นับเป็นอีกคดีความที่เกี่ยวข้องกับ Android ระหว่าง Google กับ Oracle ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี โดยศาลยุติธรรมกลางของสหรัฐ ฯ เพิ่งมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ว่า Google ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในการใช้ Java Codes คิดเป็นมูลค่าความเสียหายร่วม 3 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดทาง Google ได้ยื่นข้อต่อสู้โดยมีศาลฎีกาสหรัฐ ฯ แถลงรับเรื่องเอาไว้พิจารณาแล้วเรียบร้อย
Oracle ฟ้อง Google 3 แสนล้าน ข้อหาขโมย Java Codes มาใช้บน Android คดีที่ยืดเยื้อนับ 10 ปี นานจนจำไม่ได้
คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดี (เคย) ดราม่าในแวดวงนักพัฒนาซอฟแวร์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้งาน Java Codes และระบบปฏิบัติการ Android เพื่อทำมาหากิน ซึ่งต้องย้อนไปถึงปี 2010 ที่บริษัทซอฟแวร์องค์กรชื่อดังอย่าง Oracle ได้เข้าซื้อกิจการ Sun Microsystems แบบเหมารวบ ซึ่งรวมความเป็นเจ้าของภาษาคอมพิวเตอร์อย่าง Java อยู่ในลิสต์ด้วย และในปีเดียวกันนั้น Oracle ได้ยื่นฟ้อง Google ข้อหาใช้ Java API Codes ความยาวรวมกว่า 11,000 บรรทัดโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ Android คิดเป็นมูลค่าความเสียหายร่วม 9 พันล้านเหรียญ (ราว ๆ 2.8 แสนล้านบาท 8-O)
อย่างไรก็ตาม เมื่อราว ๆ ปี 2014 ทางคณะลูกขุนแห่งศาลยุติธรรมในมลรัฐ San Francisco ได้ตัดสินให้ Google ไม่มีความผิดในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ (Java) โดยเป็นไปตามหลัก “Fair Use” หรือ “การใช้ประโยชน์โดยชอบธรรม” ซึ่งเป็นหลักยกเว้นความผิดทางกฎหมายลิขสิทธิ์ว่าให้มีการใช้ประโยชน์ในสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตนั่นเอง
งานนี้เล่นเอา Oracle หัวเสียสุด ๆ รีบยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐ ฯ (The United States Court of Appeals for the Federal Circuit) ซึ่งในที่สุดเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำตัดสินให้ Google ต้องรับผิดในการละเมิดใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ที่เป็นของ Oracle โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะเป็นการใช้ไปเพื่อการพาณิชย์โดยสมบูรณ์และกระทำการเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับ Oracle ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์เองโดยตรงอีกด้วย
เห็นตัดสินไปแล้วทำไมยังไม่จบ?
คนที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดอาจจะงงกันว่าเห็นออกข่าวเรื่องนี้มานานนม ศาลก็ตัดสินไปแล้วทำไมไม่จบสักที ขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ปกติเมื่อมีการฟ้องร้องไปขึ้นศาลกัน ที่เห็นตัดสินคดีเราต้องดูว่าเป็นศาลระดับไหนตัดสิน ถ้าเป็นศาลชั้นต้น (Trial Court / Federal Court) หรือศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ทางฝ่ายที่แพ้คดีก็สามารถจะยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลชั้นต่อไปตัดสินได้อีก ถ้ามีเหตุบางประการที่ศาลจะเห็นควรให้มีการพิจารณาใหม่ โดยจะมีการเรียงระดับชั้นเป็น ศาลชั้นต้น > ศาลอุทธรณ์ > ศาลฎีกา ซึ่ง Google vs Oracle ในรอบนี้ก็เป็นระดับของศาลฎีกา (Supreme Court) ซึ่งเป็นศาลสุดท้ายแล้ว ถ้าชี้ขาดออกมาเป็นอย่างไร ทั้งสองฝ่ายก็จะต้องยอมรับแต่โดยดี ไม่สามารถจะฟ้องร้องต่อไปได้แล้วนั่นเอง
Google ยื่นสู้ต่อในศาลฎีกา หวังสร้างมาตรฐานให้ Software Developers | งานนี้ #teamGoogle เพียบ !
