เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นเทคโนโลยีการสั่งงานเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ผ่านความคิดกันมาบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นจากในหนังหรือในการ์ตูน (ประมาณว่าใช้แค่ความคิดก็ขยับเคอร์เซอร์เมาส์ หรือพิมพ์ได้โดยไม่ต้องขยับร่างกาย) แต่ใครจะรู้ว่าในปัจจุบันมีการทดลองและทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าวจริง ๆ แล้ว โดยชื่อของมันก็คือ Neurotechnology หรือประสาทเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้บริษัท Neuralink ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับชิป N1 ของ Neuralink ที่สามารถฝังเข้าไปในสมองเพื่อใช้ฟีเจอร์ล้ำ ๆ ต่าง ๆ ได้

Neurotechnology คืออะไร?

ก่อนที่เราจะพูดถึงตัวเทคโนโลยีของ Neuralink นั้น ขอเท้าความถึงการทำงานของสมองมนุษย์กันก่อน โดยตามหลักแล้วสมองของมนุษย์จะประกอบไปด้วยเส้นประสาทต่าง ๆ ที่เรียกว่า Neurons ซึ่งเมื่อสมองทำงานก็จะมีการส่งประจุกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทต่าง ๆ ตามลำดับ เรียกว่า Synapses เพื่อประมวลผลสิ่งที่เรารู้สึกจากประสาทสัมผัสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ การมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การรับรส และการสัมผัส สรุปสั้น ๆ ก็คือ ทุกสิ่งที่เราสัมผัสผ่านทางระบบประสาทนั้นเป็นเพียงแค่กระแสไฟฟ้า (Synapses) ในร่างกายที่ส่งไปหาเส้นประสาท (Neurons) ต่าง ๆ เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถสร้างเทคโนโลยีบางอย่างที่สามารถเลียนแบบการทำงานของกระแสไฟฟ้าเหล่านี้ได้แล้วฝังอุปกรณ์นั้นลงไปในสมอง เราก็จะสามารถหลอกสมองของเราให้รู้รับรู้ถึงสัมผัสต่าง ๆ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมองเห็นหรือได้สัมผัสกับสิ่งนั้น ๆ จริง ๆ ผ่านการจำลอง Synapse หรือประจุไฟฟ้าได้ และนี่ก็คือเทคโนโลยี Neurotechnology นั่นเองครับ

Neuralink คืออะไร?

Neuralink คือบริษัท Start-up สัญชาติอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปี 2016 นำโดยนักวิศกรชื่อดัง Elon Musk เจ้าของบริษัทรถพลังงานไฟฟ้า Tesla โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การพัฒนาเทคโนโลยี ชิปฝังสมอง Neuralink ที่จะทำหน้าที่เป็นเสมือนกับเส้นประสาทในการส่งสัญญาณต่าง ๆ ตรงเข้าสู่สมอง ซึ่งล่าสุดได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตั้งและการถอนชิป ไปจนถึงการใช้งานเบื้องต้นที่จะโฟกัสไปที่การใช้งานทางการแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่ โดย Elon Musk ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ชิปฝังสมอง Neuralink จะสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทได้ ไม่ว่าจะเป็น ตาบอด หูหนวก อัมพาต ไปจนถึงโรคซึมเศร้าอีกด้วย

สรุปชิปฝังสมอง Neuralink เชื่อมต่อสมองได้จริง เล็งใช้รักษาโรค และพัฒนาให้ใช้สมองสั่งงานหรือโหลดความทรงจำได้

 

และถ้าหากในอนาคต Neurotechnology ถูกพัฒนาขึ้นจนสามารถใช้งานได้กับมนุษย์ทั่วไปแล้ว ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดังกล่าวที่บริษัท Neuralink ได้พัฒนาขึ้น จะสามารถนำไปใช้งานในด้านไหนได้บ้าง?

หน้าต่างแสดงผลแบบ AR (Augmented Reality)

Neurotechnology สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Interface แบบ AR (Augmented reality) ที่จะใส่ การแสดงผลต่าง ๆ ทับลงไปในการมองเห็นปกติ คล้าย ๆ กับเราเห็นเมนูต่าง ๆ ลอยอยู่กลางอากาศได้เหมือนกับ Google Glass ที่นำเอาหน้าจอเล็ก ๆ ไปติดไว้ด้านหน้าของเลนส์แว่น หรือพวกข้อมูลอย่างเช่น อัตราการเต้นหัวใจ ข้อมูลของสิ่งรอบตัว ฯลฯ เหมือนกับเหล่า HUD (Head-up display) ที่เราเห็นในเกมแบบ FPS นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ที่เล่นกับเรื่องของโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยการเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิ้ลที่อยู่ที่ท้ายทอยของตัวละคร เพื่อส่งผ่านความรู้สึกนึกคิดของตัวละครสู่ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โดยสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวละครรู้สีกในโลกนั้นล้วนเป็นเพียงกระแสไฟฟ้าที่ส่งเข้ายังในสมองให้รู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้เวลากิน เห็น หรือได้กลิ่นอะไรนั้น จะรู้สึกราวกับว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงนั่นเอง

