ใกล้สงกรานต์เข้ามาทุกที หลาย ๆ คนก็คงไม่พลาดที่จะนำมือถือคู่ใจของตัวเองไปออกทริปเล่นสาดน้ำกัน บางครั้งถึงแม้ว่าเราจะปกป้องเครื่องของเราดีแค่ไหนก็ตาม ก็อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นซึ่งปัญหาที่พบกันได้บ่อย ๆ ในช่วงนี้ก็คือ น้ำเข้ามือถือ นั่นเอง หากใครที่กำลังประสบปัญหาที่ว่านี้อยู่ก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเรามีวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหาก มือถือตกน้ำ มือถือโดนน้ำ มาฝากกัน

มือถือทนน้ำ ทนได้แค่ไหน?

หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่าสมาร์ทโฟนที่เคลมว่ากันน้ำ กันฝุ่นมาตรฐาน IPX ต่าง ๆ จะสามารถกันน้ำเข้าได้แบบ 100% แต่จริง ๆ แล้วมาตรฐานนี้มีไว้เพื่อบอกว่าตัวมือถือทนต่อของเหลวได้นานเท่าไหร่ก่อนจะรั่วไหลเข้าสู่ตัวเครื่อง ซึ่งวิธีการดูว่ามือถือตัวเองทนน้ำได้แค่ไหนให้สังเกตจากเลข IP Code ตัวท้ายสุด ซึ่งมาตรฐานกันน้ำจะมีทั้งหมด 11 ระดับ โดยสามารถอ้างอิงได้จากตารางด้านล่างนี้

ระดับคำอธิบาย
0ไม่ทนน้ำเลย
1ทนหยดน้ำในแนวตั้ง
2ทนหยดน้ำในแนวเฉียง 15 องศา
3ทนละอองน้ำในแนวเฉียง 60 องศา
4ทนละอองน้ำรอบทิศทาง
5ทนแรงฉีดน้ำรอบทิศทาง
6ทนแรงฉีดน้ำแบบรุนแรงรอบทิศทาง
6Kทนแรงฉีดน้ำแรงดันสูงรอบทิศทาง
7ทนน้ำลึก 1 เมตร นาน 30 นาที
8ทนน้ำได้ลึกกว่า 1 เมตร
(มาตรฐานตามที่ละแบรนด์กำหนด)
9Kทนแรงดันน้ำสูงพิเศษ ที่อุณหภูมิน้ำสูงสุด 80 °C

มาทำความรู้จัก IP Code มาตรฐานกันน้ำและกันฝุ่นในสมาร์ทโฟนกัน

เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ามือถือของเราจะสามารถกันน้ำได้ แต่ก็ไม่ใส่ว่าจะนำมือถือไปโยนลงน้ำ หรือชะล่าใจให้มือถือโดนน้ำสาดตรง ๆ เพื่อความปลอดภัยของมือถือที่เรารัก แต่กรณีที่มือถือโดนน้ำไปแล้วเต็ม ๆ ก็ไม่ต้องตกใจ ทำตามวิธีด้านล่างได้เลย

วิธีแก้ไขเบื้องต้นเมื่อโทรศัพท์โดนน้ำ

มือถือกันน้ำ (มาตรฐาน IPX7 ขึ้นไป)

Play video

ตัวอย่างคลื่นเสียงที่ช่วยไล่น้ำออกจากลำโพง

หากมั่นใจว่าน้ำที่โดนมือถือเป็นน้ำสะอาด ให้ทำการเคาะตัวเครื่องเบา ๆ ให้น้ำตามช่องพอร์ต และรูลำโพงออกมา สามารถเปิดเสียงคลื่นความถี่ต่ำเพื่อไล่น้ำออกจากลำโพงร่วมด้วยก็ได้ หลังจากนั้นให้ทำการผึ่งไว้จนกว่าพอร์ตชาร์จจะแห้ง ห้ามทำการชาร์จตัวเครื่องในขณะที่พอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ยังมีความชื้นอยู่ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อตได้ เมื่อตัวเครื่องแห้งสนิทก็นำกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