หลังจากนั้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Google ได้ตัดสินใจแถลงยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) เพื่อขอสู้คดีนี้ต่อ โดยยกเหตุสำคัญใจความว่า “คำตัดสินของศาลอุทธรณ์กลาง ฯ นั้นอาจถึงขั้นทำลายศักยภาพของนักพัฒนา ที่ควรจะสามารถพัฒนาต่อยอดซอฟแวร์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้โดยอาศัยแพลตฟอร์มระบบเปิดที่มีอยู่ก่อนแล้ว… “ ซึ่งงานนี้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างเปิดเผยจาก องค์กรอิสระด้านความรู้สาธารณะ (Public Knowledge) มูลนิธิวิวัฒนาการอิเล็คทรอนิกส์ (The Electronic Frontier Foundation) รวมถึง Tech Giants อย่าง Microsoft | Mozilla แถมรวมไปถึงบรรดา Developers แทบจะทั่วโลกเลยก็ว่าได้
หากไม่มีชุด Codes เหล่านี้ จะไม่เกิดการเชื่อมต่อ API (Application Programming Interface) บนแพลตฟอร์ม และเมื่อไม่มี Interface รายชื่อและอีเมลล์ผู้ติดต่อของคุณก็จะเชื่อมไปยังระบบของอีเมลล์ไม่ได้ ซึ่งทำให้คุณส่งอีเมลล์หาใครก็ไม่ได้หากจะทำบน Android ซึ่งอันที่จริง Android ก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์ที่คุณถืออยู่ตั้งแต่แรกเช่นกัน แต่ละส่วนจะแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงเป็นเกาะใครเกาะมัน ไม่มีสะพานส่งถึงกัน – Google LLC
การต่อสู้ในศาลชั้นสูงสุดครั้งนี้ Google ถึงขั้นยกให้เป็น “คดีลิขสิทธิ์แห่งทศวรรษ” กันเลยทีเดียวเพราะ Google เองรวมถึงบรรดานักพัฒนาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอิสระต่อการใช้งานภาษา Java เช่นนี้ ล้วนแล้วแต่มองว่า คดีนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับทั้งอุตสาหกรรมซอฟแวร์และอาจส่งผลโดยตรงถึงขั้นต่อภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและทำลายการแข่งขันอันเป็นเสรีในสหรัฐ ฯ ไปในที่สุดนั่นเอง
Oracle จวก Google เล่นใหญ่หวังผลฟรี ๆ จากต้นทุนของพวกเขา ส่วนศาลฎีการับเรื่องไว้แล้วรอพิจารณา
งานนี้แน่นอนว่าทาง Oracle ออกอาการไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าทางบริษัท ฯ นั้นต้องลงทุนไปซื้อกิจการมาถึงจะได้ Java อยู่ในครอบครอง แต่กลับถูกเอาไปใช้งานสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้กับธุรกิจอื่นอย่างฟรี ๆ โดยทาง Noel J. Francisco ผู้เป็นตัวแทนฝ่ายกฎหมายของ Oracle นั้นระบุว่า “การลอกเอา computer codes ความยาวรวมกว่า 11,500 บรรทัดที่รวมเอาโครงสร้างและการออกแบบอันซับซ้อนภายใน codes ชุดนั้นไปใช้ ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพทางการพาณิชย์โดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ของ Google ซึ่งส่งผลเสียหายโดยตรงต่อ Java Platform ของโจทย์ (Oracle)” ซึ่งแสดงความเห็นชัดเจนว่า การปกป้องลิขสิทธิ์อันมีเจ้าของต่างหาก ที่ส่งผลให้คนกล้าสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างแท้จริง
ทฤษฎีของ Google กำลังจะบอกกับเราว่า การใช้ต้นทุนทรัพยกรอย่างมหาศาลเพื่อสร้างให้แพลตฟอร์มอย่าง Java กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีความสำคัญยิ่งต่อนักพัฒนาทั้งหลายนั้น Oracle ควรจะอนุญาตให้ใครก็ได้ โดยเฉพาะคู่แข่งทางธุรกิจ คัดลอกเอา API Codes ไปใช้เพื่อที่จะได้เข้าถึงกลุ่มนักพัฒนาเหล่านี้ เพื่อจะสร้างบางสิ่งบางอย่างต่อยอดไปอีกขั้น ถ้ารู้แบบนี้ Oracle คงจะคิดแล้วคิดอีกว่าควรลงทุนหรือไม่ถ้าสิ่งที่สร้างมากับมือถูกนำไปใช้ต่อยอดแบบฟรี ๆ และกลับมาแข่งขันกับเราโดยตรง – Oracle America, Inc.
ที่น่าสนใจคือตัวแทนของประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ อย่าง The Trump Administration ดันออกมาแสดงความสนับสนุนแนวคิดและการต่อสู้ของ Oracle แถมชี้นำให้องค์กรตุลาการเลือกอยู่ข้างเดียวกัน โดยชี้ว่าการทำคำตัดสินเรื่อง “fair use” ของศาลชั้นต้นนั้นไม่ชัดเจนมากพอและเชื่อว่า Federal Circuit ตัดสินได้ถูกแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทาง Supreme Court of the United States ได้แถลงรับฎีกาเอาไว้แล้ว ด้วยเห็นว่ามีความสำคัญในระดับมหภาค และจะกำหนดวันพิจารณาคดีนี้ต่อไป งานนี้เพื่อน ๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้าน Software อาจจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเลยว่าคดีนี้จะจบลงอย่างไร
สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจรายละเอียดคำแถลงรับฎีกาของศาลฎีกาสหรัฐ ฯ สามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่: Supreme Court of the United States
อ้างอิง: The Verge | The New York Times (Subscription) | The Wall Street Journal (Subscription)
ยักษ์ชนยักษ์ของจริง ใหญ่ทั้งคู่ 😱😱😱