ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วล่ะ ว่ากระแส e-Sports กำลังมาแรงจริงๆ รวมถึงในบ้านเราด้วยเช่นกัน เพราะตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีหลายๆ ฝ่าย ที่เริ่มตื่นตัวหันมาสนับสนุนวงการ e-Sports กันมากขึ้น แบรนด์ดังๆก็ลงมาสนับสนุนทีมกันให้เพียบเช่น Toyota, Buriram United ทำให้มีเหล่าเด็กๆ มากมายที่อยากจะผันตัวไปเป็นนักกีฬา eSports กับเค้าบ้าง ผู้ปกครองหลายๆ คนที่ยังไม่เข้าใจในวงการเกมเกิดอาการหนักใจไปตามๆ กันว่าสุดท้ายแล้วลูกเราจะได้เป็นโปรเกมเมอร์ หรือจะเป็นแค่เด็กติดเกมกันแน่

อย่างไรก็ดีการที่เราจะห้ามเด็กเพียงอย่างเดียว มันจะกลายเป็นการผลักให้เด็กไปไกลจากตัวเรามากขึ้น การทำความเข้าใจหรือจะลองเสี่ยงดูซักตั้งว่า…ไม่แน่ลูกเราอาจจะมีพรสวรรค์ในด้านนี้จริงๆ ก็ลองนั่งคุยกับเค้าดูว่า การจะเป็นโปรเกมเมอร์หรือนักกีฬา eSports มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนการเล่นเกมทั่วไป และลองเอาคำถามพวกนี้ไปถามเค้าดู ว่าเค้ามีคำตอบแบบไหนอยู่ในหัว ถ้าตอบอะไรไม่ได้เลยพวกเค้าอาจจะแค่ติดเกม ตามกระแส eSports เพื่ออ้างเท่านั้น แต่ถ้าเค้าตอบได้อย่างฉะฉาน ดูเอาจริงเอาจัง การสนับสนุนอย่างถูกทางก็อาจจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่าก็เป็นได้นะ

 

แข่งขัน eSports รายการไหน เงินรางวัลเท่าไหร่?

เริ่มกันตั้งแต่ยุคที่เกม Multiplayer แพร่หลายไปทั่วโลก อย่างยุคแรกๆ ก็มีทั้ง Counter Strike, StarCraft, Warcraft ฯลฯ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นยุคที่ร้านคอมในบ้านเรากำลังบูมด้วยเช่นกัน และถ้าหากใครมีร้านประจำก็จะสังเกตได้ว่ามันมีกลุ่มเด็กติดเกมที่มักจะสิงสถิตอยู่ในร้านคอมนั่นแหละ (ผมก็เคยมีเพื่อนติดเกมที่ไปกินนอนอยู่ในร้านเกมจนโดนมหา’ลัยไทร์ออกมา) ซึ่งพวกนี้มักจะเล่นเกมอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ส่วนมากก็ไม่ได้มีฝีมือที่เก่งกาจอะไรนัก เล่นเพราะว่าสนุกเท่านั้นเอง และอีกอย่างในช่วงนั้นผู้ใหญ่หลายๆ คนก็ยังคงมีความคิดอคติที่ว่า เกม = ไร้สาระ กันอยู่ ถึงแม้ว่าต่างประเทศเค้าจะจัดการแข่งขันกันแบบยิ่งใหญ่ชิงเงินรางวัลเป็นล้านๆ บาท มานานแล้ว แต่ในบ้านเราการแข่งขันเกมชิงเงินรางวัลนี่แทบจะนับได้เลยว่าปีๆ นึง มีไม่ถึง 5 งาน อย่างผมก็เคยคิดจะไปแข่งเกม StarCraft 2 ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นเป็นร้านคอมชื่อดังร้านนึงเป็นคนจัดงานนี้ขึ้นมา แต่เงินรางวัลชนะเลิศอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แถมเสียค่าสมัครอีก…ก็เลย…ช่างมันเถอะ

การแข่งขัน eSports ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ และมีเงินรางวัลไม่แพ้การแข่งขันกีฬาอื่นๆ

