หลังจากตกเป็นข้อถกเถียงในชั้นศาลของยุโรปกันมาอย่างยาวนาน Google ก็กำลังส่อแววจะได้รับชัยชนะในชั้นสิ้นสุดสำหรับคดี “สิทธิ์ที่จะถูกลืม” (right to be forgotten) บนโลกอินเทอร์เน็ต จากความเห็นของคณะอัยการสูงสุด โดยมีใจความหลักว่า “Google ไม่จำเป็นต้องเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นผลการค้นหานอกประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป”

บุคคล (ในยุโรป) มีสิทธิ์สั่งให้ Google ลบผล Search?

ย้อนไปช่วงปี 2014 ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECJ – The European Union Court of Justice) ได้มีคำสั่งตัดสินกรณีการแสดงผลการค้นหาของ Google รวมถึง Search Engine รายอื่นๆครอบคลุมเอาไว้ว่า บุคคลมีสิทธิที่จะทำคำสั่งให้ Google ลบผลการค้นหาที่มีความละเอียดอ่อนออกไปได้ โดยเรียกการทำคำสั่งนี้ว่า “สิทธิ์ที่จะถูกลืม” ในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของบุคคลธรรมดา (ไมใช่บุคคลสาธารณะ เช่น ดารา นักแสดง นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น)

คำสั่งศาลที่ว่านี้ถูกนำมาใช้กับผลการค้นหาใน 27 ประเทศภายในกลุ่มสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามถือเป็นที่เข้าใจกันโดยปริยาย ณ เวลานั้นว่า Google ไม่จำเป็นต้องเซ็นเซอร์ผลการค้นหาลักษณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆนอก EU นั่นเอง อย่างไรก็ตามสหภาพยุโรปได้มีการประกาศเตือนอย่างเป็นทางการไปยัง Google ว่ายังมีการแสดงผลการค้นหาในเนื้อหาที่ถูกร้องให้เซ็นเซอร์แล้วในประเทศอื่นๆ นอกยุโรป จนกระทั่งศาลในประเทศฝรั่งเศสได้ออกคำสั่งศาลออกมาว่า “Google ต้องเซ็นเซอร์ผลการค้นหาทั่วโลกไม่ใช่แค่เพียงในยุโรปเท่านั้น”

ตีมึนจนได้ดี ส่อแววชนะในศาลฯยุโรป

Google โต้กลับด้วยการตีมึน ไม่สนใจคำเตือนของฝรั่งเศสที่ประกาศเป็นทางการว่า Google ต้องทำตามคำสั่งนี้ไม่เช่นนั้นจะต้องพบกับบทลงโทษทางกฏหมาย ซึ่งทำให้ Google ต้องยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อ ECJ ในที่สุด รวมถึงยังต้องถูกรัฐบาลฝรั่งเศสกำหนดค่าปรับสำหรับการกระทำละเมิดกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตามล่าสุด (เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562) ทางสำนักอัยการสูงสุดของยุโรปมีการทำความเห็นอย่างเป็นทางการออกมาว่า “สิทธิ์ที่จะถูกลืม สามารถปรับใช้ได้เฉพาะกับชาติในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศเท่านั้น” โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวได้แก่ ออสเตรีย เบลเยี่ยม บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัญเช็ก เดนมาร์ก เอสโทเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักซัมเบิร์ก มัลต้า เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร

“อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงความเห็นอย่างเป็นทางการของสำนักอัยการสูงสุดซึ่งศาล ECJ แห่งยุโรปไม่ได้มีหน้าที่ผูกพันโดยตรงทางกฏหมาย เพียงแต่โดยทางปฏิบัตินั้นคำตัดสินจะเป็นไปในทางเดียวกันเสมอ นั่นเอง”

ที่มา: 9to5Google