จากการประเมินยอดขายสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมียมรอบปีที่ผ่านมา โดย Counterpoint Research มีรายงานว่า Google Pixel เข้าสู่อันดับสมาร์ทโฟนพรีเมียมชั้นนำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ ถึงแม้จะยังอยู่เฉพาะในบางตลาดเท่านั้นก็ตาม โดยทำได้ถึงอันดับที่ 3 ของอเมริกา ส่วน OnePlus ต้องเรียกว่ามาแรงแบบฉุดรั้งไว้ไม่อยู่จริงๆ ก้าวขึ้นสู่อันดับ 5 ของโลกสำหรับแบรนด์พรีเมียมเป็นที่เรียบร้อย แถมยอดขายโต 209% ส่วนแชมป์ยังเป็น Apple ตามมาด้วย Samsung และ Huawei แบบไม่ผิดคาดนัก
Apple x Samsung x Huawei ยังนำ ส่วน Google กับ OnePlus คือดีงามในที่ของตัวเอง
สำหรับผู้นำยังคงเป็นเจ้าเก่า เจ้าเดิม อย่าง Apple ตามมาด้วย Samsung ในแทบทุกตลาด โดยหากจัดอันดับโลกนั้น Apple กินส่วนแบ่งการตลาดพรีเมี่ยมสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 51% ส่วน Samsung และ Huawei อยู่ที่ 22% และ 10% ตามลำดับ โดยฝั่ง Apple กับ Samsung นั้นมีสัดส่วนที่ลดลงเล็กน้อย ผลพวงจากการที่คู่แข่งเบอร์รองๆแทบทุกราย สามารถเข็นนวัตกรรมในระดับทัดเทียมกันออกมาพร้อมกับราคาที่ย่อมเยาว์กว่า ในขณะที่ Huawei ก็ทำยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ Segment ราคา ไม่ใช่แค่กลุ่มพรีเมียมเสียด้วยซ้ำ และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือสัดส่วนยอดขายเรือธงของ OPPO เพิ่มขึ้นมากจาก 1% กลายมาเป็น 6% ขึ้นแท่นอันดับ 4 ของโลกไปเลย จากที่ช่วงปีหลัง ๆ มานี้หันมาโฟกัสรุ่นพรีเมียมกับเขามากขึ้นชนิดจัดหนัก จัดเต็ม
ในขณะที่ทางฝั่งของ Google นั้น ถึงแม้จะยังทำตลาดไม่ทั่วถึงนักทั้งในแง่ปริมาณการผลิตและจำนวนประเทศที่เข้าไปขาย (เช่นสาวกบ้านเราที่เฝ้ารอๆๆ และยังคงต้องรอกันต่อไป T-T) แต่ในตลาดที่ Google ให้ความสำคัญเป็นพิเศษอย่าง อเมริกาเหนือ (NAM) และ ยุโรปตะวันตก (WE) นั้นเรียกได้ว่าเริ่มเข้าสู่ยุคทองของพวกเขาแล้วจากส่วนแบ่งยอดขาย ขึ้นแท่นอันดับ 3 และอันดับ 5 ตามลำดับ เบียดชื่อชั้นอย่าง LG ที่เคยอยู่ในอันดับกลุ่มนี้ลงได้เรียบร้อย ฝากผลงานยอดขายโตปีต่อปีอยู่ที่ 40%
เช่นเดียวกับ OnePlus ผู้เคลมฉายา Flagship Killer ที่หลังจากปี 2017 เป็นต้นมา ความพยายามขยายตลาดให้ครอบคลุมเกือบทุกทวีปทั่วโลกดูจะเห็นผลอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ มีอัตราการเติบโตของยอดขายปีต่อปี สูงถึง 209% (ใช่แล้วเราพิมพ์ไม่ผิด 2 เท่ากว่าในปีเดียว!) ปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนพรีเมียมอันดับ 5 ของโลกเป็นที่เรียบร้อย สเปคจัดเต็มในราคาที่จ่ายไปนั้นดูจะเป็นกลยุทธ์ที่เข้าเป้าสุดๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่หลงรักในความคุ้มค่าอย่าง India ขึ้นแท่นอันดับ 2 เป็นรองเพียง Samsung เท่านั้น
ที่เหลือแบ่งๆกัน บางรายกำลังมา ส่วนบางรายนั้นกำลังช้ำใจ…
สำหรับแบรนด์ที่ทำผลงานได้ดีทั้ง Segment รวม และ Premium Segment อย่าง OPPO, Vivo, และ Xiaomi นั้นติดอันดับ Top 5 กับเขาด้วยในบ้านตัวเองอย่างจีน (CHINA) ซึ่งมีปริมาณและกำลังซื้อมากจนส่วนหนึ่งส่งผลให้ OPPO ติดอันดับ Top 5 ของโลกในตลาดพรีเมี่ยมนี้ไปเลยด้วยเพราะถ้าสังเกตุจากตารางข้างบน ไม่มีชื่อ OPPO ปรากฏอยู่ในตลาดประเทศอื่นเลยสำหรับ 5 อันดับแรก แปลว่าผลงานอันดับ 3 ในจีนนั้นยิ่งใหญ่มากจริงๆ นอกจากนั้น Nokia by HMD Global เป็นครั้งแรกเหมือนกัน ที่กลับมามีชื่อเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำกับเขาอีกครั้ง โดยล่าสุดนอกจากติดอันดับ 10 ของโลกในทุก Segment แล้วยังสามารถไต่ขึ้นอันดับ Top 5 ได้แล้วสำหรับ Premium Segment ในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกา (MEA)