แต่เมื่อประมาณปีสองปีที่ผ่านมาดูเหมือนบ้านเราจะเริ่มตื่นตัวในเรื่อง eSports กันมากขึ้น สังเกตได้จากที่มีการจัดการแข่งขันหลากหลายเกม และมีเงินรางวัลที่มากขึ้นไปจนถึงหลักล้าน และถ้าสามารถฝ่าฟันไปจนถึงการแข่งขันระดับโลกได้ เงินรางวัลก็จะพุ่งขึ้นไปเป็นหลักสิบล้านเลยทีเดียว ซึ่งการแข่งขันเหล่านี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เกมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่มีทั้งเกม Console หรือแม้กระทั่งเกมมือถือ (ที่ไม่เคยคิดเลยว่าแค่เกมมือถือ มันจะมีการแข่งขันเป็นจริงเป็นจังได้ขนาดนี้)

การแข่งขันเกมมือถือชื่อดัง Vainglory

การแข่งขันเกม ROV ในบ้านเรา ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ซึ่งตอนนี้ในบ้านเราก็เริ่มมีนักเล่นเกมมืออาชีพเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมันสามารถยึดเป็นอาชีพได้แล้ว เพราะตามทีมใหญ่ๆ ก็จะมีทั้งเงินเดือน + สวัสดิการ และเงินรางวัลจากการแข่งขันตามรายการต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ โดยในปีๆ นึงสามารถทำเงินได้เป็นล้านบาทต่อคนเลยทีเดียว ทำให้ตอนนี้เด็กหลายๆ คนเริ่มมีข้ออ้างในการขอเงินพ่อแม่ออกไปเล่นเกมขึ้นมาอีกอย่าง…ซึ่งจริงๆ แล้ว การจะเป็นโปรเกมเมอร์มันไม่ใช่แค่นั่งเล่นเกมกับเพื่อนวันละหลายๆ ชั่วโมงเท่านั้น แต่มันแทบจะไม่ต่างกับการเป็นนักกีฬามืออาชีพเลย เพราะมันต้องมีการฝึกฝน มีโค้ช มีระเบียบวินัยในตัวเองอีกด้วย

เงินรางวัลการแข่งขันเกม DOTA 2 ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2018 สูงสุดถึง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 800 ล้านกว่าบาท

ซึ่งหากสมมุติว่าเรามีความสามารถพอจนได้เข้าร่วมทีมใดทีมนึงแล้ว เราจะสามารถเข้าไปร่วมแข่งขันใน Match ระดับโลกได้เลยนะ แต่เราต้องผ่าน Match เล็กๆ ในประเทศไต่เต้าอันดับขึ้นไปเรื่อยๆ ซะก่อน (สำหรับบางเกมที่บ้านเราก็ได้รับความนิยมด้วย) แต่สำหรับบางเกมที่ไม่ได้มีการจัดทีมในบ้านเรา ก็ต้องเข้าไปเล่นออนไลน์แบบ Ladder ไต่อันดับ และถ้าเราฝีมือดีจริงๆ ก็จะมีการเชิญให้ไปแข่งตาม League ต่างๆ เองเลยล่ะ (ซึ่งตรงส่วนนี้ เรื่องภาษาอังกฤษก็จะมีส่วนสำคัญมากๆๆๆๆ เลยด้วย)

กล่าวคือ เด็กที่อ้างเรื่องการเป็นนักกีฬา e-Sport เค้าควรจะต้องรู้ถึงเป้าหมายที่ชัดเจนของเค้าก่อน ถ้าเค้ารู้ว่าการเล่นเกมของเค้านั้นมีการจัดแข่งเมื่อไหร่ มีเงินรางวัลเท่าใดแล้วนั้น ก็แสดงว่าเค้าทำการบ้านเรื่องนั้นมาจริงๆ

 

มีตารางศึกษาและฝึกซ้อมเป็นอย่างไร?

เด็กๆ ทั้งวัยรุ่นหรือแม้กระทั่งวัยทำงานแล้ว อาจจะคิดว่าการเป็นโปรเกมเมอร์มันง่าย แถมไม่เครียด เพราะได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งก็คือการเล่นเกม…แต่จริงๆ แล้ว การเป็นโปรเกมเมอร์มันไม่ได้สนุกอย่างการเล่นเกมปกติ เพราะแน่นอนว่าพวกนี้เล่นเกมเพื่อ “เอาชนะ” ฝ่ายตรงข้าม การแพ้ในแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ เออ…แพ้แล้ว ไว้ค่อยเล่นใหม่ก็ได้ แต่การแพ้ใน Match ระดับใหญ่ๆ จะทำให้อันดับของผู้เล่นหรือทีม ร่วงลงมา และแย่สุดคือการตกรอบแรกๆ โดยไม่ได้รางวัลติดไม้ติดมือไปเลย และนั่นเป็นสาเหตุที่เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายต้องฝึกซ้อมกันทุกวัน เป็นเวลาอย่างต่ำๆ 6 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

