ในวันที่ 18 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ตามจริงควรจะเป็นวันที่มีการประมูลคลื่น 900MHz แต่อย่างที่หลายคนทราบคือค่ายมือถือทั้ง AIS, TrueMove และ dtac ต่างพร้อมใจกันเมินคลื่น 900MHz ไม่มีคนยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลแม้แต่รายเดียว ด้วยเหตุผลทั้งด้านราคาและเงื่อนไขที่รับไม่ได้ คลื่นจึงเป็นหมันและสูญเสียโอกาสสร้างรายได้ให้ประเทศหลายหมื่นล้านบาท

บทความนี้รวบรวมข้อมูลจากหลายๆส่วนที่ได้รับมาเพราะก็มีคนถามกันมาเนืองๆว่าคลื่น 900 MHz ไม่ถูกประมูลแล้วยังไง หรือบางคนก็ไม่แม้แต่ที่จะสนใจเพราะเข้าใจกันว่าก็แค่คลื่นความนึงที่ไม่มีใครเอา ปัจจุบันก็สามารถใช้งานได้ดีอยู่ แต่ในความเป็นจริงหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าคลื่นความถี่ชุดนี้เป็นคลื่นที่มีมูลค่ามหาศาลมาก และการที่มันไม่ถูกนำออกมาใช้นี้กลับจะส่งผลระยะยาวและทำให้พวกเราพลาดโอกาสหลายๆอย่างไปเลยด้วยซ้ำ

คลื่น 900MHz มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านในการประมูลเมื่อปี 2559

คลื่นความถี่ย่านต่ำอย่าง 900MHz เป็นคลื่นที่เหล่าผู้ให้บริการต่างๆเล็งและอยากได้มาโดยตลอด ถ้าหากว่าตามข่าวเรื่องการประมูลคลื่น 900MHz มาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วจะทราบถึงราคาการประมูลของใบอนุญาตคลื่น 900MHz 2 ใบที่ถูกปั่นให้พุ่งขึ้นไปจนถึงใบละ 75,654 ล้านบาท และ 76,298 ล้านบาท ด้วยความที่ลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำนี้สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลกว่าคลื่นความถี่สูง ทำให้ไม่ต้องติดตั้งเสาส่งสัญญาณเยอะ ก็สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่าคลื่นความถี่สูงอย่างคลื่น 1800MHz และ 2100MHz ค่าลงทุนในการสร้างเสาส่งสัญญาณต่ำกว่าเดิมได้หลายเท่าตัว ใครได้ไปก็จะทำให้การวางเครือข่ายให้ครอบคลุมใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ อย่างไรก็ดีราคาประมูลในปีนั้นก็เป็นอันรู้กันว่าเป็นราคาที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงเท่าไหร่นัก เพราะ JAS (เจ้าของ 3BB) คนที่ประมูลได้หนึ่งในสองรายแรก กลับทิ้งใบอนุญาตไป ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ จนทำให้ AIS ผู้ให้ราคาสูงที่สุดอันดับ 3 ต้องรับใบอนุญาตใบนั้นไปแทนแบบไม่ได้เต็มใจเท่าไหร่นัก

dtac เคยยื่นราคาคลื่น 900MHz สูงสุดกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ผู้ให้บริการ 2 ใน 3 ราย ต่างก็มีคลื่นความถี่ต่ำเก็บเข้าพอร์ตไปเรียบร้อยเหลือแต่เพียงดีแทคที่ปัจจุบันไม่มี ซึ่งก็พยายามเรียกร้องให้เกิดการประมูลมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา แม้ว่าดีแทคจะยื่นราคาต่ำที่สุดจาก 4 ราย แต่ก็ให้ราคาขึ้นไปสูงถึง 70,180 ล้านบาท และครั้งนี้ก็มีทีท่าพร้อมที่จะสู้ราคาในทีแรก แต่เมื่อมีการเปิดเผยถึงกฎการประมูลที่บีบผู้ชนะทุกทาง จึงทำให้ดีแทคจำเป็นต้องตัดใจไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่นี้ในทันที ซึ่งความซวยอาจจะตกมาอยู่ที่ผู้ใช้ดีแทคที่จะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมนัก (จริงอยู่ว่าปัจจุบันไม่พอใจอยากจะย้ายเครือข่ายก็ได้ แต่บางคนก็พอใจกับดีแทคและอยากได้เครือข่ายที่ดีขึ้นก็แค่นั้น)

สาเหตุทำ dtac ถอดใจเพราะเงื่อนไขการประมูลที่รับไม่ได้

การประมูลคลื่น 900MHz ในครั้งนี้มีการอ้างอิงราคาตั้งต้นจากราคาการประมูลคลื่น 900MHz เมื่อปี 2559 ซึ่งราคานั้นเป็นราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าไหร่นักเพราะคนที่ประมูลคลื่นได้ไป 2 รายแรก มีรายหนึ่งที่ทิ้งใบอนุญาตไป ราคาที่แท้จริงหากไม่มี JAS มาปั่นขึ้นไป ก็อาจจะไม่สูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงผู้ที่เข้าร่วมในปีนี้ก็ไม่ได้มีโอกาสในการหาลูกค้าใหม่เหมือนเหมือน 3 ปีที่แล้ว ดังที่เห็นว่าทาง TrueMove สู้ทุกราคาเพื่อหวังแย่งลูกค้าบนคลื่น 2G 900MHz ของ AIS มาให้ได้นั่นเอง ดังนั้นหากต้องมีต้นทุนขั้นต่ำที่สูงขนาดนั้นแต่โอกาสไม่ได้มากเท่าเดิมอีก ก็ฟังดูจะไม่เข้าท่าในทางธุรกิจเท่าไหร่