ถัดมาเป็นกลุ่มอาการทรงตัวแบบออกไปทางเป๋ๆ มีเป๋มากกับเป๋น้อย… เริ่มที่ Motorola นับตั้งแต่ Lenovo ซื้อมาปั้นกันใหม่นั้น เกาะกลุ่ม Top 5 ได้อยู่บ้างสำหรับตลาดพรีเมียมของบางทวีป ส่วน LG กับ Sony ควงคู่กันหายไปจาก Top 5 ของตลาดยุโรปเป็นที่เรียบร้อย (WE) ในรายของ LG จะหนักกว่าเพื่อนหน่อยตรงที่โดนคู่แข่งเบอร์แรงทั้ง Google และ OnePlus เบียดแย่งอันดับไปจากทั้ง อเมริกาเหนือ (NAM) ยุโรปตะวันตกและตะวันออก (WE & CEE) ส่วนอดีตแชมป์อเมริกาเหนือและ Top 5 ของโลกโดยเฉพาะในระดับเรือธงอย่าง HTC นั้นไม่มีข้อมูล… เราคิดถึงนายนะ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Sony ยังคงรั้งอันดับ 3 เอาไว้ได้แบบเหนียวแน่นสำหรับตลาดเอเชียแปซิฟิก (APAC Excl China) เป็นรองเพียง Apple กับ Samsung เท่านั้น อาจเป็นเพราะความนิยมที่ยังมีอยู่พอสมควรกับประเทศเจ้าบ้านอย่างญี่ปุ่น รวมไปถึงไต้หวันและออสเตรเลีย อันที่จริงเรือธง Sony Xperia ผลิตที่ประเทศไทยนะ การกลับมาทำตลาดอีกครั้งหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากนักอย่างที่ Sony ประเทศไทยเคยเกริ่นเอาไว้ว่าพักทำตลาดเท่านั้นยังไม่ได้ยอมแพ้ หวังว่าจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน…
จุดเริ่มต้นความสำเร็จ…? เจ้าบ้าน Android กับ ผู้สร้างแบรนด์ Flagship Killer
ถึงแม้จะมาช้าและมาแพง แต่ Google Pixel นั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างโดดเด่นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การใช้งานที่ชูว่า นี่คือ Android จาก Google แท้ๆ ในฐานะเจ้าของบ้าน การผสมผสานทุกบริการของ Google ได้อย่างลงตัว และที่ขาดไม่ได้เลยคือ Pixel ตั้งแต่รุ่น Original ในปี 2016 มานั้น สร้างแรงกระตุ้นให้คู่แข่งอย่างมากในด้าน Computational Photography มันคือประสบการณ์รูปถ่ายมือถือที่ยอดเยี่ยมชนิดที่ทุกวันนี้ยังคงคอนเซ็ปกล้องเดียวก็เปรี้ยวได้เอาไว้ ยังไม่ใส่กล้อง 2 กล้อง 3 มาสักที อย่างไรก็ตามยอดขายที่โตกว่า 40% ในปีล่าสุดนั้นถูกวิเคราะห์ว่า Google เลือกใช้เวลากับ Pixel Original และ Pixel 2 เพื่อสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็งในตัวมันเอง ก่อนที่จะทุ่มงบการตลาดแบบเอาเป็นเอาตายให้กับ Pixel 3 Series ช่วงท้ายปี 2018 นี่เอง ซึ่งนับว่ากลยุทธ์นี้เริ่มทำผลงานแล้ว
สำหรับอีกฝั่งของโลกอย่าง OnePlus นั้น มีกลยุทธ์ที่สุดไปอีกทางมาตั้งแต่รุ่นแรก OnePlus 1 (1+1) เปิดตัวในปี 2014 ชูแบรนด์ของตัวเองว่า “Flagship Killer” หรือ “นักฆ่าเรือธง” แบบที่เราชอบเรียกกันนั่นแหละ โดย OnePlus ใช้วิธีการอัดสเปคให้เท่ากันหรือมากกว่าพรีเมียมแบรนด์อื่นในทุกๆปี แต่มาพร้อมราคาเริ่มต้นที่ถูกกว่าเรือธงแบรนด์อื่นราวๆ 50% (ทุกวันนี้แพงขึ้นเยอะนะ แต่ก็ยังถูกกว่าชาวบ้านเขาอยู่ 30 – 40% ในสเปคจัดเต็มเช่นเดิม) นอกจากนั้นแล้ว OnePlus ยังขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เน้นฟังเสียงสาวกอย่างจริงจัง เช่น CEO (Pete Lau) ที่ชอบตั้งคำถามและตอบโต้บน Social Network เพื่อหาคำตอบให้กับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเสมอๆ แล้วมันไปฆ่าเรือธงยังไงน่ะหรอ อันนี้ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องโดยตรงรึเปล่า แต่น่าจะต้องลองไปถามชื่อคุ้นหูอย่าง HTC, LG หรือ Sony ดูว่ามีความเห็นอย่างไรกันบ้าง… #htcไม่ถูกใจสิ่งนี้
อ้างอิง: 9to5Google | Counterpoint Technology Market Research
รู้สึกเสียดาย sony