Google หนึ่งในผู้ให้บริการเทคโนโลยีเบอร์ต้น ๆ ของโลกที่มักประกาศชูนโยบายร่วมปกป้องพื้นที่ส่วนบุคคลของข้อมูลผู้ใช้งานมาตลอด กลับถูกสื่อท้องถิ่นของฮ่องกงแฉเข้าให้ ว่าเมื่อช่วงกลางปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทฯ เองก็เคยแอบนำส่งข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนเกี่ยวกับประชากรชาวฮ่องกงให้แก่รัฐบาลของพวกเขาไปใช้ประโยชน์ ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานมีการออกมาประกาศจำกัดการส่งมอบข้อมูลผู้ใช้งานแก่ภาครัฐเพื่อป้องกันการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ไม่รู้ว่าทางด้าน Google จะชินชาไปแล้วหรือยังกับดราม่ารายวัน แต่เคสนี้อาจเป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่ชาวเน็ตทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากเทรนด์ที่หน่วยงานรัฐในหลายประเทศมักมีการเรียกใช้ข้อมูลของประชาชนเอาจากผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการบังคับหรือขอความร่วมมือก็ตาม และผู้ให้บริการที่ถือครองหรือดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมหาศาลนั้นคุ้นชื่อคุ้นตาพวกเรากันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น Apple – Google – Facebook – Twitter – Microsoft เป็นต้น
ส่วนหากจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับประเทศไทยของเรา คงต้องนึกถึงข่าวล่าสุดที่ทางกระทรวง DE ได้มีการออกประกาศบังคับให้ Application ยอดฮิตสำหรับนักขับเคลื่อนด้วยการด่าอย่าง Clubhouse และ Telegram เข้าข่ายจะต้องจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานให้เป็นระบบมากขึ้นโดยให้มีการระบุตัวตนเป็นต้นนี่เอง
กระทรวงดิจิทัลฯ บังคับ Clubhouse และ Telegram ต้องเก็บข้อมูลที่สามารถใช้ระบุตัวตนยูเซอร์ได้
ประเด็นความมั่นคงฮ่องกง – จีน – ผู้ประท้วง ส่งผลให้ Tech Giants ประกาศจำกัดความร่วมมือด้านข้อมูลแก่ภาครัฐ เพื่อช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัว
Google นับเป็นหนึ่งใน Tech Giants ของโลกที่ดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของชาวโลกอยู่เป็นจำนวนมหาศาลในฐานะผู้ให้บริการร่วมกับแพลตฟอร์มโซเชี่ยลอีกหลายรายที่มักจะออกมาประกาศนโยบายปกป้องข้อมูลของผู้ใช้บริการเพื่อให้ความสำคัญต่อสิทธิและพื้นที่ของเจ้าของข้อมูลตัวจริง (คือผู้ใช้งานเป็นเจ้าของข้อมูล และข้อมูลก็เป็นเรื่องส่วนตัว ผู้ให้บริการอย่าง Google เป็นแค่ผู้ดูแลและให้บริการไม่ใช่เจ้าของตัวข้อมูล)
โดยการประกาศยกระดับมาตรฐานการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปี 2020 หลังจากทางรัฐบาลฮ่องกง ที่กำลังมีประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนของพวกเขากับจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่กำหนดโทษแก่นักประท้วงและผู้ชุมนุมเอาไว้สูงมาก ซึ่งผู้ชุมนุมในยุคปัจจุบันมักเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่อย่างเปิดเผยบนโลกออนไลน์หลากหลายแพลตฟอร์ม Social Media ทั้งหลายย่อมตกเป็นเป้าสืบสวนของหน่วยงานรัฐไปโดยปริยาย
ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้ง Google – Facebook และ Twitter ซึ่งนับว่าเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม จึงเกิดความกังวลรีบออกประกาศทันควันยกระดับนโยบายจำกัดความร่วมมือในการส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้กับภาครัฐ หน่วยงานรัฐต่างชาติ เว้นแต่จะมีการประสานโดยตรงผ่านไปยังรัฐบาลสหรัฐ ฯ ก่อนเท่านั้น
สื่อฮ่องกงเผย Google ก็เคยส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาลของพวกเขา ก่อนจะทำเท่ ! ประกาศร่วมปกป้องข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นของฮ่องกงอย่าง Hong Kong Free Press ได้มีรายงานว่าทางด้านของ Google เองนั้นได้เคยมีการส่งมอบข้อมูลผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งให้แก่รัฐบาลฮ่องกง ก่อนที่จะมาร่วมประกาศยกระดับในช่วงปีที่ผ่านมานี้เอง โดยจากข้อมูลที่รวบรวมได้ ทางฮ่องกงเคยทำเรื่องขอเข้าถึงข้อมูลจาก Google เอาไว้สูงถึง 43 ครั้ง แต่ทาง Google เองได้ส่งมอบข้อมูลกลับไปเพียง 3 ครั้งและเป็นประเด็นเกี่ยวกับการสืบสวนคดีค้ามนุษย์และความเสี่ยงก่อคดีฆาตรกรรม ยังไม่ใช่การสืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นความคิดเห็นทางการเมืองแต่อย่างใด
แม้ทางด้านของ Google เองยังไม่มีแถลงการณ์หรือชี้แจงถึงเรื่องนี้ ส่วนเหตุการณ์ฉาวดังกล่าวก็เกิดขึ้นก่อนการประกาศงดส่งมอบข้อมูลส่วนบุคคลให้กับภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยบังคับเอากับผู้ให้บริการออนไลน์ทั้งหลายนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและน่าติดตามเป็นพิเศษเพราะวิธีการหรือประเด็นปัญหาเดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงบ้านเราด้วยนั่นเอง
อ้างอิง: The Verge | Hong Kong Free Press
Comment