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อนิเมชั่นญี่ปุ่นเรื่อง Accel World ที่ใช่เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Neurolinker ในการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับชมสื่อบันเทิงต่าง ๆ ไปจนถึงการทำงานในชีวิตประจำวันผ่านการแสดงผลกลางอากาศขึ้นมา นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ให้เราได้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Neuralink ซึ่งคอนเซปต์เหล่านี้อาจจะฟังดูเพ้อเจ้อออกไปทางหนัง Sci-fi ไปซักหน่อย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มากพอ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเป็นความจริงได้

โลกเสมือนจริง (Virtual Reality)

อีกเรื่องที่น่าสนใจของเทคโนโลยี Neuralink นั้นคือ การพัฒนาความสมจริงและความเป็นไปได้ของ VR หรือโลกเสมือนจริง ซึ่งเทคโนโลยี VR ตอนนี้ยังทำได้แค่การมองเห็นผ่านทางเครื่องเล่น VR อย่าง HTC Vive หรือ Oculus rift เท่านั้น แต่หากว่า Neuralink เป็นความจริงเมื่อไหร่ เราก็จะสามารถเข้าสู่โลก VR เหมือนกับว่าเรากำลังฝันอยู่ได้ อ้างอิงจากอนิเมชั่นญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Sword Art Online ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Full-dive อัปโหลดจิตใต้สำนึกตัวเองเข้าไปในโลกเกม MMO-RPG ได้ทำให้เราสามารถเล่นเกมได้ขณะที่นอนหลับอยู่ โดยในโลกนั้นเราจะสามารถมองเห็น ได้กลิ่น สัมผัส และกินอาหารที่อยู่ในโลกนั้นได้ทั้งหมด ผ่านการส่งกระแสไฟฟ้าจากเครื่อง Nerve-gear ที่ใช้คอนเซปต์เดียวกับกับ Neuralink (ใครที่สนใจสามารถหาดูได้ใน Netflix ครับ 🤣)

การใช้งานทางการแพทย์

จากที่ได้มีการเกริ่นเกี่ยวกับการทำงานคร่าว ๆ ของสมองมาแล้วว่า สมองทำงานโดยการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นประสาทไปยังสมองส่วนต่าง ๆ ซึ่งโดยมากแล้วโรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาทจะเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บ หรือการเสื่อมสภาพของเส้นประสาทบางส่วน ทำให้สมองไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทส่วนนั้น ๆ ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการควบคุมสมองส่วนนั้น ๆ ไป

ดังนั้น Neuralink จะมาทำหน้าที่เหมือนเส้นประสาทเส้นใหม่เพื่อมาช่วยในการส่งกระแสไฟฟ้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมอง ทำให้สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคพาคินสัน ตาบอด หูหนวก หรือโรคพิการบางส่วนได้ มากไปกว่านั้น Neuralink ยังสามารถนำมาเป็นทางเลือกในการใช้ควบคุมอวัยวะเทียมต่าง ๆ ได้โดยผ่านการสั่งการทางสมองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น มือ แขน หรือขาหุ่นยนต์ ก็สามารถทำได้ครับ

นอกจากนี้ Neuralink ยังสามารถช่วยสั่งการให้สมองหลั่งฮอร์โมนบางประเภทออกมามากขึ้นเพื่อให้ร่างกายของเรามีสมรรถภาพที่ดีขึ้นตามการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น การนอนหลับ ช่วยให้ตื่นตัว หรือช่วยคลายความเครียดก็สามารถทำได้ อีกทั้งโรคซึมเศร้าที่มีอาการเกี่ยวโยงโดยตรงกับสารเคมีในสมองก็ยังสามารถนำเอาเทคโนโลยีของ Neuralink มาช่วยได้อีกด้วย จึงสรุปได้ว่า Neuralink จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพมากพอที่จะพลิกโฉมวงการแพทย์ผ่านการนำไปใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับสมอง และเส้นประสาทต่าง ๆ นั่นเองครับ

