Neuralink ได้ถูกเปิดตัวและสร้างความฮือฮา จากไอเดียที่ต้องการจะเชื่อมต่อสมองของมนุษย์ ให้สามารถรับส่งข้อมูลได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสัมผัสทั้ง 5 อีกต่อไป ซึ่งหลังจากการประกาศมาสักพักใหญ่ ๆ ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ได้ไลฟ์สาธิตตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototype) LINK V0.9 และนำหมูที่ถูกฝังชิปลงในสมองมาให้เห็นถึงการใช้งานจริง โดยการอ่านสัญญาณสมองได้แบบ Real-time แถมยังเปิดเผยวิธีการติดตั้ง สเปคคร่าว ๆ และการถอนการติดตั้งให้เราฟังอีกด้วย

เกริ่นนำ Neuralink คืออะไร?

Neuralink เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2016 และเป็นหนึ่งในบริษัทของ Elon Musk อัจฉริยะแห่งยุค ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับชาวโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินดิจิทัล PayPal, รถยนต์ไฟฟ้า Tesla, จรวดอวกาศ Space X, และ Hyperloop ซึ่ง Neuralink นี้นั้น อีลอน มัสก์ต้องการจะขยายช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร ที่ปัจจุบันจำกัดอยู่เพียงการรับรู้ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และป้อนคำสั่งได้ผ่านมือ สายตา หรือเสียงเท่านั้น โดยจะสร้างอุปกรณ์ที่จะทำการต่อตรงไปยังสมองให้สามารถอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปได้โดยตรง หรือจะดาวน์โหลดสั่งงานออกมาถึงเครื่องจักรเลยก็ได้

ทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ต้นแบบ LINK V0.9

ในการไลฟ์สดที่ผ่านมา ทาง Neuralink ได้นำเอาตัวสินค้ารุ่นต้นแบบ LINK V0.9 มาแสดง พร้อมอธิบายการทำงานต่าง ๆ และยกตัวอย่างการนำไปใช้งานจริงในด้านการรักษาโรคที่เกี่ยวกับสมองเช่น ความจำเสื่อม หูหนวก ตาบอด อัมพาต โรคนอนไม่หลับ อาการเสพติด ไปจนถึงโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งโรคเหล่านี้หากเราสามารถกระตุ้นให้สมองส่วนที่รับผิดชอบกลับมาทำงานได้ปกติดังเดิม อาการเหล่านั้นก็อาจจะหายไปได้นั่นเอง

ความแตกต่างของโมเดลต้นแบบปีที่แล้วที่ต้องดึงสายมาซ่อนหลังหู ในปีนี้จะฝังไปอยู่ในกระโหลกศรีษะได้เลย

ส่วนประกอบของ LINK V0.9 ที่เป็นรุ่นต้นแบบของชิป Neuralink จะประกอบไปด้วยสเปคต่าง ๆ ดังนี้

  • 1024 ช่องทางส่งข้อมูลต่อ 1 ลิ้ง (สามารถใส่ได้มากกว่า 1 ชิ้น)
  • ขนาด 23 มม. x 8 มม.
  • ฝังใต้กะโหลก
  • ระบบจับการเคลื่อนไหวแบบ 6 แกน
  • ความเร็วในการส่งข้อมูลระดับ Megabit
  • ระยะทำการ 5-10 เมตร
  • แบตเตอร์รี่ทำงานได้ตลอดวัน
  • ชาร์จไฟทิ้งไว้ข้ามคืน

ความสามารถของ Neuralink ในรุ่นต้นแบบนี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นเหมือนนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่ฝังอยู่ในสมอง ทำหน้าที่ในการวัดหรือติดตามสถิติต่าง ๆ ของร่างกายไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ ไปจนถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยเรื่องการทำงานของสมอง อีกทั้งยังสามารถทำให้ฟีเจอร์ Sleep Tracking แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

