อุปกรณ์ในระบบ Android มีความหลากหลายทางฮาร์ดแวร์ในชนิดที่นับแทบไม่ถ้วน ทั้งขนาดหน้าจอที่แตกต่างกัน หรือซีพียูคนละสถาปัตยกรรม นักพัฒนาต้องทำแอปให้รองรับครอบคลุมกับอุปกรณ์เหล่านั้น ส่งผลให้ไฟล์ APK มีขนาดใหญ่หากไม่ได้แยกเอาไว้แบบเฉพาะเจาะจง แต่ปัญหานี้กำลังจะหมดไป เพราะล่าสุด Google ได้ปรับนโยบายใหม่ให้หันมาใช้ AAB แทน

Android App Bundle (AAB) เปิดตัวครั้งแรกใน Google I/O ปี 2561 ทำให้นักพัฒนาสามารถเลือกส่งเฉพาะแพ็กเกจบางส่วนของแอปขึ้นไปยัง Play Store แทนที่จะส่งไปเป็น APK ทั้งก้อนใหญ่ ๆ

เมื่อมีการเรียกดาวน์โหลดจากฝั่งผู้ใช้งาน ระบบจะคัดเลือกให้เองว่า แพ็กเกจแบบไหนของแอปที่เหมาะสมกับอุปกรณ์นั้น ๆ ด้วยวิธีนี้ Google กล่าวว่า ขนาดแอปโดยเฉลี่ยจะลดลงถึง 15% และสูงสุดเกินกว่า 50% เลยทีเดียว

สำหรับคนที่ติดตั้งแอปจำนวนมาก ๆ เอาไว้ในมือถือน่าจะเห็นผลชัดเจน ประหยัดพื้นที่เก็บข้อมูลไปได้มากโข ส่วนฝั่งผู้พัฒนาก็ได้ประโยชน์ เพราะไม่ต้องทำ APK แยกหลาย ๆ ตัวตามแต่ละความเข้ากันได้ของอุปกรณ์เหมือนในอดีต แค่ส่ง AAB ไป ที่เหลือเดี๋ยว Google จัดการให้เอง แถมยังออกอัปเดตได้สะดวกอีกต่างหาก (ดูเพิ่มเติม)

Google บอกว่า ตอนนี้มีแอปจำนวนมากกว่า 1 ล้านรายการแล้วที่ใช้วิธีการเผยแพร่ด้วย AAB ยกตัวอย่างแอปดัง ๆ เช่น Adobe, Gameloft, Netflix และ Twitter เป็นต้น

นอกจากนี้ Google ยังได้แจ้งให้นักพัฒนาปรับวิธีเผยแพร่ไฟล์ทรัพยากรของเกมที่เป็นส่วนขยายของ APK เสียใหม่ (ไฟล์ใหญ่ ๆ ที่เราต้องมานั่งดาวน์โหลดหลังจากที่เปิดเกมเล่นครั้งแรกนั่นแหละครับ) จากเดิมที่ใช้ไฟล์ OBB ให้เปลี่ยนมาเป็น Play Asset Delivery (PAD) หรือ Play Feature Delivery แทน

หากกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ หลักการทำงานของ PAD จะเป็นในลักษณะเดียกกับ AAB คือ นักพัฒนาสามารถแยกไฟล์ทรัพยากรออกเป็นแพ็กเกจได้ เวลาผู้ใช้งานสั่งดาวน์โหลดจะได้ไปเฉพาะในส่วนที่สอดคล้องกับอุปกรณ์ของตัวเอง เช่น มือถือที่มีหน้าจอความละเอียดต่ำ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ไฟล์รูปภาพในแอปความละเอียดสูง ๆ อะไรทำนองนั้น ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาในการดาวน์โหลด เพราะไฟล์มีขนาดเล็กลง และในเชิงเทคนิคแล้วจะมีความปลอดภัยมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้มีผลเฉพาะกับแอปใหม่ที่จะส่งขึ้น Play Store ตั้งแต่เดือนสิงหาคมศกนี้เท่านั้น แอปที่อยู่มาก่อนแล้วไม่ได้มีการแจ้งข้อกำหนดอะไรเพิ่มเติม

 

ดูเพิ่มเติม : Google