เป็นที่เรียกเสียงฮือฮากันได้พอสมควรหลัง dtac ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีบริการทุกอย่างแบบครบวงจร ตั้งแต่มีรถมาจำหน่าย ทำแอปสำหรับตรวจสอบและติดตาม สถานีเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ รวมไปถึงขายประกัน และเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์กันเลยทีเดียว ฉีกภาพจากการเป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียวตลอดระยะเวลา 30 ปีไปเดียว

ไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่เป็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์หลายราย

แม้ว่าข่าวจะเปิดตัวออกไปในเชิงว่า dtac สร้างแพลตฟอร์มรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า (EV Connectivity) แต่ในความเป็นจริงดีแทคเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม ทำแอปในการเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์จากส่วนต่าง ๆ เช่น เอ็มวิชั่น ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ที่ทำจุดให้บริการชาร์จมอเตอร์ไซด์ EV ให้สามารถเข้ามาร่วมกันปั้น Ecosystem ของ EV (Electric Vehicle) เกิดขึ้นในเมืองไทย

ซึ่งนอกเหนือจากทำแอปแล้ว ยังเป็นคนออกหน้ารับผิดชอบถึงสินค้าและบริการต่างๆด้วย ทำให้เกิดความสนใจกันในหมู่ที่ติดตามและสนใจมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้านี้กันไม่น้อย ด้วยความที่ก่อนหน้านี้คนที่นำเข้าและทำตลาดมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าอาจจะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก เมื่อเป็นดีแทคเข้ามาเป็นตัวกลางจึงเกิดความมั่นใจกันมากขึ้น ประจวบเหมาะกับนโยบายของภาครัฐเพิ่งมีการปรับเปลี่ยนให้สามารถจดทะเบียนมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง จากก่อนหน้าจดทะเบียนคันละหลักหมื่น เหลือเพียงหลักพันเท่านั้น

ทำไมดีแทคถึงสร้าง EV Connectivity? ดีแทคได้อะไร?

ปัจจุบันดีแทคต้องการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการมือถือ ต้องการที่จะสร้างธุรกิจใหม่เพื่อการเจริญเติบโตที่มากขึ้น และมองว่าตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายเริ่มที่จะอิ่มตัว (ดังที่เราจะเห็นว่าความต้องการของผู้ใช้เริ่มจะอยู่กับที่ และเครือข่ายแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก) การขยายธุรกิจมาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์แม้ว่าดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่ก็ไม่ได้ฉีกไปซะทีเดียว เพราะอุตสาหกรรมนี้ถูกพูดถึงในเรื่องของการใช้งานเครือข่าย 5G มากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง โดยมีความพยายามเชื่อมต่อตัวรถเข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อการขับขี่ได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ากับตัวรถไม่มีทางที่จะใช้ WiFi หรือลากสาย Fiber ไปตลอดเวลาได้ เครือข่ายโทรศัพท์จึงเป็นคำตอบ และดีแทคก็ได้เล็งในส่วนนี้ไว้นั่นเอง

เราจะมีแอปและเชื่อมต่อมอเตอร์ไซด์เข้ากับอินเทอร์เน็ตไปเพื่ออะไร?

บริการทั้งหมดของ EV Connectivity นี้ได้ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันผ่านแอปเดียว สามารถเช็คสถานะแบตเตอรี่ทั้งในรถของเรา หรือในสถานีบริการชาร์จไฟ ชำระค่าเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ผ่านบิลดีแทค มีระบบกันขโมย ตั้งความเร็วสูงสุดที่สามารถขับขี่ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันดีแทคกำลังพัฒนาอยู่ และจะยังต่อยอดไปถึงการชำระค่าเช่าซื้อ การรับประกันตัวมอเตอร์ไซด์ รวมถึงบริการหลังการขายต่างๆ แบบครบวงจร โดยบริการต่างๆนี้ดีแทคจะไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการเองทั้งหมด แต่เป็นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ และรับส่วนแบ่งรายได้จากการเข้าใช้แพลตฟอร์มแทน

มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Motobike + Electric + Connectivity) มีประโยชน์อย่างไร

  1. ประหยัดค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ได้มากกว่าจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งตัวเลขที่คำนวนกันมาคือไม่น้อยกว่า 50% โดยมีเคสจากวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ปกติต้องเติมน้ำมันราว 3-4 พันบาท จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำมันเป็นค่าไฟลงไปเหลือไม่ถึง หนึ่งพันบาท เท่านั้น
  2. ชาร์จไฟ 1 ครั้ง ไปได้ไกลกว่าหนึ่งร้อยกิโล
  3. การชาร์จไฟแม้จะกินระยะเวลาเป็นชั่วโมง แต่ว่ามีบริการตู้ชาร์จ ซึ่งเราสามารถถอดเปลี่ยนแบตของตนทิ้งชาร์จที่ตู้ได้ และสลับก้อนอื่นที่แบตเต็มไปใช้งานก่อนได้ เบื้องต้นมีการสำรวจพื้นที่ เตรียมติดตั้งตู้ 10 จุดทั่ว กทม.
  4. มีแอปควบคุมการขับขี่ เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการการติดตามตัวรถ และการใช้งานต่างๆรวมถึงสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องได้ในแอปเดียว
  5. ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ไร้ฝุ่นควัน และไม่มีเสียงดัง
  6. เทรนด์ของโลกกำลังมาที่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีตัวเลือกให้ใช้จากหลากหลายยี่ห้อ ทั้งจีนและยุโรป ซึ่งต่อไปจะสามารถรวมศูนย์เข้าใช้แอปเดียวกันได้

สำหรับคนที่สนใจและอยากดูตัวจริงของมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเหล่านี้สามารถมาดูได้ที่งาน Thailand Mobile Expo ได้เลย ซึ่งจะมีให้เลือกได้หลากรุ่นหลายราคา เริ่มต้นตั้งแต่ราว 45,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนที่เป็นมอเตอร์ไซด์เท่ห์ๆหน้าตาแบบบิ๊กไบค์ โดยยี่ห้อนี้เป็นตัวที่ทาง Xiaomi ได้ไปลงทุนเอาไว้ด้วยนะ

และแพลตฟอร์ม EV Connectivity ของทางดีแทคนี้คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2562 นี้ ใครสนใจก็รอติดตามได้ เดี๋ยวเราจะติดตามเอามาเล่าให้ฟังกันต่อไปครับ