Bandwidth หรือความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลจากสมอง

สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ ๆ ของการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ คือเรื่องของ Bandwidth (ความเร็วในการรับส่งข้อมูล) ไม่จะเป็นการนำข้อมูลออกจากสมองหรือเข้าสู่สมองนั้นล้วนใช้ทั้งเวลาและพลังงานสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น การพิมพ์งานบางอย่างที่ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์และเรียบเรียงจนกว่าจะเป็นรูปร่างก่อนที่จะสั่งให้สมองขยับนิ้วเพื่อพิมพ์ข้อมูลเหล่านั้นออกมา หรือเราอยากจะเรียนอะไรซักอย่าง เราก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรืออาจนานเป็นปี เพื่อที่เราจะเข้าใจเรื่องนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ได้

Neuralink จะเข้ามาตัดตัวกลางในการส่งข้อมูลเพื่อที่เราจะสามารถรับ-ส่งข้อมูลโดยตรงจากอุปกรณ์สู่สมอง หรือสมองสู่อุปกรณ์ได้ ทำให้เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องใช้มือ หรือจะอัปโหลดข้อมูล และความรู้ต่าง ๆ ลงสมองได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลานั่งอ่านและทำความเข้าใจเลยอีกด้วย (น่าจะมีประโยชน์ช่วงสอบแน่นอน) ตัวอย่างการใช้งานที่น่าสนใจคือ สมมติว่าเราจะไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่เราไม่เชี่ยวชาญเส้นทาง เราสามารถใช้งาน Neurolink เพื่อส่งข้อมูลที่สแกนมาจากสมองคนท้องถิ่นที่คุ้นชินกับเส้นทางมาก่อนแล้ว ทำให้เราสามารถเที่ยวญี่ปุ่นได้โดยที่ไม่ต้องดูแผนที่ได้เลยล่ะครับ 😁 โดยแนวคิดนี้ได้ถูกยืนยันโดย Elon Musk ในงานไลฟ์อัปเดตของ Neuralink ว่า ชิปฝังสมองจะสามารถบันทึกความทรงจำบางอย่างและสามารถให้เรารีเพลย์ความทรงจำเหล่านั้นอีกรอบได้

ความเป็นไปได้ของ Neuralink

เทคโนโลยี Neuralink นั้นมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงมาก เพราะล่าสุด Elon Musk ก็ได้ออกมาอัปเดตข้อมูลเล็กน้อยเกี่ยวกับบริษัท Neuralink ที่ได้ค้นคว้าและพยายามพัฒนาระบบชิปฝังสมองมาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงตอนนี้ที่กำลังทดลองตัวเทคโนโลยีกับสัตว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่นานก็จะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่ออีกด้วย

สำหรับใครที่กลัวว่า ต้องผ่าสมองแล้วใส่ CPU อันใหญ่ ๆ เข้าไป ก็ไม่ต้องตกใจไปครับ เพราะชิป N1 ของ Neuralink นั้นมีขนาดเพียง 4 x 4 มิลลิเมตร และสามารถใส่ได้สูงสุดถึง 10 ตัวขึ้นไปในส่วนต่าง ๆ ของสมอง ผ่านการผ่าตัดที่ควบคุมโดยเครื่องจักรทั้งสิ้น คล้ายกับการทำเลสิกนั่นเอง ซึ่งกระบวนการในการฝังชิปนั้นแทบจะไม่ควรเรียกว่าการผ่าตัดเลยด้วยซ้ำ เพราะชิปแต่ละตัวนั้นจะถูกใส่ผ่านรอยผ่าขนาดเพียง 8 มิลลิเมตรเท่านั้น และทุกอย่างจะถูกส่งมาที่ตัวควบคุมที่บริเวณหลังหู เชื่อมต่อโดยตรงสู่มือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ของคุณ

ซึ่ง Elon Musk ได้ให้ข้อมูลอีกเล็กน้อยว่า เทคโนโลยี Neuralink สามารถสตรีมเพลงเข้าสมองโดยตรงได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหูฟังเลย แค่เปิดเพลงจากแอปอย่าง Spotify ปุ๊บ เสียงเพลงก็จะดังอยู่ในหัวของเราทันที

แต่กว่า Neuralink จะสามารถนำมาใช้งานจริง ๆ ได้ก็ต้องผ่านการทดสอบอันยาวเหยียดจาก FDA (คณะกรรมการอาหาร และยา) ก่อน ซึ่งตอนนี้ได้มีการอนุญาตให้ทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคพาร์คินสันแล้ว เอาเป็นว่าจนกว่าจะถึงตอนนั้นเราก็คงต้องฟังเพลงผ่านทางหูฟังหรือเล่นเกม VR จากอุปกรณ์ในยุคปัจจุบันกันไปก่อน แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง Neuralink จะถือเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการเทคโนโลยีอย่างแน่นอนครับ

 

Source: Independent, Aperture, Neuralink