ยิ่งถ้าเป็นโปรเกมเมอร์อยู่ในทีมหรือสโมสร ก็ต้องไปรวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อนั่งเล่นเกมด้วยกัน ช่วยกันวางแผน, คิดแผนใหม่ๆ, ศึกษาการเล่นของทีมคู่แข่งจาก Match ที่ผ่านมา, ฟังคำแนะนำจากโค้ช ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องใช้วินัยในตัวเองเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ว่าเล่นแล้วแพ้ หงุดหงิด หรือเบื่อๆ เมื่อไหร่ก็เลิกเล่น แล้วไปทำอย่างอื่นต่อ ซึ่งตรงนี้แหละที่แยกความแตกต่างของ คนชอบเล่นเกม กับ นักเล่นเกมมืออาชีพ ออกจากกัน

ตัวอย่างตารางการฝึกซ้อมของผู้เล่นเกม StarCraft ระดับโปรคนนึง จะเห็นว่าการเล่นเกมไม่ใช่สิ่งที่ใช้เวลาเป็นหลัก แต่ต้องมีเรื่องอื่นด้วย

แต่ถ้าหากว่าคนที่ยังเป็นเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาอยู่ ตรงนี้ก็จะยากขึ้นมาแล้วล่ะ เพราะเค้าจะมีเวลาการฝึกซ้อมที่น้อยกว่าคนที่เรียนจบแล้ว เนื่องจากการเรียนก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับ 1 อยู่ ถ้าหากเค้าเอาแต่ฝึกเล่นเกมจนมีฝีมือขึ้นมาระดับนึงแล้ว แต่ผลการเรียนกลับแย่ลงเรื่อยๆ รับรองได้ว่า 100 ทั้ง 100 คนที่เป็นผู้ปกครองจะต้องปรี๊ดแตก และห้ามลูกแตะเกมจนกว่าจะเรียนดีขึ้นแน่นอน อย่างน้อยเราก็ต้องคุยกับเค้าในเรื่องของตารางเวลาในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ว่าควรจะแบ่งเวลาเรียนเป็นช่วงไหนบ้าง เวลาฝึกซ้อมเกมช่วงไหนบ้าง และวิธีที่ดีเห็นหลายบ้านใช้กันแล้วได้ผลมากก็คือสร้างเงื่อนไขด้านผลการเรียนมา ว่าถ้าได้เท่านั้นเท่านี้ พ่อแม่จะไม่ยุ่งเรื่องการเล่นเกม หรืออยากจะแข่งอะไรก็ไม่ว่า ซึ่งเด็กส่วนมากก็จะเข้าใจและยอมรับกับเงื่อนไขเหล่านี้

 

ออกกำลังกายอะไรอีกบ้าง?

แน่นอนว่าการเล่นเกมนานๆ มันไม่ใช่เรื่องดีสำหรับร่างกาย ก็จะต้องมีการแบ่งเวลาเพื่อออกกำลังกายจริงๆ เพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสาย เพราะการนั่งเล่นเกมเป็นเวลานานติดต่อกันทั้งวัน และหลายๆ วัน มันจะเสียงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคหรืออื่นๆ ได้ง่ายมาก ซึ่งเรื่องพวกนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเล่นเกมมากเลยทีเดียว (รวมถึงชีวิตประจำวันด้วย) เพราะแบบนี้ สโมสร eSports ชั้นนำ ก็จะต้องแบ่งเวลาเอาไว้สำหรับการออกกำลังเพื่อฟิตซ้อมความพร้อมของร่างกาย และหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การว่ายน้ำ และพวกการออกกำลังกายสำหรับเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ รวมถึงอาหารการกินก็ต้องมีการวางแผนให้ดี เพราะหากว่าเหล่านักกีฬา eSports เล่นเกมไปกินอาหารไร้ประโยชน์ไป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าน้ำหนักจะพุ่งพรวดๆ ในเวลาไม่นาน และสุขภาพก็จะย่ำแย่ลง ทำให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมลดลงด้วย

เหล่านักกีฬา eSports เกม Overwatch ที่ต้องออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพไปด้วย (ภาพจาก OverwatchLeague)