มือถือไม่กันน้ำ หรือน้ำเข้าตัวเครื่อง

มือถือตกน้ำ / โดนน้ำ

  1. ปิดเครื่องโดยทันที และพยายามอย่ากดปุ่มบนตัวเครื่องใด ๆ ทั้งสิ้น
  2. หากมือถือที่ใช้อยู่รับรองมาตรฐานกันน้ำ แนะนำให้ล้างในน้ำสะอาดที่ใส่อยู่ในภาชนะนิ่ง ๆ ก่อน
    ข้อควรระวัง! : ห้ามเปิดเท หรือเปิดก๊อกน้ำให้ไหลผ่านตัวเครื่อง เพราะแรงดันน้ำอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ของเหลวไหลเข้าสู่ตัวเครื่องได้
  3. นำถาดซิมการ์ด หรือส่วนประกอบอื่นๆ ที่สามารถถอดได้ด้วยตนเอง ออกจากตัวเครื่อง
  4. เช็ดตัวเครื่องให้แห้งสนิทด้วยผ้าสะอาดที่ไม่มีขุย
  5. เคาะตัวเครื่องเบา ๆ ให้น้ำที่ขังอยู่ในพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ไหลออกมา
    ข้อควรระวัง! : เคาะอย่างเบามือเท่านั้น เพราะหากเคาะแรงเกินไปอาจทำให้ของเหลวกระจายตัวเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของตัวเครื่องได้
  6. ผึ่งตัวเครื่องให้แห้ง ขั้นตอนนี้อาจจะใช้พัดลมช่วย หรือใช้สเปรย์เป่าลม เป่าตามจุดต่าง ๆ เพื่อไล่น้ำออกมาก็ได้ (ถ้ามี)
  7. หากที่มีสารดูดความชื้นจำพวกซิลิกาเจล สามารถนำมาช่วยดูดความชื้นจากมือถือได้ เพียงแค่นำมาใส่ถุงซิปล็อก บรรจุตัวเครื่องลงไป จากนั้นปิดให้สนิท
  8. ทิ้งตัวเครื่องให้แห้งสนิทประมาณ 2 – 4 วัน จากนั้นถ้ามั่นใจแล้วว่าแห้งจริงก็สามารถเปิดเครื่องเพื่อตรวจสอบได้ทันที

ทั้งนี้ถึงแม้ว่ามือถือจะปลอดภัยจากน้ำแล้ว อยากแนะนำส่งตัวเครื่องให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือศูนย์บริการแกะเครื่องเพื่อตรวจเช็ก และทำความสะอาดด้านในอีกที เพื่อป้องกันไม่ให้คราบน้ำต่าง ๆ เกาะบนแผงวงจรจนเกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องนั่นเอง

สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดหาก โทรศัพท์โดนน้ำ

มือถือตกน้ำ / โดนน้ำ

  • หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องในขณะที่ตัวเครื่องยังไม่แห้งสนิท
  • ห้ามชาร์จตัวเครื่องโดยเด็ดขาด! ไม่ว่าจะชาร์ตผ่านสาย หรือชาร์จไร้สาย
  • หลีกเลี่ยงการกดปุ่มต่าง ๆ บนตัวเครื่อง เพื่อไม่ให้น้ำกระจายเข้าตัวเครื่องผ่านช่องต่าง ๆ
  • ไม่ควรนำมือถือไปตากแดดจัด ๆ หรือทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนสูง เพราะความร้อนอาจทำให้วงจรภายในเสียหายได้
  • ห้ามนำไดร์เป่าผมร้อน ๆ เป่าไปที่ตัวเครื่อง เพราะความร้อนอาจทำให้ จอแสดงผล และซีลยางต่าง ๆ รอบตัวเครื่องเสียหาย

หากทำตามขั้นตอนทั้งหมดนี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ ขอแนะนำให้นำมือถือเข้าศูนย์บริการ หรือช่างผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้านเพื่อเข้ารับการแก้ไขปัญหา แต่ทั้งนี้วิธีแก้ไขที่เราแนะนำเป็นเพียงวิธีแก้ไขเฉพาะหน้าเมื่อมือถือโดนน้ำจืดเท่านั้น หากโดนน้ำทะเลให้รีบล้างตัวเครื่องด้วยน้ำสะอาด และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญแกะเครื่องโดยด่วน เพราะน้ำเค็มมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงซึ่งอาจทำอันตรายต่อมือถือที่เรารักได้

ที่มา:  The Conversation