กสทช. เตรียมเปิดการประมูลเป็นรอบที่ 2 สำหรับคลื่น 900MHz และเป็นการประมูลคลื่นครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยครั้งนี้จะไม่มีการนำเอาคลื่น 1800MHz ออกมาประมูลต่อ มีแต่เพียงคลื่น 900MHz เท่านั้น ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจนว่าออกมาเพื่อให้ดีแทคได้มีโอกาสนำเอาคลื่นไปใช้อีกรอบ จากที่ครั้งก่อนหน้าไม่มีใครสนใจเข้าประมูลเพราะมีเงื่อนไขที่ไม่โอเคหลายข้อ แต่ทางกสทช. ก็รับฟังและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสมแล้วเรียบร้อย

สำหรับการปรับปรุงเงื่อนไขของ กสทช. ที่ว่านี้ จะมีอยู่หลักๆ 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ถอดเงื่อนไขที่ผู้ชนะประมูลต้องทำระบบป้องกันคลื่น (Filter) ให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการเจ้าอื่น รวมถึงระบบคมนาคมอื่นๆ เช่น รถไฟ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมด
  2. ปรับราคาเริ่มต้นการประมูลจาก 35,988 ล้านบาท เป็น 37,988 ล้านบาท เพิ่ม 2,000 ล้านบาท เพราะถอดเงื่อนไขไม่ต้องรับผิดชอบติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนให้ผู้อื่นแล้ว ซึ่งราคา 37,988 นี้เท่ากับราคาเฉลี่ยของใบอนุญาตสองใบในการประมูลคลื่น 900MHz ในครั้งที่แล้ว
  3. เพิ่มเงื่อนไขให้สามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ต่อไปอีก 2 ปี ระหว่างรอติดตั้งคลื่น 900MHz ให้แล้วเสร็จ

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆยังคงเดิมคือมีจำนวน 1 ใบอนุญาต ที่ความกว้าง 5MHz และระยะเวลาในการชำระค่าประมูลที่ 4 ปี

ดีแทคขอเพิ่ม – ลดราคาเริ่มต้น และยืดระยะการจ่าย – สร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่ง

ก่อนหน้าที่ทางกสทช.จะมีมติสรุปการจัดประมูลคลื่น 900MHz เมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาเงื่อนไขการประมูลอีก ซึ่งทาง true ไม่มีคอมเมนต์อะไรตามคาดเพราะไม่น่าจะเข้าร่วมการประมูลแต่อย่างใด ส่วนทาง AIS ก็มีความเป็นห่วงเรื่องมาตรการป้องกันคลื่นรบกวน  ส่วนทางดีแทคที่น่าจะพอทราบว่าทาง กสทช. จะปรับเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่ตนต้องการแล้ว จึงลองเสนอเพิ่มเข้าไปอีกหน่อยว่าควรลดราคาตั้งต้นการประมูลลงอีกให้ไปเริ่มที่เท่าเดิม 12,864 ล้านบาท และปรับเงื่อนไขการชำระเงินให้เป็น 15 ปี เท่ากับระยะเวลาของใบอนุญาตอีกด้วย

กสทช. ไม่เล่นด้วย เมินข้อเสนอดีแทค

อย่างไรก็ดีทางกสทช. ก็เพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของดีแทค เนื่องจากจะเท่ากับว่าดีแทคมีโอกาสจะได้ใบอนุญาตไปในราคาที่ถูกลงกว่า AIS และ true ถึงเกือบ 3 เท่า แถมจะยังสามารถทยอยจ่ายเป็นระยะเวลายาวๆ 15 ปี จากที่รายอื่นได้เพียง 4 ปี  และนั่นก็ถือว่าเป็นการทำให้ AIS และ true เสียเปรียบในเชิงธุรกิจเป็นที่สุด แต่แม้ว่าทางกสทช.จะไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของทางดีแทค คาดว่ายังไงดีแทคก็จะยังเข้าประมูลอยู่ดี

ดีแทคใช้คลื่น 1800MHz ต่อเต็มแบนด์วิธ ขอเริ่มระยะสัมปทานหลังเยียวยา

โดยในปัจจุบันทาง dtac ยังยื้อไม่อยากจ่ายเงินจำนวนมากเท่ากับที่ AIS และ true เคยจ่ายเมื่อสองปีก่อนด้วยเหตุผลที่ว่าราคาในตอนนั้นไม่สะท้อนถึงราคาจริงเนื่องจากมีการปั่นราคาให้สูงขึ้นจาก JAS ที่เข้ากดราคาประมูลให้สูงลิบแต่ทิ้งใบอนุญาตไปในภายหลัง ซึ่งก็มีคนให้ความเห็นต่างในเรื่องนี้อยู่ว่า หากทั้งคลื่น 900 & 1800MHz คู่แข่งดีแทคเคยยอมจ่ายในราคาระดับนั้นมาก่อน ทำไมดีแทคที่เคยอยากได้ไม่แพ้กัน แล้วมาประมูลภายหลังจะได้คลื่นนั้นไปในราคาที่ถูกลง ซึ่งนั่นก็หมายถึงทำให้ชาติได้รายได้น้อยลงและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจที่มากขึ้นตามไปด้วย ถ้าจะต้องรีเซทราคาใหม่ก็ควรที่จะรับต้นทุนเดียวกันไปก่อน โดยมีข้อมูลเพิ่มว่าในปัจจุบันที่ดีแทค แม้จะประมูลคลื่น 1800MHz ไปเพียง 5MHz แต่ก็จะได้ใช้งานคลื่น 1800MHz ที่ปริมาณเท่าเดิม 20MHz ตามเดิมหลังหมดสัมปทานไปอีกสักพัก ตามมาตรการเยียวยาของทางกสทช. ที่เปิดให้ผู้ใช้ที่หลงเหลือในระบบเก่าของดีแทคมีเวลาย้ายออกไปยังเครือข่ายใหม่ของดีแทคได้ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าดีแทคน่าจะได้ใช้ต่อจนถึง 31 มีนาคม 2562 นอกจากนี้ดีแทคก็ยังขอให้เริ่มระยะเวลาสัมปทานคลื่น 1800MHz @5MHz ที่เพิ่งประมูลมาได้ใหม่นี้หลังจากที่ได้รับการเยียวยา (1 เมษายน 2562) โดยไม่นับว่าช่วงระหว่างเยียวยาที่บริษัทได้ใช้งานอยู่อย่างเต็มที่เกินที่ประมูลมาอีกด้วย

 

อ้างอิงอ่านเพิ่มเติม ไทยรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