แต่ดูเหมือนว่าความต้องการคลื่นความถี่ต่ำของดีแทคจะมีสูงมาก จากที่เราได้เห็นว่าซีอีโอของดีแทคมีการเข้าพบกับกสทช. หลายครั้งเพื่อแสดงความต้องการคลื่นนี้และทำท่าจะยอมจ่ายแม้ว่าราคาจะสูงมากก็ตาม ซึ่งในวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังเข้ารับเอกสารชี้แจงเงื่อนไขการประมูลแล้ว กลับต้องผงะและตัดสินใจถอนตัวจากการประมูลคลื่น 900MHz เหลือแต่เพียงคลื่น 1800MHz เอาไว้ ซึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ดีแทคต้องถอดใจ ได้แก่

  1. คนที่ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการติดตั้งระบบป้องกันการกวนสัญญาณให้กับระบบรถไฟทั้งหมด ที่วันนี้ประเมินมูลค่าไม่ได้ เพราะโครงการยังไม่ได้เริ่มสร้างเลยด้วยซ้ำ
  2. แม้ว่า กสทช. เหมือนจะใจดีเปิดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนได้ 2,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขประมาณการที่ทางดีแทคคาดการณ์ไว้ มีสิทธิ์เกินตัวเลขนั้นไป 3-4 เท่า
  3. กสทช. สงวนสิทธิ์ในการโยกความถี่ไปใช้ช่วงอื่นภายหลังได้ ซึ่งหมายความว่าหากดีแทคลงทุนในเครือข่าย 900MHz นี้ไปแล้วเท่าไหร่ จะต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด เพราะเปลี่ยนช่วงคลื่นเท่ากับเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที

เงื่อนไขทั้งสามข้อนี้ถ้าใครที่ทำธุรกิจเจอเข้าไปก็คงต้องหันหน้าหนีกันหมด เพราะเหมือนต้องทำธุรกิจที่ไม่มีความแน่นอนแม้แต่อย่างเดียว 

อ่านต่อ ทำไมดีแทคไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz

รถไฟความเร็วสูง บนคลื่น 900MHz กับความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

อีกเรื่องที่น่ารู้ของคลื่น 900MHz ที่นำมาประมูลนี้ เป็นคลื่นสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลง มีช่วงความถี่กว้าง 10MHz แต่จะถูกนำเอามาประมูลเพียง 5MHz ส่วนที่เหลือทางกระทรวงคมนาคมมีการขอให้ กสทช. ช่วยกันเอาไว้เผื่อโปรเจกต์รถไฟที่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าจะได้สร้างเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดีก็มีความเห็นจากหลายฝ่ายที่มองว่าการนำเอาคลื่นที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้มากันให้โปรเจกต์ที่ยังไม่มีอนาคตชัดเจน และอาจจะไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเท่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นเรื่องที่ทำให้ชาติเสียโอกาส โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ยังได้ให้สัมภาษณ์เสริมเอาไว้อีกว่าการกันคลื่น 900MHz เพื่อนำไปใช้งานบนเทคโนโลยี GSM-R นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุค นานาประเทศเตรียมจะย้ายไปใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2565 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าเท่านั้น1 ซึ่งล่าสุดทางดีแทคได้เสนอให้ทาง กสทช. เปลี่ยนไปกันคลื่น 450MHz ที่ทีโอทีคืนไปให้ก่อนหน้านี้แทน เพื่อรอใช้งานเทคโนโลยีใหม่บน LTE-R2 และยังสามารถเอาคลื่น 900MHz นี้ออกมาประมูลได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้ง 10MHz และยังเสนอให้ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างฝ่ายทำระบบป้องกันของตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่เหมารวมมาอยู่ที่ผู้ได้คลื่นรายสุดท้ายรายเดียวอย่างในปัจจุบันนี้

รถไฟใหม่แล้ว ทำไมต้องใช้เทคโนโลยีเก่า?

ยังหวังคลื่น 900MHz ปล่อยออกมาประมูล

เป็นเรื่องที่แน่นอนแล้วว่าการประมูลคลื่น 900MHz ในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. จะไม่เกิดขึ้นแล้วแน่ๆ แต่หลายฝ่ายก็ยังหวังว่าจะได้เห็นคลื่นนี้กลับออกมาให้ประมูลและได้ใช้งานในเร็ววันด้วยเหตุผลมากมายตามข้างต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คงขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการ กสทช. ที่รับผิดชอบจะต้องพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติ หากท้ายที่สุดแล้วคลื่นโดนแช่แข็ง ไม่ได้ใช้งานยาวหลายปีทำรัฐเสียรายได้ ประชาชนเสียโอกาส งานนี้ กสทช. คงจะไม่พ้นคำครหา ว่าคลื่นความถี่ 900MHz เป็นของดีที่ไม่มีใครต้องการเพียงเพราะ กสทช. ผู้ถือกฎกำกับไม่เป็น 

ปล. ปัจจุบันการประมูลคลื่นยังมีอยู่นะครับ แต่เกิดขึ้นเฉพาะคลื่น 1800MHz เท่านั้น และมีเพียง AIS และ dtac ที่เข้าร่วม โดยจะประมูลกันในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ครับ

 

 

อ้างอิง เผื่ออ่านเพิ่มเติม

1โพสต์ทูเดย์ : ทำไมไม่มีใครประมูลคลื่น 900 MHz

2MGROnline : ดีแทค เสนอแนวทางปลดล็อกคลื่น 900 MHz ให้รถไฟฟ้าย้ายไปใช้คลื่น 450 MHz แทน