Google Play Store มีการปรับนโยบายอย่างกะทันหันในสัปดาห์นี้ โดยกูเกิลจะไม่ปล่อยแอปแบบ APK ทั้งก้อนให้โหลดอีกต่อไป แต่จะปล่อยให้โหลดเฉพาะ APK ที่สร้างขึ้นจากบันเดิล AAB ที่สอดคล้องกับอุปกรณ์นั้น ๆ เพียงอย่างเดียว ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีผลอะไรต่อผู้ใช้งานทั่วไป แต่ที่กระทบเต็ม ๆ เลย คือ ผู้ใช้งานที่ติดตั้งแอปผ่านการไซด์โหลด ที่ต้องเจอความลำบากเพิ่มขึ้นประมาณนึง
เราทุกคนต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่าอุปกรณ์ Android นั้นมีความหลากหลายทางด้านฮาร์ดแวร์สูงลิบ ทั้งชิปเซตต่างกัน สถาปัตยกรรมซีพียูต่างกัน ฟอร์มแฟกเตอร์ต่างกัน ความละเอียดหน้าจอต่างกัน และสิ่งอื่น ๆ อีกสารพัด ดังนั้นในการสร้าง APK ขึ้นมา นักพัฒนาจึงต้องยัดโค้ดและทรัพยากรต่าง ๆ เข้าไปในไฟล์ ให้รองรับกับอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งหมด หรือรองรับให้ได้มากที่สุด
ข้อดีของการทำแบบนี้คือ โหลดแอปครั้งเดียว ใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ แต่ข้อเสียก็มี คือแอปบวม เปลืองพื้นที่โดยไม่จำเป็น ซึ่ง APK ที่มัดรวมทุกอย่างแบบนี้ไว้ เรียกว่า universal APK แต่หลายคนเรียกกันติดปากว่า fat APK
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กูเกิลจึงได้พัฒนาฟอร์แมต AAB มาในปี 2018 คล้ายกับเป็นส่วนย่อยของ APK ที่หากมีการดาวน์โหลดหรืออัปเดตแอปจาก Google Play Store ระบบจะคอยจัดสรรดึงเอาเฉพาะ AAB ที่จำเป็นมาสร้างเป็น APK ให้กับอุปกรณ์ที่กดโหลดแอปนั้น ๆ โดยอัตโนมัติ โดย APK ที่โหลดมานี้ ก็จะใช้งานได้กับอุปกรณ์นั้น ๆ เพียงรุ่นเดียว
กูเกิลเริ่มแจ้งนักพัฒนาให้ส่งไฟล์ AAB ขึ้นไปบนสโตร์เมื่อปี 2021 ถึงกระนั้น ที่ผ่านมา Google Play Store ก็ยังปล่อย fat APK ให้โหลดได้อยู่ ซึ่งเว็บแจกไฟล์ APK หลายแห่ง เช่น APKMirror ก็ไปดึง fat APK ที่ว่า มาปล่อยต่อให้ไซด์โหลดกันอีกทอด
- มารู้จักกับ Android App Bundle ในแบบฉบับผู้ใช้ทั่วไปกันเถอะ
- ทำไมบางแอปเอา APK ไปติดตั้งลงในเครื่องอื่นแล้วใช้ไม่ได้ มีวิธีแก้รึเปล่า ?
- กูเกิลแจ้งนักพัฒนา ใช้ไฟล์ AAB แทน APK บน Play Store ลดขนาดแอปได้มากสุด 50% โหลดไว อัปเดตง่าย
ส่วนประเด็นเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวไซด์โหลด คือ ปัจจุบัน Package Installer ของ Android ยังไม่สามารถติดตั้งแอปจากแพ็กเกจ AAB ได้โดยตรง ส่วน fat APK แบบเดิมก็ไม่มีแล้ว เพราะกูเกิลหยุดปล่อย แต่ทางออกก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ยุ่งยากขึ้นเล็กน้อย (ตามที่เกริ่นไปข้างต้น) คือ การใช้แอปติดตั้ง ABB เช่น APKMirror Installer หรือ Split APKs Installer หรือสามารถติดตั้งแบบแมนนวลได้เองผ่าน ADB
ทั้งนี้ ย้ำอีกทีว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเฉพาะบน Google Play Store ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อผู้ใช้งานทั่วไป รวมถึงสโตร์อื่นที่ยังรองรับ fat APK ต่อไปตามปกติ
ที่มา : 9to5Google
Comment