี้ทางดีแทคได้ส่งจดหมายประชาสัมพันธ์ถึงสื่อต่างๆ แจ้งถึงการไม่เข้าร่วมประมูลเรียบร้อย แจงมีคลื่นเพียงพอ ต้องการคลื่นความถี่ต่ำมากกว่า และราคาตั้งต้นที่สูงเกินไป

ยื่นคุ้มครองใช้คลื่น 1800MHz ต่อจนกว่าจะมีการประมูลคลื่นครั้งใหม่

การประมูลคลื่น 1800MHz ครั้งนี้เป็นการนำคลื่นที่หมดสัมปทานซึ่ง dtac ใช้งานอยู่ออกมาประมูล เมื่อดีแทคไม่ตอบรับการประมูล ก็ทำให้บางคนอาจกังวลว่าจะมีปัญหาอะไรต่อการให้บริการหรือไม่ โดยทางดีแทคได้ชี้แจงว่าทำการยื่นคุ้มครองต่อ กสทช. ไปเรียบร้อย ลักษณะเดียวกับที่ AIS และ TrueMove H ต่างก็เคยทำก่อนหน้านี้ ทำให้ดีแทคจะยังสามารถใช้งานคลื่น 1800MHz นี้ต่อไป จนกว่าจะมีการประมูลคลื่น จนมีเจ้าของสัมปทานรายใหม่เกิดขึ้นมา และจะมีการส่งค่าเช่าคลื่นนี้ให้แก่รัฐตามปกติ โดยรายละเอียดของค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่อย่างไรนั้นยังไม่เปิดเผยออกมา แต่แว่วๆว่าอาจจะแพงกว่าที่ส่งให้ CAT ในปัจจุบันเสียอีก

ทั้ง TrueMove H และ AIS ต่างได้รับการคุ้มครองมาอย่างยาวนานในอดีต

คลื่นความถี่เพียงพอ การประมูลไม่น่าจูงใจ

ทางดีแทคได้ชี้แจงเรื่องนี้เอาไว้ว่าในปัจจุบันบริษัทได้คลื่น 2300MHz จากทาง TOT เข้ามาเติมพอร์ท (ประกอบกับจำนวนลูกค้าที่น้อยลงตามลำดับ) ทำให้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการให้บริการ โดยถือครองคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นจำนวน 2×15  MHz และคลื่น 2300 MHz เป็นจำนวน 1×60 MHz ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่ 2300 MHz อีก อย่างไรก็ดีคลื่นความถี่ที่ dtac มีนั้นเป็นเพียงช่วงความถี่สูงเท่านั้น จะยังไม่แก้ปัญหาในเรื่องความครอบคลุมที่มีปัญหาอยู่สักเท่าไหร่นัก


และอีกประการหนึ่งที่เป็นปัจจัยทำให้ดีแทคไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้คือราคาเริ่มต้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก และกฎการประมูลที่ควรปรับปรุง คือ ควรปรับให้ขนาดคลื่นที่ออกมาประมูลมีจำนวนต่ำลง ซอยคลื่นความถี่ 45MHz ลงให้เป็นใบอนุญาตละ 5MHz จำนวน 9 ใบและยกเลิกการตั้งเกณฑ์จำนวนใบอนุญาตจะมีน้อยกว่าจำนวนผู้ประมูลหนึ่งใบ และลดราคาตั้งต้นลง โดยเมื่อเป็นตามนี้แล้ว AIS, dtac, TrueMove H ก็จะสามารถประมูลใบอนุญาตกันได้ตามความเหมาะสม อยากได้คลื่นปริมาณ 10MHz 20MHz หรือ 30MHz ก็ลงเงินกันได้ตามกำลังทรัพย์ ซึ่งถ้าใครอยากได้คลื่นมากก็จะกดประมูลคลื่นกันขึ้นไปสูงตามความต้องการเอง

ลงสถานีฐานเพิ่มเติมแก้ปัญหาความครอบคลุมของสัญญาณ

เรื่องความครอบคลุมของสัญญาณโดยเฉพาะในต่างจังหวัด จะมีปัญหาค่อนข้างมาก และจากการที่มีแต่คลื่นความถี่สูงนี้ก็ทำให้ดีแทคจำเป็นต้องลงเสาสถานีฐานเพิ่มเติมจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมาลงไปเพิ่ม 4,000 แห่ง และในปีนี้หากรวมกับที่ตกลงเอาไว้กับทีโอทีที่ต้องขยายสถานีฐานคลื่น 2300MHz แล้ว จะมีการขยายเสาเพิ่มอีกถึง 7,000 แห่งเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี จำนวนสถานีฐานที่ลงเยอะนี้นั้น จะไม่ได้การันตีว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความครอบคลุมได้ทั้งหมด ต้องรอติดตามต่อไป เพราะอย่างที่บอกคือ คลื่นความถี่สูง จะไม่สามารถส่งสัญญาณได้ไกลนักมากนั่นเอง

ช่วงบ่ายนี้ทางดีแทคจะมีเปิดโต๊ะแถลงข่าวตอบทุกข้อสงสัยในเรื่องการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 2300MHz นี้ ถ้าใครอยากรู้อะไร ฝากคำถามเอาไว้ได้นะครับ ถ้าได้คำตอบจะเอามาบอกกันครับ

 

 

ที่มา จดหมายข่าวประชาสัมพันธ์จากดีแทค

ดีแทคมั่นใจถือครองคลื่นย่านความถี่สูงมากพอ ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz

15 มิถุนายน 2561 – บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แจงไม่ยื่นประมูลคลื่นความถี่1800 MHz ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ทั้งนี้ ดีแทคยังให้ความสำคัญแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือหลังหมดสัมปทาน จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น พร้อมมุ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ในอนาคต

