Dyson แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสุดพรีเมียมเปิดตัวเครื่องดูดฝุ่นไร้สายของค่ายตัวใหม่ รุ่น Digital Slim ที่ออกแบบมาสำหรับชาวเอเชีย โดยมีการปรับขนาดให้เล็กลงกว่ารุ่นก่อนถึง 20 % และเบาลงกว่าเดิม 30% โดยที่ทางค่ายเคลมว่ายังสามารถรักษาประสิทธิภาพการดูดเอาไว้ได้ดีเทียบเท่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง Dyson V11  จากวิศวกรรมการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ทางเราได้มีโอกาสทดสอบมาแล้วเป็นที่เรียบร้อย เลยจะขอมาเล่าประสบการณ์ให้ได้ทราบกันครับ

Dyson คือใคร?

Dyson เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งโดย Sir James Dyson ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1991 ออกแบบและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย เครื่องฟอกอากาศ เครื่องเป่าแห้งมือ พัดลมไร้ใบพัด ฮีตเตอร์ หรือที่เป่าผม ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนพนักงานมากกว่า 16,000 รายทั่วโลก ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยวิศวกร-นักวิทยาศาสตร์มากถึง 6,000 รายซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับทั่วไป โดยทางเซอร์เจมส์ผู้ก่อตั้งก็ยังคงเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรอยู่ด้วยตัวเอง

ในประเทศไทยหลายคนจะรู้จักแบรนด์นี้กันในนามของเครื่องใช้ไฟฟ้าสุดหรู ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของคุณภาพ และการใช้งานจะโดดเด่นกว่าใคร ได้ลองเมื่อไหร่จะรู้ว่ามันดีและแตกต่างสินค้าทั่วไปที่วางจำหน่าย และในอีกด้านจะเป็นเรื่องของภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดี คนที่เห็นหรือได้ใช้จะรู้สึกถึงนวัตกรรมในสินค้าที่ไม่ได้เดินตามใคร โดยสิ่งที่วิศวกรของ Dyson คิดค้นขึ้นมาแต่ละอย่าง ต่างช่วยแก้ไขปัญหาที่แม้บางเรื่องอาจจะดูเล็กน้อยในสายตาบางคน และเลือกที่จะมองข้ามไป แต่แทนที่จะทนๆใช้มันไป พวกเค้ากลับเลือกที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น จนทำให้สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยสังเกตได้ว่าแต่ละอย่างที่ Dyson คิดค้นมาได้นั้น ได้รับการตอบรับ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตผู้คนได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย ที่มอเตอร์ทำงานได้แรงสม่ำเสมอ ไฟไม่ตกเมื่อแบตอ่อน
  • พัดลมไร้สายเครื่องแรกของโลก
  • ไดร์เป่าผมสุดแรง ที่ไม่ทำให้ผมเสีย
  • เครื่องฟอกอากาศดีไซน์ใหม่
  • เครื่องเป่ามือ ช่วยลดการใช้กระดาษ
  • หลอดไฟ ที่ทำมาทีเดียวแล้วใช้งานได้อย่างยาวนานหลายสิบปี

ซึ่งของเหล่านี้หลายรุ่น ก็กลายเป็นสินค้าขายดีในแถบประเทศตะวันตก และเป็นต้นแบบที่ทำให้หลายแบรนด์เห็นแล้วต้องเดินตามนั่นเอง

