จากคดีความระหว่าง Sonos และ Google ในข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563 นั้น ล่าสุดคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USITC ได้ตัดสินแล้วว่า Google มีความผิดจริง โทษฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของ Sonos เป็นสิทธิบัตรจำนวน 5 รายการที่เกี่ยวข้องกับลำโพงอัจฉริยะและระบบเสียง ส่งผลให้ Google ไม่สามารถ “นำเข้า” อุปกรณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรนั้น ๆ มาขายในอเมริกาได้
อุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้มีด้วยกันหลายอย่าง นอกเหนือจาก Google Nest หรือชื่อเดิมคือ Google Home แล้ว Chromebook กับ Chromecast และแม้แต่ Pixel ต่างก็โดนหางเลขไปตาม ๆ กัน ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถูกผลิตในจีนแล้วค่อยส่งมาขายในอเมริกา
คำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าของ USITC จะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วันหาก โจ ไบเดน ไม่ได้คัดค้าน แต่ Google หาทางลงโดยการ “ปรับ” หรือ “ถอด” ฟีเจอร์บางอย่างของอุปกรณ์ออกไป ดังที่เราได้เห็นไปแล้วในกรณีของ Chromecast ที่ไม่สามารถปรับระดับเสียงได้จากมือถือที่รันบน Android 12 รวมถึงที่พึ่งออกประกาศตัดฟีเจอร์ Speaker Group ควบคุมเสียงลำโพงหลายตัวพร้อมกันของ Google Nest ทิ้งไป โดยต้องปรับเสียงจากลำโพงทีละตัวแทน
แต่เรื่องอาจยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะ Sonos และ Google ยังมีคดีฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรค้างคาอยู่อีก 2 คดี ที่ศาลในลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโกตามลำดับ ซึ่งการตัดสินยังไม่สิ้นสุด โดย Sonos ระบุว่า ยังมีสิทธิบัตรอีกนับหลายสิบฉบับที่ถูก Google ขโมยไปใช้งานอยู่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ Google จ่ายลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วย
Sonos ได้แบ่งปันเทคโนโลยีด้านลำโพงและเสียงให้แก่ Google ช่วงที่ทั้งสองบริษัทเริ่มทำงานร่วมกันในปี 2556 ซึ่ง ณ ขณะนั้น Google ยังไม่ใช่คู่แข่งในตลาดของ Sonos จนกระทั่งมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Google Home ออกมาตอนปี 2559 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Google Nest ในภายหลัง
ที่มา : The New York Times | 9to5Google | Google Nest | Wikipedia
Comment