สำหรับคนที่กำลังหาซื้อหูฟังมาใช้ฟังเพลงง่ายๆ ร่วมกับสมาร์ทโฟน แต่ยังไม่รู้วิธีเลือกหูฟังที่ปัจจุบันมีแบรนด์ต่างๆทำออกมาขายกันเต็มไปหมดไม่รู้จะเลือกอันไหนดี วันนี้เรามี 6 วิธีพื้นฐานในการเลือกซื้อหูฟังมาแนะนำกัน

1.ลองหูฟังด้วยตัวเองก่อนซื้อทุกครั้ง

สิบปากว่าก็ไม่เท่าตัวเองฟัง มีหลายๆ คนที่ไปอ่านรีวิวหูฟังตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วก็เดินไปซื้อในร้านทันทีที่เจอหูฟังที่คิดว่าน่าจะดีจากการไปอ่านรีวิวมา โดยบางร้านก็ไม่มีหูฟังตัว demo ให้ลองฟังก่อน พอซื้อมาแล้วก็ไม่ถูกใจ เพราะฉะนั้นควรจะซื้อจากร้านที่มีหูฟัง demo ให้ลองก่อน ซึ่งถ้าลองแล้วซื้อกลับมาฟังยังรู้สึกว่าทำไมตัวที่ซื้อมาเสียงไม่เหมือนกับตัวที่ลองฟัง อาจเป็นเพราะว่าหูฟังใหม่ของเรายังไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน ชิ้นส่วนต่างๆอย่างไดอะแฟรมซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงก็ยังมีความยืดหยุ่นไม่มาก พอใช้งานตามปกติไปประมาณ 100 ชั่วโมงเสียงก็จะดีขึ้น เรียกว่าเป็นการเบิร์นหูฟังนั่นเอง (แนะนำว่าอย่าใช้ไฟล์พวก pink noise มาเบิร์นหูฟัง จะทำให้หูฟังเสียหายได้ครับ)

 

2.เลือกแนวเสียงที่ตัวเองชื่นชอบ

ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่ตายตัวว่าเพลงแนวนี้จะต้องเลือกใช้หูฟังที่มีแนวเสียงแบบนี้เท่านั้น จริงอยู่ที่ว่าเพลงบางแนวเช่น electronic/dance หรือฮิปฮอป ควรจะใช้หูฟังเบสหนักๆ ฟังถึงจะสนุก หรือพวกเพลงโอเปร่าที่จะเน้นเสียงย่านกลางแหลมที่ชัดเจนจัดจ้านเป็นหลัก แต่สุดท้ายแล้วถ้าเสียงหูฟังที่ซื้อมาไม่ถูกใจคนใช้ก็คงจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปอยู่ดี จึงต้องถามตัวเองก่อนไปเลือกซื้อว่าต้องการเสียงประมาณไหนจึงจะพอใจ ซึ่งแนวของหูฟังเองก็จะมีหลายแบบ ทั้งพวกที่เน้นเบสหนักๆ หรือบาลานซ์แนวกลางๆ ไปจนถึงแนวที่เน้นความใส ลองเทียบง่ายๆ ก็เอาเพลงที่เราฟังบ่อยๆ ไปลองกับหูฟังหลายๆ แบบ ก็จะรู้สึกได้ว่าเวลาฟังแล้วเสียงที่ได้มันต่างกัน

 

3.เลือกประเภทหูฟังให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ถ้าแบ่งประเภทหูฟังตามรูปร่างและขนาดจะแบ่งได้ประมาณ 5 ประเภทหลักๆดังนี้

หูฟัง earbud

เป็นหูฟังที่เราเห็นกันมาตั้งแต่ยุค Sony Walkman ที่เป็นเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทเคลื่อนที่ พกพาสะดวก สวมใส่ง่าย แต่มีข้อเสียตรงที่มันไม่เก็บเสียง ทำให้เวลาฟังเพลงหรือรายละเอียดที่ได้อาจจะไม่ครบเวลาเราอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง

 