Dyson Digital Slim เครื่องดูดฝุ่นที่ออกแบบมาเพื่อชาวเอเชีย

กลับมาที่ Digital Slim เครื่องดูดฝุ่นตัวล่าสุดจากทาง Dyson ที่เคลมว่าออกมาเพื่อชาวเอเชียโดยเฉพาะ โดยรุ่นที่มีวางจำหน่ายอยู่หลายรุ่นรุ่นในตลาดปัจจุบันนี้ แม้ว่าหลายคนจะใช้แล้วก็รู้สึกไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ทางไดสันเค้าก็ได้ทำการวิจัยและค้นพบว่า การใช้งานของชาวเอเชียแตกต่างออกไปจากชาวตะวันตก ทั้งลักษณะทางกายภาพที่แตกต่าง รวมถึงสภาพที่อยู่อาศัยก็ไม่เหมือนกัน ชาวเอเชียจะเลือกใช้วัสดุพื้นบ้านที่มีความแข็งมากกว่า (ชาวตะวันตกนิยมปูพื้นพรมในบ้าน แต่ชาวเอเชียจะเป็นพื้นไม้หรือกระเบื้องซะมาก) จึงได้มีการพัฒนาและออกแบบเป็นตัว Digital Slim ขึ้นมา ปรับปรุงขนาดให้มีความเล็กกะทัดรัดมากขึ้น ประกอบไปด้วย

  • ตัวแฮนด์เล็กลงกว่า V11 10% จับมีการกระจายน้ำหนักให้จุดศูนย์ถ่วงน้ำหนัก ใกล้กับปุ่มกดจึงมีความบาลานซ์ในการถือ
  • น้ำหนักก็เบาลงกว่ารุ่น V11 ถึง 25% เหลือเพียง 1.9 กิโลกรัม
  • ปรับลดความยาวของท่อจนถึงแฮนด์จับลง 15% ให้พอดีกับความสูงของชาวเอเชีย
  • สามารถเปิดถังเก็บฝุ่นได้ด้วยมือเดียว

มอเตอร์ Hyperdymium ไซโคลน 11 ม้วน กำลังแรงสูง

สิ่งที่เป็นท่อบริเวณหัวมอเตอร์ด้านบนเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดูดฝุ่น Dyson เลยก็ว่าได้ ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่าเทคโนโลยี Radial Root Cyclone สร้างลมไซโคลนขึ้นมา โดยในรุ่น Digital Slim นี่จะประกอบไปด้วยท่อทั้งหมด 11 ท่อ ให้กำลังแรงถึง 100AW ดูดหมุนวนฝุ่นเข้าไปยังถังเก็บโดยตรง จึงไม่ทำให้ตัวกรองอุดตัน และไม่ลดทอนกำลังดูด ซึ่งตัว Digital Slim นี้จะมีการปรับให้งานประกอบเปลี่ยนรวมเอาตัวไซโคลนกับมอเตอร์เข้าด้วยกัน จากที่รุ่น V11 จะแยกเป็นสองชิ้น จึงทำให้ Digital Slim ใช้น็อตสกรูที่น้อยกว่า นอกจากนี้ตัวช่องไซโคลนจะมีการขยายบริเวณปลายท่อให้ลมเข้าไปแต่ละไซโคลนกว้างขึ้นกว่ารุ่น V11 และมีการจัดเรียงช่องไซโคลนแบบย้อนกลับ ทั้งสองอย่างนี้จึงทำให้ขนาดและน้ำหนักของ Hyperdymium มอเตอร์บน Digital Slim น้อยและเบาลงกว่าตัว V11 ที่ 15% แต่ยังรักษาความแรงเอาไว้ได้เหมือนเดิม โดยจะหมุนทำรอบได้ถึง 120,000 rpm และด้วยความที่มอเตอร์ต้องหมุนด้วยความเร็วมากขนาดนี้ ทาง Dyson จึงต้องเปลี่ยนวัสดุของมอเตอร์จากเหล็กทั่วไป เป็นเซรามิคที่นำเอาไปหลอมที่อุณหภูมิ 1600℃  ทำให้มีความแข็งที่มากกว่าเหล็ก 3 เท่า แต่มีมวลความหนาแน่นที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง  น้ำหนักจึงยังน้อยเช่นเดิมได้

ภายในของ Radial Root Cyclone

แผนภูมิการไหลเวียนอากาศผ่านตัวกรองของเครื่องดูดฝุ่น Dyson V11

และความพิเศษของเครื่องดูดฝุ่นของ Dyson อีกอย่างจะอยู่ที่เสียงรบกวนที่จะน้อยมาก เพราะมีการออกแบบทางวิศวกรรมด้านเสียงให้ซับแรงสั่นสะเทือน ลดเสียงรบกวนไปได้เป็นอย่างดี เทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่ได้ลองมาก็รู้สึกได้ทันทีว่าแตกต่างมากครับ