และนอกจากการออกกำลังกายแล้ว บางทีมยังต้องมีการทำสมาธิระหว่างวัน เพื่อผ่อนคลายความเครียด และสร้างสมาธิให้แข็งแกร่ง ไม่สติแตกเมื่อเจอสถานการณ์กดดัน และมีความเยือกเย็นในการตัดสินใจใช้แผนต่างๆ ในการจัดการคู่ต่อสู้อีกด้วย

 

จะแบ่งเวลาให้คนใกล้ตัว และครอบครัวอย่างไร

ตามที่บอกไปแล้วว่าการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมเข้าร่วมการแข่งขันใหญ่ๆ ส่วนมากจะต้องมีการรวมตัวเพื่อฝึกซ้อมกันเป็นเดือน แทบไม่ต่างจากการเก็บตัวของนักกีฬาจริงๆ เลย ซึ่งนักกีฬา eSports หลายๆ คนทั้งในบ้านเราและของต่างประเทศ จะแทบไม่มีเวลาส่วนตัวเลย เวลาต้องรวมตัวฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน เพราะเวลาในแต่ละวันก็จะหมดไปกับการฝึกซ้อมเล่นเกม ออกกำลังกาย ประชุมวางแผน ศึกษาวิดีโอจาก Match ที่ผ่านมา ฯลฯ ซึ่งบางคนอาจจะมีปัญหากับเพื่อนๆ ที่ไม่ใช่นักกีฬาด้วยกัน หรือแย่หนักก็คือมีปัญหากับแฟนได้เลยทีเดียวเชียว

นักกีฬา eSports เกม Call of Duty ที่ตัดสินใจบอกเลิกกับแฟนสาวนักข่าวสุดฮ็อต เพราะต้องการทุ่มเทให้กับ eSports (ภาพจาก NYPost)

แน่นอนว่าการหมกตัวเอาแต่ฝึกซ้อมเล่นเกมแบบไม่ออกไปพบปะผู้คนเลย มันอาจจะทำให้สุขภาพจิตของตัวเด็กย่ำแย่ รวมถึงสังคมรอบตัวทั้งคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ก็อาจจะทะยอยหายไปจากชีวิตของเค้าเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ควรจะแบ่งเวลาออกไปเจอกับสังคมภายนอกบ้าง อย่างน้อยก็ยังมีคนให้เค้าได้ระบายความอัดอั้น หรือแลกเปลี่ยนความเห็นก็ยังดี ไม่ใช่ว่าฝึกซ้อมจนเข้าทีมระดับชาติได้ แต่เพื่อนสนิทและคนรู้ใจหายเกลี้ยง เหลือแค่เพื่อนร่วมทีมกับโค้ชเท่านั้น

ทางที่ดีก็กำหนดไปเลยว่าจะต้องลงมาทานข้าวกับครอบครัวให้เจอหน้ากัน ซึ่งตอนเจอก็อย่าไปเหน็บแนมเรื่องการเล่นเกม เพราะมันจะยิ่งเป็นการผลักไสให้เค้าออกห่างจากเราไปซะเปล่า ให้ถามไปว่าเล่นวันนี้เป็นอย่างไร มีอัพเดทอะไรบ้างก็จะทำให้ลูกๆเปิดใจคุยกับเราได้มากขึ้นนะ

 

มีทีมและโค้ชที่ดีพอช่วยดูแลทีมหรือยัง?

ถ้าหากว่าเค้าเริ่มต้นจากการเล่นเกมอยู่ที่บ้านคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อนๆ ที่บ้านที่โรงเรียน และเมื่อเค้าอยากจะก้าวข้ามไปเป็นโปรเกมเมอร์แล้ว ยิ่งถ้าเป็นเกมแบบเล่นเป็นทีมเช่น ROV, DOTA 2, LOL, Counter Strike, Overwatch ฯลฯ ก็จะต้องการทีมที่มีประสิทธิภาพและมีความต้องการไปในทางเดียวกันจริงๆ ถึงจะเข้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะการเล่นเกมกับเพื่อนๆ จริงอยู่ว่าตอนนั้นเค้ากับเพื่อนมีความมั่นใจที่เอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ แต่เพื่อนบางคนก็ไม่ได้มีความคิดอยู่ในหัวเลยว่าอยากจะเป็นโปรเกมเมอร์ แค่เล่นสนุกไปวันๆ เท่านั้น…ทีนี้ก็ต้องให้เค้าเข้าไปดูตามเว็บบอร์ดเกมต่างๆ ที่มีประกาศรับสมัครลูกทีม และลองไปทดสอบฝีมือซะ ว่าเก่งพอจะเข้าร่วมทีมการแข่งขันแบบจริงจังรึเปล่า