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  กล่าวว่า“ดีแทคได้พิจารณาการเข้าร่วมประมูลอย่างรอบคอบ โดยมีข้อสรุปถึงการถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มีปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต โดยการประมูลในครั้งนี้คงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว ดีแทคมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้า และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่”

ดีแทคมีคลื่นย่านความถี่สูงปริมาณมากเพียงพอ

ปัจจุบัน ดีแทคได้ถือครองความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 MHz จำนวน1x60MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่ 2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง

ทั้งนี้ คลื่น 2300 MHz ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน

ถึงแม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย ดีแทคยังเร่งขยายสถานีฐานอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยมีการขยายเพิ่มสถานีฐาน 3G/4G บนโครงข่าย 2100 MHz จำนวน 4,000 แห่งต่อปีในช่วง 2560-2561 ซึ่งขยายรวดเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ดีแทคยังรุกขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300MHz dtac TURBO ด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ให้ได้อีกอย่างน้อย 4,000 แห่งในปีนี้ตามข้อตกลงกับทีโอที และหากดีแทคสามารถทำได้เต็มกำลังการติดตั้งสถานีฐานคาดว่าจะขยายได้มากถึง 7,000 แห่งในปลายปีนี้

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการคลื่นย่านความถี่ต่ำ (LOW-BAND SPECTRUM)

จากที่ประเทศไทยมีคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) รองรับบริการ ดีแทคขอย้ำว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยในขณะนี้ต้องการคลี่นความถี่ต่ำ (low-band spectrum) มากกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน การสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการและปัญหาเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ประเทศไทยยังขาดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ต่ำที่จะมาให้บริการ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดกับดักต้นทุนของคลื่นความถี่ที่สูงระดับโลก เมื่อรวมกับข้อกำหนดกรณีผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต หรือ N-1  จะนำประเทศไปสู่สภาวะขาดคลื่นความถี่เพื่อนำมาใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศไทยจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่สูงกว่าแต่กลับได้ใช้งานความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ช้ากว่าประเทศอื่น การตั้งหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนคลื่นความถี่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ช้าลง โดยจะส่งผลเสียต่อภาพรวมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย

มั่นใจให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน การให้บริการมือถืออย่างต่อเนื่อง หรือ “ซิมไม่ดับ” คือหน้าที่ร่วมกันของ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในกิจกรรมโทรคมนาคม และถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกับผู้ให้สัมปทานคลื่นความถี่ พร้อมกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในการที่จะต้องให้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558  เพื่อคุ้มครองลูกค้าให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือหลังหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

แผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานดังกล่าวที่ยื่นต่อ กสทช.  เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น และยังมีลูกค้าคงค้างในระบบเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่หมดสัมปทานได้รับระยะเวลา 9-26 เดือนในช่วงเยียวยา ซึ่งได้สิ้นสุดเมื่อผู้ชนะการประมูลคลื่นได้ทำตามหลักเกณฑ์และเปิดใช้งานคลื่น ดีแทคยืนยันที่ลูกค้าจะต้องได้รับการคุ้มครองตามประกาศ กสทช. คลื่น 1800 MHz ควรนำมาสู่การใช้งานสำหรับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจนกระทั่งผู้ชนะการประมูลได้ทำตามกฎเกณฑ์และเปิดให้บริการวันแรก สำหรับคลื่น 850 MHz ที่ไม่ได้นำไปประมูลดีแทคจะต้องได้รับสิทธิ์จนกระทั่งคลื่นได้ถูกนำไปจัดสรรให้กับผู้ได้รับอนุญาตใช้งานต่อไป

จากการที่ดีแทคได้เร่งโอนย้ายลูกค้าที่ใช้บริการ 2G และเร่งขยายโครงข่ายทั้งคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz จะเป็นมาตรการยืนยันเพื่อลูกค้าดีแทคที่ใช้งานบนทุกคลื่นความถี่ทั้ง 2G, 3G และ 4G จะมั่นใจได้อย่างเต็มที่สำหรับการใช้งานอย่างต่อเนื่องไม่มีความเสี่ยงจากซิมดับ

ดีแทคมุ่งสู่การสร้างโครงข่ายดาต้าที่ดีที่สุด

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคยืนยันเต็มร้อยที่จะสร้างโครงข่ายการใช้งานดาต้าให้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เราลงทุน 4,510 ล้านบาท ต่อปี เพื่อให้บริการคลื่น 2300 MHz ตามสัญญาทางธุรกิจและความร่วมมือกับทีโอที และดีแทคยังลงทุน 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทในการขยายโครงข่ายคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz โดยการที่เป็นพันธมิตรคู่ค้ากับทีโอทียังทำให้ดีแทคมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ สู่การให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และการร่วมเป็นพันธมิตรกับ CAT ทำให้ดีแทคได้ใช้งานเสาสัญญาณโทรคมนาคมหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน วันที่ 15 กันยายน 2561 ทั้งหมดนี้จะทำให้ลูกค้าดีแทคมั่นใจสามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องและได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดอีกด้วย”

นายลาร์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ลูกค้าดีแทคมั่นใจได้ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ดีแทคมีคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มากที่สุด และเราได้เร่งสร้างโครงข่ายเพื่อการใช้งานดาต้าที่ดีที่สุดในประเทศไทยไม่ใช่แค่เพื่อวันนี้แต่เพื่อรองรับอนาคต โดยขณะนี้ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการมากที่สุด คือ การจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ที่มีความชัดเจน เพื่อวางแผนในการให้บริการผู้ใช้งานดาต้าได้ครอบคลุมทั้งในเมืองและทุกพื้นที่ทั่วไทย”