งานประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ใกล้เข้ามาถึงเข้าไปทุกที ทางดีแทคเองก็ได้เข้าไปรับเอกสาร และ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการประมูลแล้วในวันนี้ ซึ่งหลังจากเห็นเงื่อนไขอย่างเป็นทางการ โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ทาง กสทช. ให้มา ดูเหมือนว่าทางดีแทคจะไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ จากค่าใช้จ่ายแฝงและการดำเนินงานที่มีความเสี่ยง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ดีแทคไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นในครั้งนี้อีกรอบ…รึเปล่า

เงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 16, 17 และ 18 ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่850 MHz และ 900 MHz รายอื่นด้วย – dtac

ด้วยเงื่อนไขเรื่องนี้ทำให้ดีแทค ชี้แจงเพิ่มว่ามี 2 ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้ดีแทคมีความกังวลสำหรับการประมูลคลื่น

ดีแทคชี้แจงประเด็นหลัก ข้อที่กำหนดเพิ่มให้ผู้ชนะที่ได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz คือ

  1. ค่าใช้จ่าย – จำนวนเงินที่ กสทช. ลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท เชื่อว่าไม่ครอบคลุมงบประมาณในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ให้กับผู้ที่ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น และระบบคมนาคมขนส่งทางราง แม้ขณะนี้จะยังไม่ได้มีผลวิเคราะห์งบประมาณอย่างแน่นอน ดีแทคประเมินว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการลดราคาขั้นต่ำของการประมูลมาก
  2. ความเสี่ยงในการดำเนินงาน – นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องรับความเสี่ยงจากการเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตรายเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ กสทช. ยังได้สงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลยังจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHzเพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงคลื่นความถี่เดิม ดังนั้นจึงทำให้มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกมาก

นอกจากนั้น ตามที่ดีแทคได้ส่งหนังสือถึง กสทช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การเปลี่ยนเป็นคลื่น 900 MHz เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศด้วยสถานีฐานประมาณ 13,000 สถานี จะต้องใช้เวลาในการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ประมาณ 24 เดือน ดังนั้น ดีแทคจึงขอความชัดเจนในการใช้งานคลื่น 850 MHz เพื่อให้บริการลูกค้าระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

ทั้งนี้ ดีแทคได้ย้ำถึงความตั้งใจในการพิจารณาเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ก่อนจะสรุปแนวทางการเข้าร่วม โดยยังคงเดินหน้าปรึกษาหารือกับ กสทช. ในการแก้ไขประเด็นดังกล่าว และให้แน่ใจว่าคลื่นความถี่ 900 MHz สามารถนำมาประมูลด้วยเงื่อนไขที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานนี้ต้องมาดูกันว่าเงื่อนไขที่ทางดีแทคกำลังกังวลนั้น จะทำให้ผู้ร่วมประมูลรายอื่นไม่เห็นด้วยอีกหรือไม่ และ จะทำให้ทาง กสทช. ยอมถอยให้อีกหรือเปล่า หรือ ว่าจะเดินหน้าไปโดยไม่มีดีแทค อันนี้ก็ต้องรอดูกันค่ะ

 

ที่มา จดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ดีแทค