ฟิลเตอร์ 5 ชั้น ดักฝุ่นหมดจด

ตัวกรองของ Dyson Digital Slim นี้จะเป็นระบบการกรองที่ประกอบไปด้วยชั้นต่างๆ รวม 5 ชั้น ประกอบไปด้วย

  1. Bin cyclone
  2. Mesh -ตาข่าย
  3. Cyclone cones
  4. Pre-motor filter
  5. Post-motor filter

ทั้งหมดนี้ทำให้สามารถกรองเอาเศษต่างๆ รวมถึงฝุ่นเล็กๆ ที่มีขนาดเล็กเพียง 0.3 ไมครอน (ฝุ่น PM2.5 ที่ว่าเล็กมีขนาด 2.5 ไมครอน) ได้ถึง 99.97% มั่นใจได้ว่าลมที่ปล่อยออกมาสะอาดหมดจดแน่นอน ส่วนถังเก็บฝุ่นที่ใช้ก็จะยังคงเอกลักษณ์ที่เป็นแบบใสสามารถมองเห็นข้างในได้ (ซึ่ง Dyson เป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มใช้วัสดุแบบนี้ และขายดีเทน้ำเทท่า จนเจ้าอื่นทำตามๆ กันมา) สามารถจุฝุ่นได้ที่ปริมาณ 0.35 ลิตร น้อยกว่าตัว V11 เล็กน้อย ที่จุได้ 0.54 ลิตร

หัวดูด 4 แบบ ดูดได้ทุกสภาพพื้นผิว

ภายในกล่องจะมีหัวดูดมาให้ทั้งหมด 4 แบบ สำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยตัวที่ใช้งานบ่อยสุดจะเป็นตัว Slim Fluffy Aero ที่ใช้ดูดพื้นทั่วไป ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นจากเดิมหลายอย่าง หลักๆคือจะเล็กลงและเบาลงรวมถึงดูดฝุ่นและเศษผงต่างๆได้ดีตลอดทั้งแกน ต่างจากเครื่องดูดฝุ่นบางรุ่น ที่หลายตัวแม้จะเป็นลูกกลิ้งหน้าตาดูคล้ายๆ กัน แต่กลับไม่สามารถดูขึ้นได้ดีทั้งแกน ดูดแรงแค่ตรงกลางเท่านั้น

หัวดูด Slim Fluffy Aero | Dyson Digital Slimหัวดูด Slim Fluffy ในรุ่น Digital Slim พัฒนาให้เล็กลงแต่ประสิทธิภาพดีขึ้น

เผื่อใครจะอยากรู้รายละเอียดว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ขอสรุปความเปลี่ยนแปลงจากตอน V11 มาให้ประมาณนี้นะครับ

  • ตัวแกนหัวดูดของ V11 จะเป็นพลาสติกที่หนักและหนากว่า ส่วน Slim Fluffy จะใช้เป็น Aluminum ซึ่งจะบางและเบาลงมาก
  • แนวของ Carbon Fibre จะแทรกอยู่ในช่องของแปรง V11 และเรียงเป็นแนวตั้ง แต่ของ Slim Fluffy จะเย็บเข้าไปในลูกกลิ้งเลยและปรับให้มีความเอียงลู่ไปกับลูกกลิ้งเพื่อให้มีน้ำหนักที่เบาลงและยังคงป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ได้เหมือนเดิม
  • มีการเปิดช่องด้านข้างเพื่อให้ลมผ่านเข้าไปได้ดีขึ้น พร้อมปรับขนให้สั้นและนุ่มลง ทำให้เก็บฝุ่นได้ดีขึ้นทั่วทั้งแกน