หูฟัง in-ear

หูฟังที่มีจุกยาง (หรือจุกโฟม) ใส่เข้าไปในรูหูของเรา ทำให้เราแทบไม่ได้ยินเสียงรบกวนรอบข้างเลย ทำให้ได้ยินเนื้อเสียงและรายละเอียดต่างๆ ได้ดีกว่าหูฟัง earbud แต่ข้อควรระวังคือเวลาใส่เดินตามถนน เพราะเราจะไม่ได้ยินเสียงรถหรือสิ่งต่างๆ ภายนอกเลย ทำให้เกิดอันตรายได้ (จริงๆ ขนาดของตัวจุกยางหรือจุกโฟมก็มีผลต่อการฟังเพลงและการขับเสียงด้วย แต่เดี๋ยวจะยาว ติดเอาไว้ก่อนละกัน)

 

หูฟัง ear clip

เป็นหูฟังที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นกันแล้วในสมัยนี้ โดยเมื่อก่อนจะมีรุ่นดังๆอย่าง Koss KSC35 ซึ่งหาซื้อได้ค่อนข้างยากแล้ว และก็ไม่ค่อยมียี่ห้อไหนผลิตออกมาด้วย

 

หูฟัง on-ear

เป็นหูฟังขนาดใหญ่ที่มีตัวโฟมวางอยู่บนใบหู มีขนาดไดรเวอร์ที่ใหญ่กว่าหูฟัง earbud และ in-ear มาก ทำให้จำลองเสียงออกมาได้ดี มีสเตจที่กว้างกว่าหูฟัง 3 ประเภทด้านบน (แต่ก็ไม่เสมอไป) หลายๆ แบรนด์ออกแบบหูฟังนี้ให้พับเก็บเล็กๆได้ น้ำหนักเบา ใส่กระเป๋าพกพาสะดวก

 

หูฟัง over-ear

หลายๆ คนเรียกหูฟังประเภทนี้ว่าหูฟังแบบครอบหู โดยตัวโฟมหูฟังมีขนาดใหญ่ครอบหูทั้งใบของเราไว้ มีขนาดไดรเวอร์ใหญ่ที่สุดในหูฟังทั้ง 5 ประเภท แต่มีขนาดตัวหูฟังที่ใหญ่เทอะทะหน่อย แต่แน่นอนว่าได้สเตจกว้างสุดกว่าทุกประเภท แรกๆ ตัวหูฟังนั้นใหญ่และหนักจนส่วนมากจะเอาไว้ฟังที่บ้านกัน แต่หลังๆ จะเห็นว่ามันกลายเป็นแฟชั่น หลายๆ คนก็ใส่ออกมาเดินตามท้องถนนกันเยอะไม่แพ้แบบ on-ear

ยังมีหูฟังรูปร่างอื่นๆ อีกอย่างเช่น Custom IEM (Custom In-Ear Monitor) ที่เป็นหูฟังสั่งทำอีกด้วยแต่ว่าตอนนี้เราจะพูดถึงแค่หูฟังที่หาซื้อสำเร็จได้ทั่วไปก่อนครับ

 

4.ทำความรู้จักกับชนิดของไดรเวอร์

ไดรเวอร์แบบ dynamic

ไดรเวอร์เป็นส่วนที่ให้กำเนิดเสียงที่ใช้ในหูฟังส่วนใหญ่จะเป็นไดรเวอร์แบบที่เรียกว่า dynamic โดยเป็นไดรเวอร์ตัวเดียวแต่สามารถให้กำเนิดเสียงได้ทุกย่านความถี่ คือรับผิดชอบไปตั้งแต่เบส กลาง แหลม

ไดรเวอร์แบบ balanced armature

ซึ่งจะต่างจากไดรเวอร์แบบ balanced armature ที่อยู่ในหูฟังประเภท IEM (In-Ear Monitor) ตรงที่ไดรเวอร์แต่ละตัวจะรับผิดชอบเสียงในย่านต่างๆ โดยแต่ละข้างของหูฟังประเภทนี้ก็จะมีไดรเวอร์อยู่หลายตัวเลยทีเดียว อาจเขียนตามกล่องว่า dual, triple driver ซึ่งก็หมายความว่าหูฟังแต่ละข้างมีไดรเวอร์ 2 และ 3 ตัวอยู่นั่นเอง (มีตั้งแต่ 2-12 ตัว) ก็จะทำให้ผู้ผลิตสามารถนำไดรเวอร์ที่เด่นในย่านต่างๆ มาใส่และการแยกชิ้นเครื่องดนตรีต่างๆ ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างเช่น Westone Am Pro 20 (Dual Driver) และ 30 (Triple Driver)

