ในปัจจุบันเหล่าแอปแชทยอดนิยมอย่าง WhatsApp, Facebook Messenger, iMessage ฯลฯ ก็จะแยกการใช้งานแบบแอปใครแอปมันอยู่แล้ว และแต่ละคนก็มักจะต้องมีแอปพวกนี้อยู่ในเครื่องมากกว่าหนึ่งแอป เพราะบางทีจะแชทกับแฟนก็ใช้แอปนึง แชทกับเพื่อนใช้แอปนึง แชทกับที่ทำงานก็อีกแอปนึง วุ่นวายกันไปหมด แถมอาจจะเข้าข่ายเป็นการกีดกันคู่แข่งด้วย ซึ่งล่าสุดทาง EU หรือสหภาพยุโรป ก็เตรียมออกกฎหมายใหม่ให้แอปแชทเหล่านี้สามารถใช้งานร่วมกันได้เพื่อแก้ปัญหาซะเลย

Digital Markets Act (DMA) หรือกฎหมายการตลาดดิจิทัลที่ออกโดยสหภาพยุโรปนี้ จะมีไว้เพื่อควบคุมแอปแชทต่าง ๆ โดยเฉพาะแอปจากบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ใช้งานในระดับ 45 ล้านรายต่อเดือน หรือแอปที่มีผู้ใช้งานระดับองค์กรกว่า 10,000 รายต่อปีในฝั่งยุโรป

ซึ่งทางสหภาพยุโรปได้ลงความเห็นว่าแอปแชทจากบริษัทระดับยักษ์เหล่านี้ควรเปิดกว้างให้เหล่าแอปแชทจากบริษัทรายย่อยสามารถส่งข้อความ ส่งไฟล์ หรือวิดีโอคอลล์หากันได้ระหว่างแอปของบริษัทอื่น ๆ ด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือแอปอย่าง WhatsApp หรือ iMessage ที่มีผู้ใช้จำนวนหลายล้านรายควรใช้งานข้ามแพลตฟอร์มกับแอปแชทอื่น ๆ ได้ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดการใช้งานแอปเฉพาะเท่าที่คนรอบตัวใช้อยู่

นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่าบริษัทเจ้าของแอปแชทเหล่านี้จะต้องขออนุญาตผู้ใช้งานเพื่อขอเก็บข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ สำหรับใช้ในการโฆษณา และต้องอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เว็บเบราว์เซอร์, Virtual Assistant หรือ Search Engine ที่ต้องการได้เอง ซึ่งข้อบังคับเหล่านี้อาจเป็นปัญหากับ Apple เนื่องจากทางค่ายไม่เปิดให้ผู้ใช้งานเข้าถึงตัวเลือกบางอย่างได้

จริง ๆ เมื่อปีที่แล้วทาง Google เคยแนะนำให้ Apple นำเอาโปรโตคอล RCS หรือ Rich Communication Services ที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับการรับส่งข้อความของผู้ให้บริการ ไปใช้กับแพลตฟอร์มของตัวเอง (ระบบ Android ได้ใช้โปรโตคอลนี้อยู่แล้ว) ซึ่งหากว่า Apple นำเอาโปรโตคอลนี้ไปใช้แล้ว ก็จะทำให้แอป iMessage สามารถส่งข้อความหาอุปกรณ์ระบบ Android ได้ด้วย แต่ทาง Apple ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับคำแนะนำดังกล่าว

แต่ถ้าหากว่าทางสหภาพยุโรปได้อนุมัติร่างกฎหมาย DMA นี้เมื่อไหร่ ก็ไม่แน่ว่าทาง Apple อาจต้องจำใจนำเอาโปรโตคอล RCS มาใช้กับอุปกรณ์ของตัวเองจนได้ เพื่อให้แอป iMessage ใช้งานร่วมกับแอปแชทบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ตามกฎหมายนั่นเองครับ

 

ที่มา : 9to5Mac