คอมพิวเตอร์เก่า ๆ จำนวนนับไม่ถ้วนที่ต้องถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ยังไม่พัง เพียงเพราะเครื่องทำงานได้ช้าลงหรือไม่ได้รับการอัปเดตระบบปฏิบัติการจนส่งผลต่อการใช้งาน Google จึงได้ออกระบบปฏิบัติการ Chrome OS Flex มาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ให้ผู้ใช้งานสามารถคืนชีพ PC และ Mac ตกรุ่นกลับมาอีกครั้งในคราบของ Chrome OS

Chrome OS Flex คืออะไร

เดิมที Chrome OS Flex คือ ระบบปฏิบัติการ CloudReady ที่พัฒนาโดยบริษัท Neverware ไส้ในมีพื้นฐานมาจาก Chromium OS เฉกเช่นเดียวกับ Chrome OS ซึ่ง Google ได้เข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2563 และล่าสุดได้ทำการเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิมคือ หวังต่ออายุให้กับคอมพิวเตอร์เก่า ๆ ด้วยระบบปฏิบัติการที่เบา ไม่กินทรัพยากร และที่สำคัญคือ สามารถติดตั้งง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยเน้นไปที่ภาคการศึกษาและองค์กร

Chrome OS Flex จะรองรับฟังก์ชันหลัก ๆ และใช้งานได้แบบเดียวกับ Chrome OS แทบทุกประการ หน้าตาอินเทอร์เฟซก็เหมือนกันเป๊ะ มี Google Assistant และซิงก์กับ Android ได้ด้วยหากล็อดอินด้วยบัญชีเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีรอบเวลาปล่อยอัปเดตพร้อมกัน ไม่ต้องห่วงจะไม่ได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้มันทำงานได้เร็วเป็นเพราะระบบปฏิบัติการนี้ทำงานโดยการประมวลผลจากคลาวด์เป็นหลัก ดังนั้นต่อให้ฮาร์ดแวร์จะล้าหลังหรือไม่ได้ทรงพลังอะไรมากก็ยังใช้งานได้ราบรื่น

Chrome OS Flex แตกต่างจาก Chrome OS ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม Chrome OS Flex มีข้อแตกต่างกับ Chrome OS อยู่บ้าง ดังนี้

  • อุปกรณ์ Chrome OS เช่น Chromebook และ Chromebox จะมีชิป H1 เป็นชิปความปลอดภัยแยกที่ใช้ตรวจสอบและยืนยันความน่าเชื่อถือของฮาร์ดแวร์ แต่คอมทั่วไปที่ลง Chrome OS Flex จะไม่มีชิปตัวนี้ จึงไม่รองรับฟังก์ชัน Verified Boot
  • แม้ Chrome OS Flex จะทำการเข้ารหัสข้อมูลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่คอมทุกเครื่องจะมี Trusted Platform Module สำหรับปกป้องกุญแจถอดรหัสในระดับฮาร์ดแวร์ หากเกิดเหตุที่ถูกแฮกเกอร์โจมตีขึ้นมาจริง ๆ ความปลอดภัยจะต่ำกว่าเครื่องที่มี TPM หรือเป็นอุปกรณ์ Chrome OS แท้ ๆ
  • Chrome OS Flex ไม่มี Google Play และไม่สามารถใช้งานแอป Android ได้ด้วย 😭
  • รองรับการรันแอป Linux เฉพาะบางรุ่น

Chrome OS Flex ติดตั้งยังไง

ตอนนี้ Chrome OS Flex สามารถรันได้บนซีพียู Intel และ AMD แต่ยังไม่รองรับซีพียูสถาปัตยกรรม ARM และเนื่องจากยังอยู่ในสถานะ Early access จึงยังมีบักประปรายเป็นธรรมดา รวมถึงบางฟักง์ชันจะใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ไดรฟ์อ่านแผ่นซีดี เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ กล้องอินฟราเรดสำหรับสแกนใบหน้า และปากกาสไตลัส แต่ถ้าใครอยากลอง…ก็จัดไปโลด

ตรวจสอบความเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการ

  • ดูรายชื่อคอมหรือแล็ปท็อปที่รองรับ Chrome OS Flex จากบนเว็บไซต์ก่อน แม้ Google จะระบุว่า อุปกรณ์ที่ไม่อยู่ในรายชื่อ มีแนวโน้มจะติดตั้งได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่รับรองประสิทธิภาพและปัญหาจุกจิกที่อาจรบกวนการใช้งาน
  • เตรียมแฟลชไดรฟ์ความจุ 8GB ขึ้นไปสำหรับใส่ไฟล์อิมเมจ (อย่าลืมฟอร์แมตข้อมูลก่อนนะ)

