Google ในฐานะผู้ให้บริการด้านข้อมูลแหล่งใหญ่ที่สุดของโลก ไม่ยอมอยู่เฉยเลือกใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดออกรายงานสถานการณ์การเคลื่อนไหวประชาชาติ หรือ Community Mobility Reports ซึ่งใช้ Google Location History มารวบรวมเป็นรายงานสรุปเพื่อวัดผลมาตรการรัฐของแต่ละประเทศ ในการรับมือโรคระบาด Covid-19 ว่าออกมาตรการกันมาแล้วได้ผลดีเท่าที่ควรหรือไม่ สำหรับประเทศไทย พบว่ามีการเดินทางด้วยระบบสาธารณะลดลง 61% เข้าออฟฟิศทำงานลดลง 21% และอยู่บ้านกันเพิ่มขึ้น 16%

นอกจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ที่ยังไม่ยอมเพลาลง ไม่รู้จะไปหยุดลงที่ตรงไหน ฝั่งธุรกิจ ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทั่วโลก ชนิดเข้าขั้นวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงอย่างนั้นฝั่งผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายรายทั่วโลกก็ไม่หยุดนิ่ง แต่พร้อมใจกันควักทุกอาวุธที่มีอยู่ในมือออกมาช่วยองค์กรสาธารณสุขและรัฐบาล เพื่อสู้กับโรคร้ายนี้ ด้าน Google นั้นชัดเจนที่สุดในฐานะผู้ให้บริการด้านข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก (world’s information provider) เริ่มจากการจัดตั้งพื้นที่ข้อมูลพิเศษ ในช่องทาง Google Search ที่อุทิศให้กับอัพเดทสถานกาณ์ไวรัสโดยเฉพาะ

ซึ่งนอกจากบริการ Google Search อันเลื่องชื่อแล้ว Google ยังมีอีกบริการที่เป็นประโยชน์ต่อโลกทั้งใบอย่างมาก นั่นคือบริการแผนที่ ที่ฟรีและดีที่สุดในโลกอย่าง Google Maps ซึ่งมีฟีเจอร์สำคัญอย่างนึงสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนนั่นคือ Location History หรือก็คือการเก็บบันทึกข้อมูลการเดินทาง ซึ่งเป็นตัวช่วยทำงานในการคำนวณความหนาแน่นการจราจรและการวางแผนการเดินทางชั้นยอดมาตลอดโดย งานนี้ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์ที่รัฐและผู้คน ต้องจัดระเบียบการเดินทางใหม่ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์อย่างแรกตามที่ DroidSans ได้นำเสนอเอาไว้ก่อนหน้านี้นั่นก็คือ วิธีการตรวจสอบประวัติการเดินทางย้อนหลัง 14 วันของตัวเองหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือติด Covid-19

รายงานการเคลื่อนไหวคนไทย มีนาคม 2020 | เข้าออฟฟิศน้อยลงเพียง 21% อยู่บ้านเพิ่มขึ้น 16%

ล่าสุด Google ได้เปิดตัวพื้นที่ช่วยเหลือด้านข้อมูลสาธารณะใหม่ขึ้นอีกนั่นคือ “COVID-19 Community Mobility Reports” ที่เราขอเรียกมันว่า “รายงานการเคลื่อนไหวประชาชาติฟาดโควิด” ซึ่งเป็นรายงานเฉพาะกิจที่จะมีอัพเดทไปเรื่อย ๆ ในแต่ละช่วงเวลาไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพื่อช่วยเหลือในการสรุปผลการเคลื่อนไหวของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการสนับสนุนองค์กรด้านสาธารณสุขและรัฐในการใช้เป็นดัชนีวัดผลของมาตรการรัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในมาตรการ Social Distancing ที่ทั่วโลกกำลังทำ หรือที่บ้านเราเรียกมันว่า มาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นั่นเอง

ลองมาดูตัวเลขวัดผลสำหรับมาตรการรัฐบ้านเรากันบ้าง จากภาพประกอบจะพบว่ากราฟการเดินทางไปอยู่ในพื้นที่ทำงาน หรือ ออฟฟิศ (Workplaces) นั้นลดลง 21% และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัย (Residential) สูงขึ้น 16% ในเดือนที่ผ่านมาแต่กราฟจะดีดกลับเล็กน้อยเป็นจุดเล็ก ๆ ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบอกได้ว่า คนไทยทำงานที่บ้านกันมากขึ้นชัดเจน แต่จำนวนยังไม่มากนัก และแถมยังมีการกลับเข้าออฟฟิศอยู่ ซึ่งอาจเป็นลักษณะของการประชุมสรุปงานประจำสัปดาห์ตามความเคยชินอยู่ หากเทียบกับมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมากพบว่าชาวอเมริกันเดินทางไปยังพื้นที่ออฟฟิศลดลงมากที่สุดถึง 38% เลยทีเดียว (แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ ล่าสุดผู้ติดเชื้อทะลุ 300,000 รายไปแล้ว)

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเทรนด์ของพื้นที่ Transit Stations ซึ่งได้แก่การเข้าสู่พื้นที่การคมนาคมสาธารณะเช่น สถานีรถโดยสาร หรือรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นว่าลดลงถึง 61% ซึ่งอาจเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งหากมองว่าคนเดินทางด้วยระบบสาธารณะที่ต้องรวมผู้คนจำนวนมากไว้ด้วยกันน้อยลง แต่หากสังเกตุกราฟจะพบว่าเทรนด์นั้นมีการดีดตัวกลับราว 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและก่อนปลายเดือนมีนาคมซึ่งพอเหมาะพอเจาะกับการสนับสนุนให้ผู้คนเริ่มทำงานจากที่บ้าน และการประกาศปิดบริการห้างร้านและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพ ซึ่งเกิดเป็นข่าวดราม่ากระจายเชื้อกลับบ้านต่างจังหวัดกันยกใหญ่

รายงานพิเศษนี้อาจช่วยสร้างแรงกระเพื่อมต่อมาตรการสาธารณสุขของแต่ละชาติได้เป็นอย่างดี ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่หรือมีอะไรที่สามารถยกระดับ ปรับปรุง ในความพยามหยุดการเดินทางของผู้คน ซึ่งหากทำได้ไม่ดีพอ ไม่แน่ว่ารายงานชุดนี้อาจกลายเป็นรายงานการเคลื่อนไหวประชาชาติฟาดหน้ามาตรการรัฐที่ล้มเหลวแทนก็เป็นได้ 😥 แต่เอาเป็นว่านี่คือข้อมูลที่ประโยชน์มากอีกชุดนึงจาก Google ที่มอบให้กับโลกใบนี้ในยามวิกฤติก็แล้วกัน ซึ่งทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลระบบเปิดนี้ไปใช้ได้เพื่อช่วยกันรับมือสถานการณ์นี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี #ประเทศไทยต้องชนะ 😉

 

อ่านเพิ่มเติม: รายงานสรุปการเคลื่อนไหวประชาชาติของประเทศไทย ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2020

อ้างอิง: Google’s COVID-19 Community Mobility Reports