นักกีฬา eSports เกม Overwatch กำลังวางแผนการเล่นกับโค้ชของพวกเค้า

และหากว่าทีมของเค้าเข้าที่เข้าทางแล้ว สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างก็คือโค้ชนั่นเอง ซึ่งหน้าที่ของโค้ชทีม eSports ก็ไม่ได้แตกต่างกับโค้ชกีฬาอื่นเลย เพราะโค้ชจะเป็นคนจัดตารางการฝึกซ้อมเกม ศึกษาการเล่นของทีมอื่น และตารางการใช้ชีวิตในแต่ละวันเมื่อใกล้วันแข่งขันเข้ามา รวมถึงต้องดูแลนักกีฬาของทีมในด้านต่างๆ ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ เพราะการตั้งทีมขึ้นมาลอยๆ แบบไม่มีคนคุม มันก็เสี่ยงกับการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างลูกทีมมากๆ ทั้งเรื่องการวางแผน หรือการวางตัวผู้เล่นในตำแหน่งต่างๆ

 

สรุป

ถ้าคำถามทั้งหมดข้างต้นเค้าสามารถตอบได้และสามารถรับผิดชอบผลการเรียนได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เกินไปนักถ้าจะสนับสนุนเค้า เนื่องจากปัจจุบันในบ้านเราจะบอกว่าการเล่นเกมแบบเอาจริงเอาจังก็สามารถยึดเป็นอาชีพได้เหมือนกัน แต่การที่จะไปให้ถึงจุดนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะกว่าที่โปรเกมเมอร์แต่ละคนจะมาถึงจุดที่มีทีมมีสโมสรของตัวเองได้นั้น มันไม่ใช่แค่การหมกมุ่นเล่นเกมวันละหลายๆ ชั่วโมงก็จะเป็นนักกีฬา eSports ได้แล้ว แต่มันต้องอาศัยความมีวินัยในการฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจัง รวมถึงต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองควบคู่กันไปด้วย ซึ่งความเห็นจากปากเหล่านักกีฬา eSports มืออาชีพต่างก็บอกว่า มันไม่สนุกเลย เพราะชีวิตในแต่ละวันก็แทบไม่ต่างจากการทำงานประจำอื่นๆ นั่นแหละ เพียงแต่เปลี่ยนจากพวกงานเอกสารมาเป็นการเล่นเกมแทน แต่ถ้าจับพลัดจับผลูได้เป็นนักกีฬา eSports ตัวจริงขึ้นมา ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่ามันสามารถหาเลี้ยงชีพได้เป็นเรื่องเป็นราวเลยล่ะ

สโมสรและนักกีฬา eSports ในบ้านเราก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่อยากทำอาชีพเกี่ยวกับเกม

แต่ถ้าใครที่ชอบทางด้านนี้จริงๆ แต่ไม่มีหัวทางด้านการเล่นเกมซักเท่าไหร่ หรือมีบ้างแต่ก็ไม่ได้เก่งขนาดสู้ใครๆ ได้ (การเล่นเกมมันไม่ใช่แค่ว่าฝึกเล่นเรื่อยๆ แล้วจะเก่งได้ทุกคน อย่างน้อยก็ต้องมีพรสวรรค์บ้าง) เราก็ยังสามารถทำเงินจากวงการนี้ได้อยู่ดี ด้วยการผันตัวไปเป็นนักแคสท์เกม (Game Caster) ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้นักแคสท์เกมในบ้านเราก็มีที่ดังๆ อยู่หลายคน และสามารถยึดเป็นอาชีพทำมาหากินได้สบายๆ เพราะแคสเตอร์ดังๆ บางคนมีรายได้เดือนละเป็นแสนๆ บาท จากการพากษ์การแข่งขันเกมดังจากหลายๆ Tournament ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยอาชีพนี้ไม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมหนักเหมือนการเป็นนักกีฬา eSports แต่ต้องใช้ทักษะในด้านการพูด และทักษะในการ Entertain เพื่อค่อยๆ สร้างฐานคนดูให้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ยังต้องคอยศึกษาในเรื่องของเหล่าโปรเกมเมอร์ ของเกมที่เราต้องการจะพากษ์ จะได้มีข้อมูลมาบอกเล่าให้กับคนดูได้ถูกต้อง