เตรียมไฟล์อิมเมจในแฟลชไดรฟ์

  • ติดตั้งส่วนขยาย Chromebook Recovery Utility ในเบราว์เซอร์ Chrome เสร็จแล้วให้คลิกซ้ายที่ส่วนขยายเพื่อเปิดป็อปอัปขึ้นมา
  • กดปุ่ม Get started
  • ไปที่ Select a model from a list

  • เลื่อนหาชื่อ Chrome OS Flex ในรายการช่องบน ส่วนช่องล่างให้เลือก Chrome OS Flex (Developer-Unstable)

  • เสียบแฟลชไดรฟ์ในช่อง USB แล้วกดปุ่ม Continue
    – มีรายงานว่า แฟลชไดรฟ์ SanDisk บางรุ่นใช้งานไม่ได้ หากเสียบแล้วไม่ตอบสนองให้ลองเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นดู
  • กดปุ่ม Create now โดยขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาราว 10 ถึง 30 นาที ขึ้นอยู่กับความเร็วเน็ตและความเร็วแฟลชไดรฟ์
  • ระวัง ! หลังจากดาวน์โหลดเสร็จเรียบร้อย ระบบอาจขึ้นข้อความให้ฟอร์แมตแฟลชไดรฟ์ ไม่ต้องไปสนใจ กด Cancel แล้วปิดทิ้งไปได้เลย ส่วนแฟลชไดรฟ์ เสียบคาไว้ ไม่ต้องเอาออก

เข้าสู่ BIOS เพื่อบูต Chrome OS Flex

  • ชัตดาวน์เพื่อปิดเครื่องตามปกติ
  • เปิดเครื่องขึ้นมาใหม่แล้วเข้าสู่หน้า BIOS โดยในแต่ละรุ่นจะใช้วิธีไม่เหมือนกัน ดังนี้
    – Acer : กด F2
    – Apple : กด Option ค้าง (ถัดจากปุ่ม ⌘)
    – ASUS : กด Del
    – Dell : กด F12
    – Gateway : กด F1
    – HP : กด F9
    – Intel : กด F2
    – Lenovo : กด F12
    – Toshiba : กด F2 หรือ F12
    – อื่น ๆ : กด Esc, Enter หรือปุ่มใดปุ่มหนึ่งระหว่าง F1 ถึง F12
  • เมื่อเขามาหน้า BIOS ได้แล้ว ตรงนี้อินเทอร์เฟซของแต่ละยี่ห้อและชื่อเมนูจะแตกต่างกัน ให้ลองมองหาเมนู Boot menu หรือชื่ออื่น ๆ ที่ใกล้เคียง
  • เลือกบูตเข้าระบบจากแฟลชไดรฟ์แทนของเก่าที่เป็น HDD หรือ SSD

เลือกได้ว่า จะติดตั้ง Chrome OS Flex ทับไปเลย หรือแค่ลองใช้งานเฉย ๆ

  • หากเพื่อน ๆ ทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ตอนนี้เครื่องจะบูตขึ้นมาเป็น Chrome OS Flex แล้ว (แต่ข้างในยังเขียนว่า CloudReady 2.0 อยู่นะ ฮ่า ๆ)
  • กด Get started ได้เลย
  • มาถึงตรงนี้ ระบบจะให้เราเลือกว่า ต้องการติดตั้ง Chrome OS Flex ทับระบบปฏิบัติการเดิมไปเลยมั้ย ถ้าต้องการก็กด Install ไปได้เลย แต่ถ้าอยากลองใช้เฉย ๆ ยังไม่ตัดสินใจก็กด Try it first พอ (แนะนำอย่างหลังดีกว่า ตอนนี้ยังไม่เสถียร)
  • จากนั้นจะเข้าสู่หน้าการตั้งค่าพื้นฐาน เพียงเท่านี้เพื่อน ๆ ก็สามารถใช้งาน Chrome OS Flex กันได้แล้วครับ

เมื่อตั้งค่าเบื้องต้นอะไรเสร็จเรียบร้อยหมดแล้วจะเข้ามาสู่เดสก์ท็อปของ Chrome OS Flex โดยจะเห็นได้ว่า มันเหมือนกับ Chrome OS ทุกกระเบียดนิ้วเลย เว้นเสียแต่ว่า…ไม่มี Play Store ตามที่แจ้งไว้แล้วด้านบน

จากที่ทดสอบใช้งานในเบื้องต้น Chrome OS Flex ตอบสนองได้ค่อนข้างเร็วตามที่เคลมจริง ๆ ต่อให้เป็นการบูตผ่านแฟลชไดรฟ์ก็ตาม ท่องเว็บ เช็กอีเมล ทำงานเอกสาร สบายบรื๋อเลย

อนึ่ง Google บอกว่า Chrome OS Flex เวอร์ชันสเถียรจะปล่อยออกมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนผู้ใช้งาน CloudReady สามารถอัปเกรดมาเป็น Chrome OS Flex ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติม : Chrome OS Flex