การใช้งาน Neuralink จะทำโดยการฝังตัวชิปเชื่อมต่อเข้าสมองผ่านสายเล็ก ๆ จำนวนมาก จากภาพด้านบน ที่เห็นแถบขาวจริงๆคือสายและแท่งสำหรับเชื่อมต่อเข้าสมองจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลออกมาสู่ตัวรับที่เห็นเป็นก้อนกลมๆทองแดง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ปัจจุบันจะเห็นเป็นเหมือนภาพคลื่นไฟฟ้า ที่สามารถนำไปแปรผลเป็นข้อมูลต่าง ๆ โดยตัวรับจะส่งข้อมูลออกมายังอุปกรณ์อื่น เช่น สมาร์ทโฟน โดยมีระยะทำการประมาณ 5-10 เมตร ซึ่งตัว Neuralink นี้จะต้องทำการชาร์จไฟเพื่อใช้งานอยู่เสมอ ชาร์จหนึ่งครั้งจะสามารถใช้งานได้ยาวนานตลอดทั้งวัน ส่วนวิธีชาร์จก็จะเป็นแบบ Wireless เหมือนกับสมาร์ทวอทช์ทั่วไป เพียงแค่แปะแท่นชาร์จเข้าที่หัวเราแล้วก็นอนยาวไปทั้งคืน ตื่นขึ้นมาแบตก็จะเต็มพร้อมใช้งานต่อไป

โดยการสาธิตในครั้งนี้ทาง Neuralink โดย Elon Musk ได้ใช้หมูมาเป็นตัวทดลอง ฝังชิป Neuralink เอาไว้เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งเราก็ได้เห็นคลื่นสมองของหมูที่ทำงานขณะที่กำลังเดินบนลู่วิ่ง โดยชิป Neuralink สามารถจับส่วนต่าง ๆ ตอนที่หมูขยับในระหว่างที่เดินได้ตามรูปนั่นเอง อีกทั้งในไลฟ์เรายังได้เห็นตัวชิปตรวจจับปฏิกิริยาทางสมองที่ขยับทุกครั้งเมื่อจมูกหมูสัมผัสกับวัตถุต่าง ๆ อีกด้วย

ภาพแสดงข้อมูลที่ Neuralink อ่านค่าออกมาได้ โดยชาร์ทสีฟ้าด้านล่างสุดจะเป็นการแปลงผลจากคลื่นสมอง ว่าเมื่อไหร่ที่สมองรับรู้ว่าจมูกของหมูมีการแตะกับสิ่งใด จะให้ส่งเสียงปี๊บออกมาดังเบาตามแรงที่จมูกกดลงไป

ตัวอย่างการแปรผลคลื่นไฟฟ้าจากสมองหมู ที่มีการติด Neuralink เข้าไปหลายตัวเพื่อทำการ track ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้เห็นว่าสมองมีการควบคุมการขยับตัวของกล้ามเนื้ออย่างไร

ยังไม่สามารถเขียนข้อมูลเข้าสู่สมองได้

จากความก้าวหน้าในปัจจุบัน Neuralink จะยังทำได้เพียงแค่อ่านข้อมูลจาก neuron ออกมาเท่านั้น จะยังไม่สามารถเขียนข้อมูลเข้าไปยังสมองได้ ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่ยังต้องค้นหาถึงวิธีการปล่อยกระแสไฟเข้าไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ว่าหากใช้วิธีดังกล่าวแล้วสมองจะไม่ได้รับความเสียหาย

การติดตั้ง Neuralink เข้าสู่สมอง

การติดตั้งชิปนั้นก็อาจจะฟังดูหวาดเสียวสักหน่อยเพราะเราต้องตัดชิ้นส่วนกะโหลกขนาดเท่าเหรียญออกแล้วติดตั้งตัวชิปผ่านหุ่นยนต์ใส่เข้าไปสู่สมอง ซึ่งหุ่นยนต์จะค่อย ๆ ฝังเอาสายเล็ก ๆ นี้จิ้มเข้าไปบริเวณต่างๆของสมองเพื่อรับสัญญาณ แล้วปิดช่องด้วยชิ้นส่วนรับสัญญาณกลม ๆ แบบในรูป ซึ่งตัวอุปกรณ์จะมีขนาดและความหนาใกล้เคียงกับกระโหลดที่ถูกตัดออกไป เมื่อปิดแผลแล้วจะเรียบเนียนจนทำให้หลังการติดตั้งแทบดูไม่รู้เลยว่าใครฝัง Neuralink อยู่ โดยขั้นตอนการผ่าตัดทั้งหมด 100% นั้นถูกทำผ่านหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำสูง คล้ายการทำผ่าตัดเลสิกสายตา การผ่าตัดทั้งหมดใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง และหลังจากผ่าตัดแล้วก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้เลยในวันเดียวกันไม่จำเป็นต้องนอนพัก แถมยังไม่ต้องใช้ยาสลบอีกด้วย