Westone Am Pro 20

 

5. มีสายหรือไร้สาย? เทคโนโลยีการเชื่อมต่อของหูฟังไร้สาย

ในตลาดหูฟังทั่วไปก็จะมาพร้อมแจ็ค 3.5 ซึ่งใช้งานสะดวก หยิบขึ้นมาเสียบก็พร้อมฟังทันที ข้อดีคือคนยังชอบและเชื่อกันว่าเสียงจากระบบ Analog ที่ผ่านมากับสายสัญญาณนั้นเสียงดีกว่าแบบไร้สาย ก็จะนิยมใช้งานแบบมีสายกันอยู่

LDAC

aptX

แต่สมาร์ทโฟนหลายๆ แบรนด์เริ่มทยอยตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรทิ้งไป ทำให้มีความต้องการหูฟังไร้สายเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น aptX จาก Qualcomm และ LDAC จาก Sony ที่มีความเร็วในการส่งข้อมูลมากขึ้น ทำให้ฟังเพลงความละเอียดสูงขนาดใหญ่ๆ ได้ดีขึ้น หูฟังไร้สายก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนถ้าหากสมาร์ทโฟนไม่มีช่องเสียบหูฟัง หรือถ้าหากไม่ชอบที่จะต้องมานั่งต่อสาย, สายพันกัน, ม้วนเก็บยาก

 

6.ค่า Impedance ของหูฟังที่เหมาะสมกับสมาร์ทโฟน

Beyer Dynamic DT 990 มีรุ่นที่มีความต้านทานสูงถึง 600 โอห์ม

ค่าความต้านทานของตัวหูฟังหรือ Impedence ยิ่งหูฟังมีความต้านทานสูงก็จะต้องใช้กำลังขับจากภาคแอมป์มากขึ้น ความต้านทานไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียง แต่หูฟังระดับ high-end จะใช้ความต้านทานสูงๆเพื่อรองรับอุปกรณ์ที่มีแรงขับสูง ถ้านำหูฟังที่มีความต้านทานต่ำๆ ไปใช้กับแอมป์ที่มีแรงขับสูงอย่างแอมป์ตั้งโต๊ะ อาจเกิดความเสียหายต่อหูฟังได้ หูฟังมีค่าความต้านทานตั้งแต่ประมาณ 8 โอห์มไปจนถึง 600 โอห์ม ซึ่งสำหรับคนที่ต่อตรงหูฟังกับสมาร์ทโฟนแนะนำว่าอย่าใช้หูฟังที่มีความต้านทานเกิน 50 โอห์ม ถ้าเกิดต้องการจะใช้หูฟังที่มีความต้านทานเกินกว่านี้ ควรไปหาซื้อแอมป์หูฟังพกพามาต่อเพื่อเพิ่มกำลังขับ ถ้าหากเครื่องเล่นเรามีกำลังขับไม่พอหูฟังจะฟ้องออกมาด้วยเสียงที่เบา, ไม่ชัด, แตกหรือบางทีอาจจะเสียงเพี้ยนไปเลย

นี่เป็นปัจจัยพื้นๆ ในการเลือกหูฟังมาใช้กับสมาร์ทโฟนได้ง่ายๆ หูฟังที่ดีไม่จำเป็นว่าจะต้องมีราคาแพงเสมอไป แต่เป็นหูฟังที่เราฟังแล้วมีความสุขกับมัน ซึ่งทุกช่วงราคามีหูฟังแทบจะทุกแนวเสียงให้เลือกกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็สามารถเลือกซื้อกันตามงบที่มีอยู่ได้ แล้วเดี๋ยวครั้งหน้าจะมาแนะนำหูฟังดีๆราคาไม่แพงให้ลองพิจารณากัน