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ลูกกลิ้งของ Digital Slim เบาลง 40% และยังเล็กลง 20% ซึ่งจะทำให้สอดเข้าไปใต้เฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายขึ้นด้วย และแม้ว่าขนาดจะเล็กลง เบาลง แต่ยังรักษาประสิทธิภาพได้ดีเทียบเท่ากับรุ่นที่ใหญ่กว่าอย่าง V11 เอาไว้ได้อยู่

fluffy head digital slim vs v11หัวเล็กลงก็สอดเข้าไปใต้โต๊ะตู้ได้ดีกว่า

สำหรับหัวอื่นๆ ทาง Dyson ได้แนะนำให้ใช้งานตามความแรงแต่ละระดับไป โดยจะมีทั้งหมด 3 ระดับได้แก่ Eco, Med, Boost

  • Eco Mode จะแนะนำสำหรับการดูดทั่วไป ใช้หัว Slim Fluffy แบตจะอยู่ได้นานมากกว่า 40 นาที
  • Med Mode จะเป็นการใส่กับหัวแปรงที่ไม่มีมอเตอร์หมุน เพิ่มแรงในการดูดตามซอกมุม แบตอยู่ได้มากกว่า 25 นาที 
  • Boost Mode แนะนำให้ใช้กับหัวที่เป็น mini motorize สำหรับพื้นที่ต้องการแรงดูดสูงอย่างเตียงนอน จะได้ดูดเอาเหล่าไรฝุ่นขึ้นมาด้วยได้ และด้วยความแรงเบอร์นี้จึงทำให้แบตจะใช้งานได้ 5 นาทีเท่านั้น

ซึ่งถ้าเกิดว่าใครคิดว่ายังไม่พอรุ่นนี้จะสามารถถอดเปลี่ยนแบตได้ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ของค่ายที่สามารถเปลี่ยนแบตได้ ต่อจาก Dyson V11 โดยจะมีความจุแบตที่ 2,500 mAh

ทำความสะอาดง่าย ถอดออกมาล้างได้สะดวก

ตัวถังถูกออกแบบมาให้เก็บฝุ่นได้เป็นอย่างดี ซีลเอาไว้อย่างแน่นหนาไม่มีฝุ่นเล็ดรอดออกมาได้ และเมื่อต้องการถอดล้างทำความสะอาดก็ทำได้สะดวก สามารถดันเปิดได้ด้วยมือเดียว โดยตัวถังจะทำการรูดเอาเศษผม เศษฝุ่นออกมาให้ได้เกือบหมด ไม่ต้องใช้มือรูดเอง แต่ถ้าต้องการความสะอาดมากๆหน่อยก็อาจจะต้องมีการดึงเส้นผม หรือปาดเศษฝุ่นที่ตกค้างออกมา และสามารถถอดเอาถังและส่วนต่าง ๆ ออกมาล้างน้ำได้เลย ซึ่งส่วนที่ทาง Dyson บอกว่าสามารถล้างได้จะมี

  • ถังเก็บฝุ่น
  • หัวลูกกลิ้ง Slim Fluffy
  • ฟิลเตอร์
  • หัวดูดปากแคบส่องแสงได้

ซึ่งส่วนหัวลูกกลิ้ง Slim Fluffy นี้ให้ถอดเอาเฉพาะหัวลูกกลิ้งมาล้างเท่านั้น อย่าโยนลงไปทั้งหัวนะครับ เพราะด้านในจะมีมอเตอร์สำหรับหมุนอยู่ อาจจะเสียหายได้ และเมื่อถอดออกมาแล้วให้สำรวจเพิ่มเติมบริเวณหัวแกน ซึ่งอาจจะมีผมติดอยู่ ให้ดึงหรือหากรรไกรมาตัดออกด้วยก็จะดีครับ