ภาพการติดตั้งเอาตัว Link เข้าสู่สมอง ซึ่งเป็นการถ่ายแบบโคลสอัพให้เห็นว่าตัวโรบอตจะค่อย ๆ เอาสายจาก Neuralink ต่อตรงเข้าสมอง ซึ่งหากกระบวนการเป็นไปอย่างปกติ ขั้นตอนนี้จะไม่มีเลือดออกแต่อย่างใด

หุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีความแม่นยำสูง สามารถติดตั้ง Neuralink เข้าสมองเราได้ภายในชั่วโมงเดียวก็เรียบร้อย

สามารถถอดออก (reversible) มาบำรุงรักษาหรืออัปเกรดได้

ใครที่เป็นห่วงว่าหากติดตั้ง Neuralink แล้วมันจะต้องอยู่ถาวร ไม่สามารถถอดออกได้อีกต่อไปรึเปล่านั้น  อันนี้ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะทาง Neuralink ได้เตรียมการเอาไว้เผื่อสำหรับเอาออกได้อยู่แล้ว สามารถถอดเอาออกมาซ่อมแซม เปลี่ยน ถอนการติดตั้ง หรืออัปเกรดได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองเลย ซึ่งในไลฟ์เราก็ได้เห็นหมูที่เคยติดตั้ง Neuralink และถูกผ่าตัดเอาออกแล้วก็สามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้ไม่มีผลข้างเคียงด้านสุขภาพเลย

ความเป็นไปได้จากการใช้งาน Neuralink

นอกจากนี้ Elon Musk ยังได้มีการเสริมข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับความเป็นได้ในช่วง Q&A ท้ายงานซึ่งมีคำถามน่าสนใจมากมายที่บ่งบอกถึงฟีเจอร์ล้ำ ๆ ที่ Elon Musk คอนเฟิร์มว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่จะสามารถใช้ได้จริงในอนาคต

  • Neuralink สามารถใช้บันทึก และเล่นความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถอัปโหลดความทรงจำของตัวเองเพื่อสำรองข้อมูลเอาไว้ และดาวน์โหลดข้อมูลของคนอื่นมาใส่หัวเราเองได้อีกด้วย (เหมือน The Matrix เลยครับ)
  • ผู้ใช้งานสามารถเรียกรถ Tesla มาหาได้เพียงแค่นึกในใจ (เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของรถ Tesla ที่สามารถใช้มือถือเรียกรถมาหาได้)
  • คนที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งมีผลมาจากกระดูกสันหลังหรือสมอง จะสามารถรักษาหายได้จากโดยคืนการเคลื่อนไหวทั้งตัวได้ผ่าน Neuralink นี้
  • ราคาในตอนเปิดตัวจะสูงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออุปกรณ์มีความนิยมมากขึ้น โดยเมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ค่าใช้จ่ายรวมถึงการผ่าตัดทั้งหมดจะลดลงมาอยู่ที่ราว หลักพันดอลลาร์ (A few thousands) เท่านั้น ซึ่งจะใกล้เคียงกับการผ่าตัดทำเลสิกในปัจจุบันที่ก็มีความใกล้เคียงกันนั่นเอง (ปัจจุบันราคาลดลงไปจากหลักแสนเหลือราว 40,000 +) 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นความคืบหน้าที่น่าสนใจจากงานสาธิตชิปฝังสมอง Neuralink ที่มีฟีเจอร์ล้ำ ๆ มากมาย ซึ่งเมื่อไหร่ที่ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตออกมาใช้งานได้จริง ก็น่าจะช่วยผู้ป่วยด้านสมอง และการเคลื่อนไหว รวมถึงโรคซึมเศร้าที่เริ่มเป็นกันหนักขึ้นทุกวันได้ ส่วนการใช้งานในด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดหรืออัปโหลดข้อมูลเข้าสมอง ก็ดูท่าว่าจะต้องรอให้อุปกรณ์มีความเสถียร และปลอดภัยมากกว่านี้อีกสักพักใหญ่ ๆ และยังมีสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องทำการค้นคว้าอีกมากมายพอสมควรเลย

สำหรับคนที่สนใจสามารถดูสรุปการไลฟ์สาธิตเป็นคลิป ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ หรือจะดูแบบเต็ม ๆ จากลิงก์ที่มาก็ได้เช่นกันครับ

Play video

Source: CNET