Pewdiepie นัก Cast เกมชื่อดังระดับโลกที่ทำเงินได้ปีละเป็นร้อยล้านบาท จากการเล่นเกมให้คนดู

สรุปแล้วในยุคนี้วงการเกมเป็นตลาดที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันสามารถเข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนที่ต้องมีคอมพิวเตอร์แรงๆ หรือเครื่องคอนโซลราคาแพง ถึงจะเล่นเกม แข่งเกมได้ แต่ตอนนี้ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนเครื่องละไม่กี่พันก็สามารถเล่นเกมกันได้แล้ว และยังสามารถลงแข่งขันชิงเงินรางวัลได้ด้วย (ROV, PUBG, Free Fire, Vainglory ฯลฯ) ซึ่งอย่างที่บอกว่าหลายๆ ฝ่ายในบ้านเราก็เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น เพราะมีสโมสร eSports ผุดขึ้นมาหลายสโมสรเลยทีเดียว และแน่นอนว่าสโมสรพวกนี้มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีไม่แพ้การทำงานบริษัทเลย ที่เหลือก็ต้องรอให้ผู้ใหญ่อีกหลายๆ คนในบ้านเราเข้าใจว่าการเล่นเกมมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

 

ขอแถมอีกหน่อย : ประโยชน์ของการเล่นเกม

มาถึงตรงนี้อาจจะมีเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนที่ยังคิดว่า วิดีโอเกมคือสิ่งไร้สาระ ถ้าลูกเราไม่ได้เก่งขนาดเป็นโปรเกมเมอร์ได้ก็ไม่มีประโยชน์…ก็เลยขอแถมให้นิดนึงจากประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเด็กเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เรียน ป.1 – ป.6 ผมเป็นคนที่ไม่ได้สนใจทางด้านภาษาอังกฤษเลย และความรู้ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยดีด้วย แต่พอขึ้น ม.1 พ่อผมซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรก (ในชีวิต) มาไว้ที่บ้าน และตอนนั้นได้ลองเล่นเกม Warcraft 2 ซึ่งพบว่าผม…เล่นไม่รู้เรื่อง เพราะมันเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ก็เลยต้องเริ่มเปิดดิคชันนารีหาศัพท์ไปด้วย เล่นเกมไปด้วย จนตอนนั้นสามารถจำคำศัพท์ได้เยอะมาก และปรากฎว่าปีนั้นสอบภาษาอังกฤษได้เกรด 4 เฉยเลย และหลังจากนั้นก็ได้เกรด 4 ภาษาอังกฤษมาตลอด ก็เลยอยากจะบอกว่า บางอย่างเราอาจจะเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ว่าเราใช้งานมันแบบไหนและเราจะหาประโยชน์จากมันเจอเมื่อไหร่เท่านั้นแหละ

สมัยเด็กๆ เจอภารกิจเป็นภาษาอังกฤษแบบนี้เข้าไปก็งงแล้ว เพราะไม่รู้เรื่องว่าต้องทำอะไรบ้าง

 

พื้นที่โฆษณา

ส่วนตอนนี้ใครที่กำลังฮึกเหิมอยากเป็นนักกีฬา eSports กับเค้าบ้าง แต่อยากเริ่มต้นด้วยการเล่นเกมจากมือถือซะก่อน และอยากได้มือถือแรงๆ มาเล่นเกมแบบลื่นๆ ก็ขอแนะนำรุ่นนี้เลย Asus ROG Phone มือถือเกมมิ่งที่เกิดมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสเปคสุดแรงและฟีเจอร์สำหรับการเล่นเกมต่างๆ แถมยังรองรับอุปกรณ์เสริมอีกหลายหลายแบบที่จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมให้มากขึ้นไปอีก

ROG Phone เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยมีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่น คือ ROG Phone 8GB / 128GB + พัดลม AeroActive Cooler ราคา 29,990 บาท และ ROG Phone 8GB /512GB + พัดลม AeroActive Cooler ราคา 34,990 บาท 

 

อ้างอิง : Theverge, IQ.Intel, Forbes, Askmen, BusinessInsider,