แชร์ประสบการณ์ใช้งาน Dyson Digital Slim

เป็นเครื่องดูดฝุ่นที่ดีสมคำร่ำลือ ทั้งเรื่องของงานดีไซน์และประสิทธิภาพในการใช้งาน ประทับใจกับความสมดุลของส่วนต่างๆ ที่ออกแบบมาได้ลงตัว จับถือสะดวก ใช้งานแล้วไม่ได้รู้สึกหนักแต่อย่างใด จะมีแค่ช่วงแรกๆ ที่พลาดไปเกร็งถือตัวเครื่องและกดสลักมากเกิน เมื่อเริ่มชินถึงได้รู้ว่าด้วยสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกำ-บีบ ไม่ต้องเกร็ง แค่วางลงไปกับพื้น น้ำหนักเครื่องที่กดลงมาก็เพียงพอที่จะกดสลักให้ทำงานได้แล้ว สามารถถือใช้งานได้ยาวนานโดยไม่รู้สึกเมื่อยแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องความสะอาดจากหัวดูด Slim Fluffy ที่ใช้เพียงโหมด Eco ก็สามารถดูดเศษฝุ่นได้อย่างหมดจด จากที่ปกติเวลาดูดแป้งในเครื่องรุ่นอื่น จะยังเหลือเศษที่ใช้นิ้วปาดเจอได้บ้าง แต่พอเป็น Digital Slim ของ Dyson กลับไม่เจอเศษหลงเหลืออยู่ สามารถเดินเท้าเปล่าแล้วไม่ได้รู้ว่าเหลือฝุ่นติดเท่าแต่อย่างใดเลย

เรื่องแบตก็ประทับใจที่เค้าไม่ได้พยายามพูดเกินจริง ที่บอกว่ารองรับได้ 40 – 25 – 5 นาที ตามโหมดใช้งาน เมื่อเสียบชาร์จแบตให้เต็มกลับพบว่าใช้งานได้ยาวนานกว่าที่ระบุไว้ราว 20% และหน้าจอ LCD บอกปริมาณแบตคงเหลือ ก็จะใช้เป็นการนับวินาทีลงไปเรื่อยๆ แทนที่จะขึ้นเป็นเกจ์พลัง หรือแค่เม็ดบอกสถานะเท่านั้นอีกต่างหาก คือไม่นึกว่าจะสามารถทำให้ตัวคำนวณพลังงานได้มีความแม่นยำขนาดนี้

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ตัวเครื่องต้องการจะลดน้ำหนักและขนาดลงมาก จึงอาจทำให้เกิดข้อเสียขึ้นมาเล็กน้อย ที่บางส่วนจะดูบอบบาง และวัสดุมีเสียงขยับของพลาสติกออกมาบ้าง  ทำให้รู้สึกว่าต้องใช้งานอย่างระมัดระวังไปหน่อย

Play video

สรุปข้อดี – ข้อสังเกต Dyson Digital Slim

  • แรงดูดดีมาก สมชื่อ Dyson แม้จะเป็นเพียงแค่โหมด Eco ก็ดูดฝุ่นทั่วไปได้หมดจด
  • หัวลูกกลิ้งสามารถดูดฝุ่นแบบแป้งได้เกลี้ยงเกลา เอามือปาดก็ไม่เหลือเศษ
  • โหมด Turbo แรงจัดๆ ฝุ่นที่เกาะแน่นในเฟอร์ก็ดูดขึ้นมาได้
  • แบตสามารถใช้งานได้มากกว่าที่เคลมเล็กน้อย บอกระยะเวลาคงเหลือได้เป็นระดับวินาที
  • น้ำหนักเครื่องเมื่อวางลงกับพื้นเพื่อไถดูด ถ่วงน้ำหนักได้ดี ใช้งานนานๆได้
  • ไม่ต้องกำแฮนด์จับเพื่อกดดูด แค่ถือประคอง น้ำหนักเครื่องที่ทิ้งตัวลงมาก็เพียงพอจะกดแล้ว
  • หัวดูด Slim Fluffy aero แม้จะมีข้อดีที่เล็กและเบา แต่ก็ดูบอบบาง ต้องพยายามทนุถนอม
  • ด้วยความที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ทำให้วัสดุส่วนมากเป็นพลาสติก ขยับแล้วมีเสียงดูบอบบาง

สรุปแล้วถ้าใครอยากจะมีเครื่องดูดฝุ่นดีๆ ดีไซน์สวยใช้เป็นเฟอร์ประดับบ้านได้ ก็สามารถไปหาซื้อ Dyson Digital Slim กันได้แล้ววันนี้ ในราคา ราคา 19900 บาท มีแค่รุ่นเดียวไม่มีรุ่นย่อยเพิ่มเติม